ในยุคที่เทคโนโลยีอยู่ใกล้มือเรา หากวันใดอยากรู้สภาพฝนฟ้าอากาศเพียงแค่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูก็รู้ผลทันที แต่ถ้าไม่มีแอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศเหล่านี้ช่วยบอก เราจะรู้ได้อย่างไร? KiNd ชวนย้อนกลับไปดูวิธีการทำนายฟ้าฝนของคนวัยเก๋าที่ใช้วิธีการสังเกตธรรมชาติรอบตัว จะแม่นขนาดไหน มีวิธีใดน่าสนใจบ้าง ตามมาดูกันเลย!
เมื่อมดขนไข่ไต่ขึ้นที่สูง
เรามักจะได้ยินคนรุ่นเดอะกล่าวกันว่า หากเห็นฝูงมดขนไข่ไต่ขึ้นสู่ที่สูง หรือเดินทางจากที่ลุ่มไปยังที่ดอน นั่นคือสัญญาณว่าฝนกำลังจะตก นับเป็นวิธีการสังเกตที่ชาญฉลาดและถูกต้อง เพราะมดเป็นสัตว์ที่มีโสตประสาทในการรับความรู้สึกได้ดีกว่ามนุษย์ มันสามารถใช้หนวดเพื่อรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยเฉพาะเรื่องความชื้นในอากาศ หากรู้ว่ามีความชื้นเกิดขึ้นมันจะเริ่มเตรียมการหลบภัย อพยพฝูงออกจากที่ซึ่งไม่ปลอดภัย หนีขึ้นที่สูงทันที สิ่งสำคัญคือแม้ตัวมันจะเล็กแต่สามารถขนของที่มีขนาดเกินตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นเศษอาหารหรือสิ่งของเล็ก ๆ ดังนั้น เมื่อใดที่เราเห็นฝูงมดขนของเดินต่อแถวกันเป็นฝูงขึ้นที่สูง ทำนายได้เลยว่าไม่นานจะเกิดฝนตกขึ้น
จับสังเกตลมทิศตะวันออก
อีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจคือ การตรวจทิศทางลม แต่ใครเล่าจะรู้ได้ว่าลมมาจากทิศใด วิธีที่นักเดินทางมักใช้คือ การโปรยเศษใบไม้ขึ้นไปในอากาศแล้วดูทิศทางที่มันร่วงปลิว ซึ่งหากเศษใบไม้ปลิวไปทางทิศตะวันออก หมายถึงลมพัดมาจากทางทิศตะวันออก แสดงว่าจะเกิดฝนตก แล้วถ้าลมพัดแรงยิ่งขึ้นแสดงถึงความแตกต่างของความกดอากาศสูง มีโอกาสเกิดลมพายุได้ แต่หากลมพัดมาจากทางทิศตะวันตกหมายถึงอากาศดีนั่นเอง
ปรากฏการณ์พระจันทร์ทรงกลด
สังเกตจากการเดินทางของมดและทิศทางลมแล้ว อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่สามารถบอกฟ้าฝนได้คือ พระจันทร์ทรงกลด ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักและหาดูยากกว่าพระอาทิตย์ทรงกลด จึงมีความเชื่อว่า หากเกิดพระจันทร์ทรงกลดจะเกิดเรื่องมงคลขึ้น อีกทั้งรังสีที่แผ่กระจายออกก็งดงาม สว่างไสว และเห็นได้คมชัด สบายตากว่าพระอาทิตย์ทรงกลด โดยเราสามารถดูพระจันทร์ทรงกลดได้ด้วยตาเปล่าเลย ในทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า วงแหวนรอบดวงจันทร์ของพระจันทร์ทรงกลด เกิดจากแสงส่องผ่านเมฆเซอร์โรสตราตัส (Cirrostratus) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวอากาศอุ่นและความชื้น เมื่อเกิดความกดอากาศต่ำขึ้น ฝุ่นละอองในอากาศก็จะหมดไป ท้องฟ้ารอบพระจันทร์จะสว่าง แล้วฝนก็จะเข้ามาแทนที่ อันเป็นตัวชี้วัดว่าจะเกิดฝนตกภายในสามวันข้างหน้า
กลิ่นปุ๋ยหมักที่แตะจมูก
ปิดท้ายด้วยสัมผัสที่เราคุ้นเคย นั่นก็คือ “กลิ่น” เมื่อเรายืนอยู่ในป่าหรือเมืองที่มีต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก แล้วลองหลับตาสูดอากาศเข้าไป หากรับรู้ได้ถึงกลิ่นปุ๋ยหมัก นี่คือตัวชี้วัดว่าจะมีฝนเกิดขึ้นในไม่ช้า เพราะป่ามักจะปล่อยแก๊สออกมาก่อนฝนตก โดยหลักวิทยาศาสตร์คือ พืชจะปล่อยของเสียออกมาในอากาศที่มีความกดอากาศต่ำ ส่งผลให้มีกลิ่นคล้าย ๆ ปุ๋ยหมักออกมา อย่างป่าพรุจะปล่อยแก๊สที่มีกลิ่นเหม็นคล้าย ๆ ปุ๋ยหมักขึ้นก่อนจะเกิดพายุเข้านั่นเอง
ทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ เกิดจากการเฝ้าสังเกตของคนยุคก่อนที่ไม่มีเครื่องมือเทคโนโลยีทำนายฟ้าฝน หากวันใดใครลืมโทรศัพท์มือถือหรือไร้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ลองใช้วิธีเหล่านี้ทำนายฟ้าฝนกันดูว่าจะแม่นจริงหรือเปล่า หรือหากใครมีวิธีเด็ด ๆ ที่ไม่ง้อเทคโนโลยีก็สามารถมาแบ่งปันกันใต้โพสต์นี้ได้เลย!
ที่มา
- พยากรณ์อากาศสไตล์ชาวบ้าน. เครือข่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งประเทศไทย. พยากรณ์อากาศสไตล์ชาวบ้าน! (tccnclimate.com)
- พระจันทร์ทรงกลด มหัศจรรย์แห่งท้องฟ้าหรือ ความเชื่อเรื่องมงคล. NaewNa. www.naewna.com/likesara/426939