Kind Planet

‘มอธ’ นักผสมเกสรกะดึกผู้รักแสงสว่างจ้า

เรามักจะคุ้นเคยเฉพาะกับผีเสื้อสีสดใสที่บินแว็บวับท้าแดดบนท้องฟ้า ทั้งที่จริง ๆ แล้วผีเสื้อสะดุดตากลุ่มที่ว่าเป็นเพียง 10 % จากผีเสื้อทั้งหมด 180,000 ชนิด ที่เป็นเช่นนี้ ก็คงเพราะผีเสื้อฉูดฉาดใช้ชีวิตช่วงกลางวันเหมือนพวกเราแน่ ๆ  ครั้งนี้ KiNd จึงอยากพูดถึง ‘มอธ’ (ผีเสื้อกลางคืนฝาแฝด) / ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมนอกเหนือจากความงาม / พฤติกรรมแปลก ๆ ของแมลงจำพวกนี้ดูบ้าง บอกล่วงหน้าเลยว่าโลกของผีเสื้ออาจไม่สดใสอย่างที่นึกไว้ก็ได้

🦋 ไม่มีผีเสื้อ ก็ไม่มีต้นไม้ 🦋

ผีเสื้อ (และมอธ) ‘จำเป็น’ ต่อระบบนิเวศ เรียกว่า ‘ขาดไม่ได้’ เสียด้วยซ้ำกับพืชพันธุ์บางชนิด ทั้งยังเป็นตัวชี้วัดด้วยว่าสิ่งแวดล้อมและผืนป่าสุขภาพดี-แย่แค่ไหน แต่หน้าที่สำคัญกว่านั้น คือเป็นนักผสมเกสรมือฉกาจ เวลาไปเกาะกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ที่ไหนก็จะพาเกสรตัวผู้ตามติดไปที่ต่าง ๆ ด้วยเสมอ  ยิ่งบินไกลเท่าไร ละอองเกสรก็ติดขาตามไปผสมกับดอกไม้อื่น ๆ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพได้มากขึ้น  เช่นนั้น พืชพันธุ์ก็ยิ่งจะปลอดภัยจากโรคอันตรายประจำถิ่นมากขึ้นไปด้วยตามลำดับ อีกนัยหนึ่งก็ถือเป็นผู้ช่วยผลิตอาหารให้สิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน (ผสมเกสรให้พืชพันธุ์ผลิดอกออกผลและเป็นอาหารเสียเองในฐานะแมลงผู้เสียสละ) แม้จะดูเปราะบางอ่อนแอ แต่ผีเสื้อก็ยังต่อสู้เอาชนะแมลงเล็ก ๆ ได้อีกหลายชนิด ทำให้แมลงศัตรูพืชไม่ล้นไร่สวนจนทำให้ไร่สวนเดือดร้อนเกินพอดี


น่าเศร้า… ที่ตอนนี้สมาชิกนักผสมเกสรผู้เปราะบางมีจำนวนน้อยลงฮวบ ๆ จากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน จากกิจกรรมทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจของมนุษย์  และที่ร้ายแรงที่สุด จากการใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมีทางการเกษตรที่มากเกินพอดี
 

🦋 แฝดคนละฝา 🦋 

เผิน ๆ หน้าตาอาจคล้ายกัน! แต่ตามหลักอนุกรมวิธาน (Taxonomy – การจำแนกหมวดหมู่สิ่งมีชีวิต) มอธกับผีเสื้อนั้นอยู่คนละลำดับย่อย (Suborder) — ผีเสื้อ (Lepidoptera) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ผีเสื้อกลางวัน (Butterfly) และผีเสื้อกลางคืน (Moth) — หากตั้งใจสังเกตทั้งสองก็จะมีความแตกต่างให้เห็นพอสมควร ปีกทรงสามเหลี่ยมของมอธจะอึมทึม ไม่ฉูดฉาดเท่าปีกผีเสื้อ และมีขนาดสมดุลกับลำตัวมากกว่า ผีเสื้อจะปีกใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัวเรียวยาว  ในขณะที่ลำตัวมอธจะอวบสั้นและมีขนปุกปุยปกคลุมทั่วตัว


บ่อยแค่ไหนที่จะได้เห็นมอธกับผีเสื้อระยะประชิดและนานพอจะเพ่งมองข้อแตกต่าง วิธีจำแนกคร่าว ๆ พื้นฐานก็คงหนีไม่พ้น ‘ผีเสื้อมักใช้ชีวิตกลางวัน’ ขณะที่ ‘มอธมักใช้ชีวิตกลางคืน’

จำเป็นหรือ… ก็ไม่ แต่มอธก็อดไม่ได้ที่จะคอยบินไปชื่นชมแสงไฟนีออน เปลวเพลิง  และแสงจันทร์เพื่อใช้นำทางในบางโอกาส สุดท้ายพวกมันก็มักจบชีวิตเพราะแสงพวกนี้ด้วยเช่นกัน (ตอมไฟจนมนุษย์ฆ่าตัดรำคาญ บินใกล้จนไฟเผา แสงจันทร์ส่องจนถูกนกล่าเพราะเห็นชัด)

🦋 พฤติกรรมแปลก ๆ
ของมอธและผีเสื้อบางชนิด 🦋

1. ชอบดื่มเบียร์

มอธเป็นคอเบียร์! หากเห็นมอธแวะมาเที่ยวสวนหลังบ้าน หาผลไม้สุก ๆ มาคลุกน้ำตาลทรายแดงและเบียร์วางเอาไว้ตามต้นไม้เตี้ย แล้วเอาไฟฉายส่องก็น่าจะได้เห็น (ในเมืองอาจต้องทำต่อเนื่องเพราะน้องอาศัยอยู่น้อย) มอธสามารถรับรู้ได้ถึงกลีเซอรอล (glycerol) หอมหวานจากยีสต์ที่เกิดขณะหมักบ่มได้

2. ไม่กินอาหารตลอดชีวิต

จะเรียกว่าไม่กินอาหารก็ไม่ถูก อาจต้องเรียกว่ากินอาหารไม่ได้มากกว่า เพราะเมื่อโตเต็มวัยแล้วมอธบางชนิดจะไม่มีปาก… ฉะนั้นตอนเป็นหนอนตัวอ่อนจำเป็นจะต้องกินใบไม้ปริมาณมากเพื่อตุนไว้เป็นพลังงานให้ใช้ได้ตลอดชีวิต ถึงว่าหนอนแก้วแถวบ้านถึงกินต้นไม้-ดอกไม้จนเตียนภายในคืนเดียว สงสัยจะรีบไปเติบโตเป็นมอธ/ผีเสื้อ

3. ชอบชิมของแปลก

ดื่มเบียร์ว่าแปลกแล้ว… แต่มอธอีกหลายร้อยชนิดมีอาหารการกินที่แปลกแตกต่างยิ่งกว่านั้นอีก ไม่น่าเชื่อว่าจะมีมอธบางชนิด อย่าง Feniseca tarquinis ที่ ‘กินเนื้อสัตว์’ (Carnivorous) ฝั่งแอฟริกาและเอเชียก็ไม่ยอมแพ้เพราะมีมอธชนิดที่ ‘ดูดเลือดมนุษย์’ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ เป็นอาหาร เริ่มสงสัยว่าเวลาผีเสื้อบินมาเกาะ มันรักเราหรืออยากกินเรากันแน่

แถบเมดิเตอร์เรเนียน หนอนผีเสื้อสปีชีส์ Heterogynis penella จะ ‘กินแม่ตัวเอง’ ทันทีที่ฟักออกมาเป็นตัว  มอธตัวเมียสายพันธุ์นี้จะไม่มีขาหรือปีก ทำให้ไปไหนมาไหนเองไม่ค่อยได้และกระดึ๊บวนเวียนอยู่แถว ๆ รังไหมหลังจากวางไข่และฟักตัวอ่อนเสร็จ พอตัวอ่อนไร้เดียงสาฟักเป็นตัว ก็จะหันมากินแม่ตัวเองที่อุดมไปด้วยไขมันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเติบโตเป็นมอธ/ผีเสื้อผู้ใหญ่ลำพัง

มอธสายพันธุ์ Hemiceratoides hieroglyphica


ตัวแทนนักชิมอาหารแปลกจากมาดากัสการ์ผู้มีปากรูปทรงเดียวกับฉมวกแทงปลา จะแอบดูดกิน ‘น้ำตานก’ ที่อยู่ใต้เปลือกตาขณะหลับ ซึ่งถือว่าเป็นการกินของหายากที่เสี่ยงตายอยู่เหมือนกัน (อารมณ์เดียวกับมนุษย์ที่ชอบแร่ปลาปักเป้ากินเอง) เพราะหากนกตื่นมาเห็น มอธก็จะกลายเป็นอาหารเย็นเสียเอง

4. ปลอมตัวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

มอธจิ๋วสกุล Monopis


บางชนิดจะไม่วางไข่แล้วรอฟักเหมือนแมลงทั่วไป แต่จะทำเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่จะเก็บลูก (ไข่) ไว้ในท้อง จนกว่าจะฟักเป็นหนอนตัวอ่อน แล้วค่อยคลอดออกมา

5. ทำตัวเป็นนางเงือก

ถึงจะมีปีกให้โบยบินไม่ต่างจากสายพันธุ์อื่น ๆ แต่ Water Veneer (Acentria ephemerella – ชื่อวิทยาศาสตร์) ก็เลือกจะอาศัยตามแม่น้ำลำธารบนเกาะอังกฤษ
เหมือนกับตัวอ่อนอีกหลาย ๆ ชนิดที่ก็อยู่ตามบึงและทะเลสาบ ใช้ชีวิตบางช่วงบางตอนทั้งบนบกและใต้น้ำสลับไปมา (เมื่อเป็นตัวอ่อนจะเจริญเติบโตใต้น้ำ แต่ขึ้นมาเป็นดักแด้เหนือผิวน้ำ) มอธสายพันธุ์นี้ถือเป็นแมลงครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างเต็มคราบ เพราะแม้จะไม่มีเหงือกเหมือนปลา แต่ก็แลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ทางผิวหนัง

ฝากถึงทุกคนที่รักสัตว์และโลกให้หันมาใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมีกันน้อยลงอีกนิด เลือกใช้วิธีธรรมชาติในการป้องกันและกำจัดแมลงมากขึ้นอีกหน่อย (ถึงจะยากเย็นและมีประสิทธิภาพน้อยกว่าก็เถอะ) พวกเราได้อยู่กับมอธ/ผีเสื้อและแมลงมีประโยชน์ชนิดอื่น ๆ ยาวนานขึ้นอีกกระจิ๊ดหนึ่ง


ที่มา


เรื่องโดย

ภาพโดย