“ลูกค้าทุกคนคือครู แม้กระทั่งเด็กเล็ก ๆ ที่มาซื้อหนังสือการ์ตูน ลุงก็เรียนรู้จากเขา”
ประโยคบอกเล่าจาก “ลุงบอม – พิเชษฐ์ เพชรรูจี” เจ้าของร้านหนังสือเก่า “บอม บูธ บุค” วัย 67 ปี ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของหนังสือเก่าเก็บสะสมให้ลูกค้าหลายต่อหลายรุ่นรับฟัง บางคนถึงกับเรียกร้านหนังสือของลุงบอมว่าขุมทรัพย์เลยทีเดียว
ฤกษ์งามยามดี KiNd แวะมาพูดคุยกับลุงบอมที่ดองกิมอลล์ ทองหล่อ ชั้น 3 ที่นี่เป็นที่ตั้งของร้านหนังสือเล็ก ๆ แต่เต็มไปด้วยกองหนังสือมหึมา เสมือนพวกมันกำลังรอฟ้าบันดาลให้ใครสักคนมาค้นพบ เราเชื่อว่า… หากคุณมาเยือนน่าจะได้หนังสือที่ต้องตาต้องใจกลับไปสักเล่มสองเล่ม
จากนักสะสม นักเขียน สู่นักขาย
✎
“ก่อนหน้ามาขายหนังสือ ลุงเก็บสะสมหนังสือไว้เยอะมาก เก็บมาตั้งแต่สมัยทำงานบนเรือ ท่องไปหลายประเทศ ซื้อสะสมไว้ พอปี 2529 กลับไทยก็หอบหนังสือมาด้วย ส่วนใหญ่เป็นหนังสือต่างประเทศ จากนั้นก็มีคนแนะนำให้มาเขียนคอลัมน์ในนิตยสารแปลก รายสัปดาห์ งานเขียนเรื่องแรกคือ ‘ขุดขึ้นมาดูปอมเปอี’ เขียนทุกสัปดาห์กว่า 40 สัปดาห์ แล้วก็มีงานเขียนบทความอีกหลายเรื่อง ลุงสะสมหนังสือไว้เยอะมาก จนได้เอาออกมาขาย ถึงตอนนี้ก็เกือบ 40 ปีแล้ว”
บางคนบอกว่าร้านหนังสือลุงบอมคือขุมทรัพย์
✎
“ถ้าคนไม่เคยเห็นหนังสือเก่า เขาอาจจะคิดว่าร้านลุงเป็นขุมทรัพย์ แต่ถ้าคนอยู่ในวงการหนังสือจริง ๆ จะบอกว่า ‘เล่มนี้มีแล้ว’ หรือ ‘เล่มนี้ก็ธรรมดา’ บางคนเขาไม่เคยเห็นหนังสือเก่าขนาดนี้มาก่อนก็เรียกลุงว่าตำนาน ลุงก็ขำ แต่ถือเป็นการเรียนรู้กันไป”
ลูกค้าคือครู
✎
“ลูกค้าทุกคนคือครู แม้กระทั่งเด็กเล็ก ๆ ที่มาซื้อหนังสือการ์ตูน ลุงก็เรียนรู้จากเขา จนถึงตอนนี้ลุงยังเรียนรู้ไม่หมด ลูกค้าร้อยคน พันคน หมื่นคน หลากหลายอาชีพ แต่ละอาชีพจะสอนเรา สงสัยมั้ยว่าทำไมลุงถึงขายการ์ตูนด้วย เพราะมีเด็ก ๆ ที่เป็นลูกค้าเขาสอน ลุงได้เรียนรู้ว่าเด็กเขาอ่านแบบนี้กัน หรือลูกค้าที่เก่งเกี่ยวกับการแต่งบ้าน เป็นสถาปนิก ลุงก็เรียนรู้เกี่ยวกับหนังสือแต่งบ้านจากเขาไปด้วย”
อยากได้ลูกเสือ ต้องเข้าถ้ำเสือ
✎
“สมัยก่อนลุงไปบุกเบิกหนังสือธรรมะที่วัด อยากได้ลูกเสือก็ต้องเข้าถ้ำเสือ ขับรถออกจากกรุงเทพฯ เอาหนังสือไปขายที่วัดไกลสุดก่อน ไปอุบลราชธานีแล้วค่อยเขยิบเข้ามาในกรุงเทพฯ ทะลุทุกตรอกทุกซอกทุกซอยที่มีวัด ไปพบเจ้าอาวาส บางครั้งก็เจอพระปฏิเสธว่า ‘ไม่อ่านหรอก หนังสืออยู่ในใจอยู่แล้ว’ บางวัดที่ลุงไปก็ไม่มีเงินเลย ขอให้บริจาคแทน เราก็ถวายให้ สรุปเราต้องเป็นคนออกค่าหนังสือนั้นเอง แต่การเอาหนังสือบริจาควัดเป็นข้อดี เพราะเมื่อญาติโยมมาที่วัด เขาเห็นหนังสือ เขาอยากได้บ้าง ก็ติดต่อมาซื้อหนังสือกับเรา”
หนังสือเก่า คนซื้อต้องเห็นกับตา
✎
“บางคนคิดว่าก็แค่หนังสือเก่าทำไมจะขายบนออนไลน์ไม่ได้ คนอื่นลุงไม่รู้นะ แต่ลุงต้องศึกษาเล่มนั้นก่อนถึงจะขาย เราต้องเข้าใจความเฉพาะของหนังสือเก่าก่อนว่ามันมีตำหนิ บางทีคุยกันทางออนไลน์ ลุงบอกว่าเล่มนี้ 120 ปีเลยนะ ลูกค้าสนใจสั่งซื้อ แต่พอได้รับของแล้วก็โทรมาด่า ‘ทำไมหนังสือถลอก ถ้ารู้อย่างนี้ไม่ซื้อหรอก’ กลายเป็นเสียความรู้สึกทั้งคนขายและคนซื้อ แต่ถ้าคุณมาซื้อหน้าร้าน มาเห็นว่าหนังสือสภาพเป็นแบบนี้นะ มาคุยกัน ตกลงใจได้ แบบนี้คุณก็พอใจที่จะจ่าย บางคนถามว่าทำไมไม่ขายออนไลน์ ขนาดลุงซื้อของออนไลน์ยังได้ของไม่ดีเลย”
การขายหนังสือ ไม่ใช่เรื่องง่าย
✎
“ถ้าคิดว่าไปซื้อหนังสือแล้วมาขายต่อบนออนไลน์ คุณก็จะขายได้แต่หนังสือใหม่ ๆ หรือหนังสือยอดฮิตที่คนต้องการในช่วงเวลานั้น บางทีคนขายไม่รู้หรอกว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นยังไง การขายหนังสือคุณต้องมีใจรักก่อน ไม่งั้นก็อยู่กับมันไม่ได้ ช่วงแรกที่ลุงเปิดขายที่เกตเวย์ เอกมัย ตั้งแต่ 10 โมงเช้า บิลแรกที่ได้คือ 6 โมงเย็น อาศัยใบบุญจากคนมางานศพที่วัดธาตุทอง เขาแวะมาทานข้าวที่ห้างแล้วรอไปงานศพตอนเย็น ก็แวะมาซื้อหนังสือที่ร้านลุง”
เทคนิคการขายของพ่อค้าวัยเก๋า
✎
“ลุงเก็บหนังสือเก่าไว้เยอะมาก หลายเล่มไม่มีวางโชว์ จะเก็บไว้ให้คนที่อยากได้จริง ๆ บางคนมาถามหาหนังสือของจิตร ภูมิศักดิ์ ลุงจะถามว่าเอาไปทำอะไร รู้จักจริงมั้ย ถ้าลุงหยิบขึ้นมาเขาซื้อแน่นอน ต่อให้ตั้งราคา 4,000 บาท เขาก็ซื้อ เพราะอยากได้ ไปหาที่อื่นไม่ได้แล้ว ถามว่าทำไมลุงขายแพง ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ลุงซื้อของราคาตามป้าย ไม่ต่อราคา สมมติปี 2530 ลุงซื้อเล่มนี้มา 500 บาท พอเวลาผ่านไปกลายเป็นของหายาก คนที่เห็นคุณค่าต้องการหนังสือเล่มนี้ เขาก็ยอมจ่าย”
มองขาดลูกค้า สร้างยอดขายเพิ่ม
✎
“คำแรกที่ลูกค้าเดินมาหาลุงแล้วเอ่ยถาม ลุงจะรู้เลยว่าเขาจะซื้อหรือไม่ซื้อ อย่างเช่น ‘อะไร ราคานี้เลยหรือ’ อันนี้ยังห้าสิบห้าสิบ แต่ถ้าพูดว่า ‘เล่มนี้ลดได้มั้ย’ ลุงได้เงินจากเขาแน่นอน หรือถ้าใครเข้ามาแล้วมีงบ 1,000 บาท ลุงรับรองว่าเขาจะได้เล่มที่อยากได้กลับไป สมมติลูกค้ามาด้วยกันสองแม่ลูก ลูกอยากได้หนังสือ แต่คนจ่ายเงินคือแม่ ถ้าเขาหยิบมา 2 เล่มแล้วถามว่าราคาเท่าไหร่ ลุงหยิบหนังสือเพิ่มให้เขาอีกเลย 2 เล่ม รวมเป็น 4 เล่ม ลุงคิด 1,000 บาท ปิดการขายได้แล้ว”
ก่อนจบบทสนทนาลุงบอมเล่าว่า ปัจจุบัน บอม บูธ บุค มี 3 สาขา ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเกตเวย์ เอกมัย, ดองกิมอลล์ ทองหล่อ และศูนย์การค้าธัญญา พาร์ค ศรีนครินทร์ และในอนาคตกำลังจะเปิดสาขาที่ 4 ณ หอศิลปกรุงเทพมหานคร
แม้เราจะไม่ได้ถามลุงบอมตรง ๆ ว่า คนขายหนังสือคืออาชีพที่รักหรือเปล่า แต่จากการฟังเรื่องราวที่ลุงเล่าและการที่ลุงอยู่กับกองหนังสือมหาศาลมากว่า 40 ปี เชื่อว่าทุกคนน่าจะได้คำตอบแล้วเช่นกัน
หากใครสนใจไปเยี่ยมเยียนร้านหนังสือเก่า “บอม บูธ บุค” และพูดคุยกับพ่อค้าหนังสือวัยเก๋า โทร.หาลุงบอมได้เลยที่ 083-589-2256 คุณอาจจะพบหนังสือที่คุณรักก็เป็นได้