Kind Creations

สนทนาหลังภาพถ่าย กับภัณฑารักษ์ – ศิลปิน ในนิทรรศการ Photography Never lies



KiNd ชวนเปิดบทสนทนาหลังภาพถ่าย ในนิทรรศการ ‘Photography Never lies – ภาพถ่ายไม่โกหก’ ยื่นไมค์พูดคุยกับหนึ่งภัณฑารักษ์และสองศิลปินเจ้าของผลงานหลากเทคนิค แม้นิทรรศการนี้จะชี้ชวนให้ตั้งคำถามกับ ‘ภาพถ่าย’ ที่ถูกสั่นคลอนด้วย ‘เทคโนโลยี AI’ แต่ภายในงานยังได้จัดแสดงภาพถ่ายที่ใช้กระบวนการทางศิลปะแบบดั้งเดิม (ฝีมือมนุษย์) ไว้ด้วย เพื่อให้ผู้ชมได้ฉุกคิดตรึกตรองถึงสิ่งที่ภาพถ่ายกำลังนำเสนอ พร้อมตั้งคำถามกับ ‘ความจริง’ ที่คุณต้องเป็นคนตัดสินเอง!

ภัณฑารักษ์พิเศษ — อัครา นักทำนา

“เราอยู่ในยุคที่สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้มันแพร่เข้าไปในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ของศิลปะและภาพถ่าย เราเลยมีความคิดว่าจะเป็นอย่างไรนะ ถ้าจะมีงานโชว์สักงานหนึ่งที่ภาพถ่ายที่สร้างขึ้นโดย AI กับภาพถ่ายที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์มาจัดแสดงรวมอยู่ด้วยกัน”

 ‘คุณหนิง – อัครา นักทำนา’ วันนี้ไม่ได้มาให้สัมภาษณ์ในฐานะช่างภาพสตรีตหรือวิศวกรซอฟต์แวร์ แต่มาในฐานะภัณฑารักษ์พิเศษ กำลังบอกเล่าถึงเหตุผลของการจัดนิทรรศการ ‘Photography Never lies’ – ภาพถ่ายไม่โกหก พร้อมพาผู้ชมเดินละเลียดตามเส้นทางที่ตั้งใจเรียงร้อยไว้ เพลิดเพลินไปกับความสวยงามของภาพถ่าย และดื่มด่ำประสบการณ์การเล่าเรื่องราวของศิลปิน

01 ที่บอกว่าภาพถ่ายไม่โกหก… ไม่โกหกอย่างไร

“ภาพรวมของนิทรรศการนี้คือ Information ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจก การใช้กล้องถ่ายภาพ การใช้ภาพเก่า การตัดเย็บและการฝังมุกลงในภาพถ่าย หรือแม้กระทั่งการเจนเนอเรต AI พวกนี้มันคือสื่อกลาง คือสิ่งที่ส่งผ่านมาจากศิลปิน ‘ความจริง’ มันไม่ได้ฝังอยู่ในเนื้อนั้น แต่ความจริงมันอยู่ที่เราเลือก ว่าสิ่งไหนที่เราเชื่อ ซึ่งคนที่เจนฯ AI อาจจะพูดความจริงมากกว่าก็ได้ อย่างเช่นผลงานไฟ มันจริงมาก เพราะว่าเขาออกไปเจอคนจริง ๆ เขาออกไปเผาจริง ๆ แต่เนื้อหาของมัน คือสิ่งที่เราต้องพิจารณาว่าสิ่งนั้นมันจริงสำหรับเราแค่ไหน ผู้ชมต้องเข้าไปรับรู้ และคัดเลือกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จริงสำหรับเขา หมายความว่า ไม่ว่าจะ AI หรือไม่ มันไม่ใช่เรื่องของความจริงเลย มันอยู่ที่ศิลปินว่าจะเล่าอะไรมากกว่า”

02 ในฐานะภัณฑารักษ์ มีวิธีสมดุลความจริงของงานอย่างไร

“ผมพยายามที่จะถ่วงดุลในด้านของวิธีการ อย่างเช่น เราคงไม่เอา AI มาทั้งนิทรรศการ ก็คงต้องมีอะไรที่เป็นสิ่งที่ทำออกมาจากโลกจริง ๆ กับสิ่งที่เป็น AI พยายามที่จะสมดุลกระบวนการ ส่วนเรื่องเนื้อหา เราพยายามที่จะคัดเลือกเป็นส่วน ๆ ไป อย่างเช่นตรงนี้ จะเป็นส่วนของอำนาจทั้งสิ้น พระมีอำนาจ ภาพของผู้มีอำนาจ อำนาจของปืน แล้วก็พูดถึงขั้วตรงข้ามกัน เช่น AI กับการที่เขาตัดเย็บจริง ๆ เขาลงไปรีเสิร์ชจริง ๆ”

03 ถ้าไม่มีภัณฑารักษ์นำชม จะเข้าใจผลงานของศิลปินไหม

“เวลาเดินเข้ามาจะเหมือนมีประตูกลครับ เดินเข้ามาแล้วเราจะรู้สึกถึงอะไรบางอย่าง มันจะเอ๊ะ ๆ บางคนเดินดูจากไกล ๆ ก็ดูจริงหมดเลยนะ แต่พอมาดูใกล้ ๆ เฮ้ย… มันไม่ใช่นี่หว่า คนดูจะค่อนข้างรู้สึกได้ครับ อาจจะไม่ใช่ในแวบแรก ต้องหันกลับไปดูอีกรอบหนึ่ง แต่หากเกิดสนใจเรื่องข้อมูลจริง ๆ สามารถเข้าไปดูคำบรรยายได้ในนิทรรศการ อ่านรายละเอียดของวิธีการได้อยากให้คนที่มาเดินชมนิทรรศการเดินดูสัก 2 รอบ แล้วรอบที่ 2 เขาอาจจะเกิดคำถามอะไรบางอย่างในใจก็ได้”

ความงดงามหน้ากระบอกปืน — ปิยทัต เหมทัต

ภาพปากกระบอกปืนโทนขาว-ดำขนาดใหญ่เบิ้ม ติดแสดงอยู่บนผนังกลางนิทรรศการ เหมือนกำลังท้าทายผู้คนที่เดินผ่านไปมาให้เข้ามาพิสูจน์อำนาจเบื้องหน้า ‘คุณโอ๋ – ปิยทัต เหมทัต’ ศิลปินเจ้าของผลงานยังคงง่วนอยู่กับการพบปะพูดคุยกับผู้คน เมื่อเห็นโอกาสเหมาะเจาะ เราจึงเดินเข้าไปร่วมวงสนทนา พร้อมโยนประเด็นคำถามให้คลายสงสัย

01 เล่าถึงผลงานชุดนี้ให้ฟังหน่อย

“งานชุดนี้เป็นงานภาพถ่ายที่เอาปืนกับกระสุนมาสร้างเป็นงานศิลปะ ชื่องานว่า Bullistics ผมทำงานชุดนี้ออกมาเมื่อ 2 ปีที่แล้วครับ งานที่เอามาแสดงเป็นหนึ่งในเจ็ดของงานที่ทำมาก่อนหน้านี้ ทั้งหมดจะเล่าเรื่องถึงมนุษย์ พูดถึงพฤติกรรม พูดถึงหลาย ๆ เรื่องที่มักจะมี 2 ด้าน ด้านมืดกับด้านสว่าง อย่างปืน ทุกคนเข้าใจว่าเป็นวัตถุที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการทำลายล้าง แต่ในเวลาเดียวกัน ผมก็นำมันมาใช้สร้างสรรค์ เหมือนกับพลิกความหมายกับจุดประสงค์ของมันให้ตรงกันข้ามครับ งานที่เอามาแสดงในที่นี่จะเป็นมุมมองของปืนจากด้านหน้า ซึ่งปกติแล้วมุมนี้ ทุกคนจะทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองมาอยู่หน้าปืน แต่ว่าในเวลาเดียวกัน เราได้เห็นว่า แต่ละภาพมันมีความสวยงามซ่อนอยู่”

02 แล้วทำไมถึงเลือกปืน

“ตอนแรกไม่รู้เรื่องเลย แล้วก็ไม่มีประสบการณ์อะไรเกี่ยวกับปืนด้วย แต่รู้ว่ามันมีหลายมิติที่น่าสนใจซ่อนอยู่เกี่ยวกับประเด็นนี้ ก็เลยตัดสินใจลองศึกษาและก็สร้าง เรียนรู้ และทำไปในเวลาเดียวกันครับ ปกติปืนสร้างขึ้นมาเพื่อทำลาย แต่ผมเอามาใช้เพื่อสร้างงานศิลปะ กลายเป็นวัฏจักรชีวิตไปแล้ว สร้างทำลาย ทำลายสร้างครับ”

03 ตั้งใจให้ผลงานเป็นโทนขาวดำด้วยไหม

“ทำไมภาพเป็นขาวดำ เพราะผมว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นสีครับ และด้วยความที่ปืนเป็นโลหะ เป็นสีดำ สีเงิน คือถ่ายออกมาโดยใช้สีก็ดูเป็นขาวดำอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าในส่วนนี้อยากถ่ายเป็นขาวดำ แต่ว่างานอื่น ๆ ของผมก็เป็นสี งานมันมีหลายแง่ครับ”

ชีวิต ไข่มุก และประวัติศาสตร์ — Ioanna Sakellaraki

กว่าเราจะอ่านชื่อได้คล่องปากก็ใช้เวลาอยู่ประมาณหนึ่งเลยกับศิลปินสาวชาวกรีก ‘Ioanna Sakellaraki’ แม้จะเกิดที่ประเทศกรีซ แต่เธออาศัยอยู่ในแผ่นดินออสเตรเลียเป็นหลัก ผลงานที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ชื่อว่า ‘The Seven Circuits of a Pearl’ เป็นภาพถ่ายที่ใช้เทคนิคการทำคอลลาจและการเย็บปักลงบนภาพ ผ่านการเชื่อมโยงเรื่องราวชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย โดยใช้ไข่มุก (แท้) เป็นส่วนประกอบหลักของภาพ 

01 ผลงานชิ้นไหนที่สำคัญกับ(ใจ) คุณมากที่สุด

“งานชิ้นนี้มีความสำคัญสำหรับฉัน เพราะฉันใช้สัญลักษณ์จำนวนมากในงานนี้ มหาสมุทรเป็นเหมือนสัญลักษณ์และพื้นที่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทำงาน เพราะพ่อของฉันเป็นกะลาสีเรือ เรื่องราวเหล่านี้เริ่มต้นที่ประเทศกรีซ ที่ที่ฉันจากมา แต่ว่ามันเชื่อมโยงกับประเทศออสเตรเลีย ที่ที่ฉันอาศัยอยู่ตอนนี้ด้วย ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิดเรื่องไข่มุก ทั้งหมดจึงเชื่อมต่อกันอีกครั้งผ่านไข่มุก เห็นได้จากงานชิ้นอื่น ๆ ของฉัน ในชุดที่เกี่ยวกับเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์จากชายฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงแห่งไข่มุกของโลกเมื่อศตวรรษที่แล้ว”

“การนำสิ่งเหล่านี้มาหลอมรวมเป็นผลงาน นับเป็นการฟื้นคืนชีวิตให้พวกเขา และฉันได้ร่วมสร้างสรรค์งานชิ้นนี้กับแม่ ขณะที่เธอเริ่มเล่าเรื่องราวของพ่อ ฉันได้เรียนรู้เรื่องการเย็บปักถักร้อยจากแม่ด้วย เพราะเธอทำได้ดีกว่าฉันแน่ ๆ และนั่นทำให้ผลงานนี้มีความสำคัญกับฉันมาก”

02 มีมุมมองต่อเทคโนโลยี AI ที่เข้ามาปฏิวัติวงการภาพถ่ายอย่างไร

“ฉันคิดว่าผลงานทั้งหมดในนิทรรศการนี้ มาจากการเล่าเรื่องเชิงอัตวิสัยที่เราพยายามเชื่อมต่อกับโลกทางใดทางหนึ่ง และมีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นทั่วโลกนอกเหนือจากมุมมองของตัวเราเอง เรากำลังพยายามเชื่อมโยงวิธีต่าง ๆ มากมาย อย่างในงานของฉัน ฉันพยายามทำให้เป็นแบบผสมผสานด้วยวิธีการของฉัน แต่ในขณะเดียวกัน ฉันก็เข้าใจว่าเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกของเรา ในฐานะนักสร้างสรรค์ภาพเราต่างสัมผัสได้ถึงเทรนด์นี้ ฉันไม่คิดว่ามันเป็นบทสนทนาระหว่างการถ่ายภาพแบบเดิมในอดีตกับอนาคตของการสร้างภาพถ่าย แต่เป็นเรื่องของการผสมผสาน แลกเปลี่ยน และปรับเปลี่ยนซึ่งกันและกันมากกว่า”

“สำหรับฉัน AI เป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยทำงานศิลปะในเชิงกายภาพ ฉันคิดว่าการจัดแสดงงานศิลปะไม่ใช่แค่การนำเสนอผลงานของศิลปินแนวคล้าย ๆ กันมารวมกัน แต่มันคือการเปิดโลกทัศน์ให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงกระบวนการคิดและสร้างสรรค์ที่แตกต่าง และทุกคนสามารถนำสิ่งที่ตัวเองชอบ หรือสิ่งที่กระตุ้นจินตนาการตัวเองมาใช้ได้ AI อาจเป็นเพียงสิ่งที่กระตุ้นจินตนาการของเรา ไม่ได้หมายความว่า คนที่มองเห็นผลงานศิลปะที่สร้างด้วย AI จะต้องหยิบยกเทคนิค AI ไปใช้  มันอาจเป็นการตั้งคำถาม ซึ่งนั่นล่ะคือศิลปะ แม้จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม”

นอกจากนี้ ยังมีศิลปินท่านอื่น ๆ อีกมากมายที่มาร่วมแสดงผลงานหลากเทคนิค มาหาคำตอบของความจริงกันได้ ในนิทรรศการ ‘Photography Never Lies – ภาพถ่ายไม่โกหก’ เปิดให้ชมแล้วตั้งแต่วันนี้ – 8 กันยายน 2567 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7 หอศิลปกรุงเทพฯ เวลา 10.00 – 20.00 น. (หยุดวันจันทร์) ติดต่อสอบถามได้ที่ www.facebook.com/baccpage


เรื่องโดย

ภาพโดย