การต่อสู้กับการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยืดเยื้อเป็นเวลานานกำลังแปรเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตคนในสังคม รวมถึงวิธีการอ่านหนังสือของผู้คน ห้องสมุดสาธารณะของเกาหลีใต้ได้ปิดตัวลงจำนวนหลายแห่ง โดยมีบางส่วนที่เปิดให้บริการเฉพาะการจัดส่งเท่านั้น หรือเปิดให้บริการแค่ในส่วนของ “ชั้นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์” ทางออนไลน์ เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์โรคระบาดขึ้น
ความพยายามที่จะสร้างประสบการณ์การอ่านใหม่ ๆ ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จแล้ว ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (Ministry of Culture, Sports and Tourism) ให้ข้อมูลว่า ในปี ค.ศ. 2019 อัตราผู้อ่าน e-book สูงถึง 16.5 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้ใหญ่ และ 37.2 เปอร์เซ็นต์สำหรับนักเรียน ซึ่งพบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้น 2.4 เปอร์เซ็นต์และ 7.4 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2017 โดยกลุ่มที่อยู่ในช่วงอายุ 20 ถึง 30 ปี มีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงสุดในการเปลี่ยนจากการอ่านหนังสือกระดาษมาเป็นการอ่านหนังสือผ่าน e-book
ในทางกลับกัน การอ่านหนังสือโดยเฉลี่ยต่อปีสำหรับผู้ใหญ่กลับลดลงจาก 8 เล่มต่อปีในปี ค.ศ. 2017 เหลือเพียง 6 เล่มในปี ค.ศ. 2019 ในขณะที่วัยรุ่นอ่านหนังสือเฉลี่ย 32 เล่มต่อปี สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดสำหรับการอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษน้อยลง เนื่องจากปัจจุบันมีสื่อเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก พร้อมกับอุปกรณ์ที่หลากหลาย ทำให้ผู้อ่านสามารถเลือกแหล่งข้อมูลที่ถูกใจ และสะดุดตามากกว่ารูปแบบกระดาษได้
อุตสาหกรรมหนังสือเสียงขยายตัว
จากข้อมูลที่รวบรวมโดยบริษัท Audien (บริษัทจัดทำหนังสือเสียง) แสดงให้เห็นว่าในปี ค.ศ. 2018 จำนวนสมาชิกแบบชำระเงินในอุตสาหกรรมหนังสือเสียงขยายตัวถึง 350,000 ราย และตัวอย่างเหตุผลที่สมาชิกเลือกบริโภคหนังสือเสียงเพราะว่า “หนังสือเสียง” นั้นง่ายต่อการพกพา ไม่ปวดตา และให้ข้อมูลในปริมาณที่เท่ากัน
Yoo Jae-sun ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ Welaaa (บริษัทแอปพลิเคชัน Audio book and premium lectures) กล่าวว่า “กลยุทธ์ของเราไม่ได้คิดว่าหนังสือเสียงเป็นสื่อที่แยกต่างหาก แต่เป็นการทำงานร่วมกับหนังสือกระดาษ และผู้อ่านตัวยงที่มีอยู่”
เนื่องจากผู้อ่านหนังสือยังเห็นคุณค่าของการซื้อหนังสือ บริษัทจึงได้ร่วมมือกับร้านหนังสือออฟไลน์ เพื่อจัดแสดงบัตรหนังสือเสียงบนชั้นบนสุดของร้าน โดยทดลองว่าหนังสือเสียงเหล่านี้ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้อ่านได้หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการที่กว้างขึ้นของนักอ่าน ทางบริษัทจึงได้จัดแสดงให้มีทั้งหนังสือที่อ่านได้และฟังเสียงได้ในร้านหนังสือที่มีการเริ่มต้นอย่างจริงจัง นอกจากนี้ บริษัทไม่เพียงแค่จับมือกับผู้จัดพิมพ์หนังสือแบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริษัทสื่อเกิดใหม่ที่สนใจการทำหนังสือเสียง เพื่อร่วมกันปูทางธุรกิจรูปแบบใหม่ในอนาคต
Ko Young Eun วัย 32 ปี ซึ่งเดินทางไปทำงานที่ยออิโด (Yeouido) ในกรุงโซล กล่าวว่า เธอฟังหนังสือเสียงเป็นเวลา 2 ชั่วโมงเป็นประจำทุกวัน
“ฉันได้กำหนดสถานที่และเวลาในการเพลิดเพลินกับหนังสือเสียง อย่างบนรถไฟใต้ดินและห้องออกกำลังกาย ฉันเป็นแฟนตัวยงของเรื่องสั้นและนวนิยายตั้งแต่ฉันยังเด็กและข้อดีที่สุดของแพลตฟอร์มนี้คือฉันสามารถทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้อย่างง่ายดายในขณะที่ฟังเนื้อหาของหนังสือ”
การดึงดูดผู้อ่านไปยังอุปกรณ์ใหม่ ๆ อาจเป็นเรื่องใหญ่ของสื่อในยุคดิจิทัล แต่เนื้อหาของต้นฉบับยังคงเป็นหัวใจสำคัญที่ไม่ถูกกระทบจากการแกว่งตัวของตลาด ความสามารถในการพกพาและความสะดวกสบายอาจดูเหมือนเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกของผู้อ่านในปัจจุบัน แต่หนังสือนั้นมีคุณค่ามากกว่าที่ตาเรามองเห็น หากเราลองให้หูได้อ่านบ้างในบางครั้ง
ที่มา
- Kim Hae-yeon. Books going through digital transformation. www.koreaherald.com/view