Kind Places

พิพิธภัณฑ์เย็นฉ่ำ

ไม่ใช่ทุกมิวเซียมที่ตั้งใจเปิดให้เข้าชม เพราะบางแห่งก็เปิดให้เข้าชิม KiNd ขออาสาพาเยี่ยมมิวเซียมชิมได้ 2 แห่งคนละซีกโลก—มิวเซียมเจลาโตที่อิตาลีกับมิวเซียมไอศกรีมที่สิงคโปร์ เพื่อลบภาพจำเดิม ๆ ที่ว่าพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ชวนง่วงและเอาไว้เก็บเฉพาะของเก๊าเก่า

ถึงจะแตกต่างไปจากพิพิธภัณฑ์แบบเดิม ๆ มิวเซียมที่เลือกมาให้ก็ยังรวบรวมประวัติศาสตร์ยุคเริ่มต้น/ วิวัฒนาการสำคัญ/ และผู้เชี่ยวชาญด้านไอศกรีมศาสตร์ที่ควรค่าสดุดีไว้แน่นเอี้ยด จัดแสดงแบบแยบยล ไม่บังคับให้อ่านหรือฟังโต้ง ๆ ค่อย ๆ ป้อนข้อมูลผ่านการลิ้มรสและลงมือปฏิบัติจริง 

ไม่ว่าจะตามไปหรือไม่… หากอ่านจนจบ คุณจะได้รู้เรื่องราวขนมหวานเย็นฉ่ำของโปรด อย่างเจลาโต ไอศกรีม และซอร์เบต์ ไว้ชวนคุยขณะกินไอศกรีมกับเพื่อนฝูงครั้งหน้าแน่นอน

รู้จักมิวเซียม

01 ‘Gelato Museum’ เปิดให้บริการที่เมือง Anzola dell’Emilia ในประเทศอิตาลี ตั้งแต่ปี 2012 โดยมุ่งมั่นศึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาการเจลาโตและผู้สร้างสรรค์คนสำคัญที่ขับเคลื่อนวิวัฒนาการมาตลอดหลายร้อยปี มิวเซียมขนาดประมาณพันตารางเมตรแห่งนี้ รวบรวมอุปกรณ์ทำเจลลาโตดั้งเดิม สื่อมัลติมีเดีย และเอกสารอีกนับหมื่นชิ้นที่เกี่ยวข้อกับเจลาโตเอาไว้อย่างดี

เอกลักษณ์เฉพาะอีกอย่างของที่นี่ คือบรรยาศโล่งกว้างที่จัดสรรไว้อย่างเหมาะสมสำหรับพื้นที่เวิร์กช็อป เครื่องจักรผลิตเจลาโตขนาดมหึมา และส่วนจัดแสดง ที่ยังคงกลิ่นอายอดีตโรงงานผลิตเจลาโตยุครุ่งเรืองไว้ครบถ้วน


02 ‘Museum of Ice Cream’ อาจเป็นมิวเซียมที่เข้าถึงและคุ้นเคยมากกว่า ทั้งในแง่ที่ว่าเป็นไอศกรีมในอุดมคติ—โคนกรอบ สกู๊ปกลมดิ๊ก สปริงเคิลส์สายรุ้งโปรยปราย และมีสาขาให้ไปเยี่ยมตามเมืองใหญ่หลายแห่ง New York City/ Austin/ Singapore/ Chicago/ Miami

ที่นี่จะพาคุณย้อนกลับไปเยี่ยมเยียนวัยเด็กผ่านไอศกรีมหลากรส และการจัดแสดงหลากหลายเน้นปฏิสัมพันธ์—ชิมไอศกรีม กระโดดบ่อสปริงเคิล นั่งชิวที่บาร์ขนม ช็อปปิงร้านกิฟต์ช็อปที่ระลึก เหมาะสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย ไม่เว้นแม้แต่เหมียวกับโบ้ก็มีไอศกรีมเฉพาะให้

‘เจลาโตกับไอศกรีม’
ไม่ใช่ฝาแฝดแต่เป็นพี่น้องกัน

ถึง ‘Gelato’ จะแปลว่า ‘ไอศกรีม’ ในภาษาอิตาเลียน แต่กระบวนการผลิตกับส่วนผสมนั้นต่างกันในรายละเอียด

เจลาโตจะหนักนมและปั่นเอื่อย ๆ ส่วนไอศกรีมจะหนักไข่กับครีมและปั่นเร็วกว่า ยิ่งปั่นเร็วเท่าไร อากาศในเนื้อก็ยิ่งมีปริมาณมากเท่านั้น  เจลาโตที่มีอากาศในเนื้อน้อยกว่า จึงเนียนหนุบหนึบข้นกว่า ส่วนกลิ่นรสซึ่งเข้มข้นกว่าก็มาจากปริมาณครีมที่ผสมน้อย ๆ อยู่ในเนื้อ กลิ่นวัตถุดิบสดใหม่จึงไม่ถูกกลบ

ไทม์ไลน์วิวัฒนาการขนมหวานเย็นฉ่ำ

ก่อนคริสตกาล–ศตวรรษที่ 13: จากบ่อหิมะสู่ซอร์เบต์
ยุคเมโสโปเตเมีย คนงานต้องเดินเท้าประมาณ 100 กิโลเมตร เพื่อเก็บหิมะมาเสิร์ฟในงานเลี้ยงราชวงศ์และในพิธีทางศาสนา ต่อมาชาวโรมันได้ประดิษฐ์ Colj Nivarum ที่ทำจากทองและเงินขึ้นมาเพื่อกรองหิมะให้ขาวสะอาดก่อนรับประทาน ส่วนชาวอาหรับก็ปรุง Shrb หรือ ไซรัปจากน้ำตาล ขณะที่ชาวปาแลร์โมในอิตาลีใช้ดอกไม้ร่วม 400 ชนิดมาเป็นกลิ่นรสซอร์เบต์

ศตวรรษที่ 16–18: กำเนิดเจลาโตในหมู่ชนชั้นสูง

ช่วงนี้ถือเป็น 300 ปีแห่งพลวัตในวงการของเย็น บุคคลสำคัญหลายคนจากหลากศาสตร์ ‘ร่วมกันทำ’ ให้ขนมหวานเย็นฉ่ำเป็นที่รู้จักโดยทั่วกัน …ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

นอกจากชาวอิตาเลียนสองคน—Catherine de’ Medici ราชินีในกษัตริย์ Henry II แห่งฝรั่งเศส และ Cosimo Ruggeri นักเล่นแร่แปรธาตุและโหร จะนำเอาศิลปะวิทยาการจากประเทศตัวเองมาถึงปารีส ยังพาซอร์เบต์ผลไม้มาแนะนำกับชาวปารีเซียง / สถาปนิก Bernardo Buontalenti คิดค้นขนมแช่แข็งจากน้ำแข็งกับเกลือ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเจลาโตเพื่อต้อนรับกษัตริย์สเปน / แต่เจลาโตมาเป็นที่รู้จักแพร่หลายจริง ๆ ก็เพราะหมออิตาเลียน Francesco Redi และ นักการทูต Lorenzo Magalotti ที่เขียนอธิบายสูตรให้ชาวบ้านเข้าถึง / Francesco Procopio Cutò เจ้าของคาเฟ่ซึ่งเก่าแก่ที่สุดของปารีส ขายซอร์เบต์โฮมเมดให้ปัญญาชนฝรั่งเศสที่มาถกสารพันเรื่องราวในคาเฟ่ 



ศตวรรษที่ 19–20: เจลาโตแพร่กระจายไปทั่วโลก

เจลาโตกับซอร์เบต์เริ่มพัฒนาบทบาท เป็นองค์ประกอบสำคัญของมื้ออาหารและงานจัดเลี้ยง ปรากฏอยู่ในตำราอาหาร ซื้อหาง่ายตามริมถนนหนทางและจากรถเข็น …ด้วยนวัตกรรมด้านการผลิตและขนส่ง

หมดนี่เป็นหนึ่งจากนับร้อยเรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับเจลาโตและผองเพื่อนขนมเย็น หากยังไม่พร้อมไปเที่ยว แวะไปอ่านทำความรู้จักกับไอศกรีมชนิดต่าง ๆ ในเว็ปข้างล่างนี้ก่อนคงพอถูไถไปได้


ที่มา


เรื่องโดย

ภาพโดย