Kind Places

เปิดเส้นทาง(ไม่)ลับ สำรวจวัดร้างที่อยุธยา!

‘อยุธยา’ มีมากกว่าที่ตาเห็น…

เพราะที่นี่ไม่ได้มีดีแค่เพียงวัดดังหรือวัดใหญ่ ๆ ที่เราคุ้นเคยเท่านั้น แต่ยังซ่อน ‘วัดลับ’ อีกหลายร้อยแห่งเอาไว้ใต้เงามืดประวัติศาสตร์ กำแพงเก่าคร่ำคร่าทรุดโทรมและซากปรักหักพังรกร้างห่างการดูแล หากแต่ยังคงความสวยงามตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมไทยโบราณ และยืนหยัดบอกเล่าเรื่องราวในอดีตอย่างเงียบเชียบ ชวนให้เราจินตนาการถึงวิถีชีวิตและความเจริญรุ่งเรืองเมื่อครั้งก่อนเก่า

พร้อมหรือยัง? ที่จะก้าวออกจากเส้นทางท่องเที่ยวหลัก หักเลี้ยวหลบวัดดัง ๆ แล้วเปิดเส้นทางลับไปสัมผัสเสน่ห์ของ ๕ วัดร้าง ที่คุณอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน ไม่แน่ว่าประสบการณ์ครั้งนี้อาจทำให้คุณหลงรักอยุธยาไปอีกแบบก็ได้!

๐๑
‘วัดช้าง’

ปริศนาแห่งเจดีย์ช้างล้อม


‘วัดช้าง’ วัดร้างโบราณตั้งโดดเด่นอยู่กลางทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ เวิ้งว้าง ราวกับกำลังหลีกหนีความวุ่นวายจากโลกภายนอก หากใครต้องการสัมผัสบรรยากาศอันสงบเงียบ สามารถเดินทางผ่านตลาดน้ำอโยธยาและเลี้ยวเข้าสู่เส้นทางที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์แห่งประวัติศาสตร์ โดยมีวัดช้างตั้งตระหง่านรอต้อนรับอยู่เบื้องหลัง สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการผจญภัยสามารถเลือกบริการนั่งช้างชมวิวทิวทัศน์ได้เช่นกัน หรืออีกเส้นทางหนึ่งคือขับรถผ่านทางวัดมเหยงคณ์ โดยวัดช้างจะอยู่บริเวณด้านข้างของวัด

แม้จะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ชัดเจนว่าวัดช้างสร้างขึ้นเมื่อใด แต่ด้วยโครงสร้างและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกับวัดมเหยงคณ์ สันนิษฐานว่าวัดทั้งสองแห่งมีความเกี่ยวข้องกันอย่างแนบแน่น และถูกสร้างขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันคือสมัยอยุธยาตอนต้น ช่วงสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานอุทิศให้แก่เจ้าอ้ายและเจ้ายี่ พระเชษฐาของเจ้าสามพระยา ซึ่งสิ้นพระชนม์ก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชย์

สัญลักษณ์อันโดดเด่นของวัดช้างคือ ‘เจดีย์ช้างล้อม’ บ่งบอกถึงอิทธิพลทางศิลปะและสถาปัตยกรรมจากสมัยสุโขทัย ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกับวัดช้างรอบของเมืองกำแพงเพชร ไม่เพียงแต่รูปทรงของเจดีย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประติมากรรมที่ประดับตกแต่งรอบ ๆ ด้วย เช่น ยักษ์ สิงห์ และหงส์ ซึ่งนิยมสร้างเจดีย์ลักษณะนี้ขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและความยิ่งใหญ่

๐๒
‘วัดขมิ้น’

ประวัติศาสตร์หลบซ่อนหลังคุกเก่า


หากใครไม่ทันสังเกต คงไม่เห็นว่าหลังเรือนจำเก่าแก่ของอยุธยาที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ จะมีวัดร้างอย่าง ‘วัดขมิ้น’ หลบซ่อนตัวอยู่อย่างเงียบเชียบ ซึ่งวัดแห่งนี้ถือเป็นโบราณสถานที่อยู่เคียงคู่มากับพระราชวังจันทรเกษม (วังหน้าสมัยอยุธยา) แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่ชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้ชาวมอญที่ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาตั้งถิ่นฐานบริเวณวัดขมิ้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ วัดขมิ้นได้ถูกดัดแปลงให้เป็นเรือนจำมณฑลกรุงเก่า ทำให้สภาพของวัดเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีการถมดินและปรับพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการบูรณะโบราณสถานในบริเวณนี้ใหม่อีกครั้ง

จุดเด่นของวัดขมิ้นคือ ‘เจดีย์ทรงระฆังสีขาว ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะฐานล่างสุดที่เป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ 4 เหลี่ยม อันเป็นอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดขมิ้นมีอายุมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นและมีความเกี่ยวข้องกับศิลปะสถาปัตยกรรมในยุคนั้น

ปัจจุบัน เรือนจำเก่าได้กลายเป็นร้านกาแฟและพิพิธภัณฑ์เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนในพื้นที่ ส่วนบริเวณด้านหลังกลายเป็นสำนักเมืองสีเขียวอยุธยา หรือโตโยต้าเมืองสีเขียว อยุธยา ศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งส่งเสริมให้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวตระหนักถึงความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งวัดขมิ้นจะตั้งอยู่บริเวณด้านหลังสุดของศูนย์การเรียนรู้ฯ นอกจากจะมาเยี่ยมชมวัดเก่าเพื่อซึมซับคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังสามารถเรียนรู้วิถีเมืองสีเขียวได้อีกด้วย

๐๓
‘วัดนก’

มรดกเก่าแก่เบื้องหลังตลาดเก่า


หนึ่งแลนด์มาร์กสุดอันซีนของเมืองอยุธยา ที่ใครมาก็ต้องแวะคือ ‘เศียรพระในต้นไม้ที่วัดมหาธาตุ’ แต่รู้หรือไม่ว่าด้านข้างของวัด (ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้) ยังมีอีกหนึ่งวัดร้างเล็ก ๆ ที่ควรค่าแก่การศึกษาเช่นกัน นั่นคือ ‘วัดนก’ เบื้องหลังความร้างลาของวัดแห่งนี้ ไม่เพียงแค่เป็นที่พำนักของพระมหาเถรคันฉ่องผู้ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่านั้น แต่ยังเคยเป็นศูนย์กลางการค้าที่คึกคักในอดีตอีกด้วย

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และคำบอกเล่าของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ในอดีตวัดนกไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าเครื่องทองเหลือง ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในสมัยอยุธยา บริเวณรอบ ๆ วัดนกจึงเป็นแหล่งรวมร้านค้าที่ขายขัน ถาด พาน และเครื่องทองเหลืองนานาชนิด 

สิ่งที่น่าสนใจของวัดนกคือ ‘ปรางค์’ และ ‘วิหาร’ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดนกเป็นโบราณสถานและได้ทำการขุดแต่งบูรณะปฏิสังขรณ์จนอยู่ในสภาพปัจจุบัน ปรางค์องค์นี้จัดว่าเป็นปรางค์ในระยะแรกสุดของสมัยอยุธยา ต่อมาภายหลังได้บูรณะใหม่โดยการต่อมุขด้านหน้าให้ยาวออกมา และมีการบูรณะฐานของมุขแอ่นโค้งเพิ่มเติมในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย หากใครมาวัดมหาธาตุก็อย่าลืมแวะมาชื่นชมความงามของวัดนกกันด้วยล่ะ!

๐๔
‘วัดแร้ง’

สถานที่ซุกซ่อนความรวดร้าวทางประวัติศาสตร์


วัดใดในอยุธยาที่ไม่ถูกพม่าเผา? หลายคนคงตอบกันได้ฉะฉานว่าคือ ‘วัดหน้าพระเมรุ’ หนึ่งในวัดดังที่ใคร ๆ ต่างนิยมมาสักการะบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล แต่หากขับรถเลยไปอีกหน่อยไม่เกิน 900 เมตร จะเห็นป้ายร้านกาแฟ Metema Cafe (มีที่มา) ที่กำลังกวักมือเชื้อเชิญ แต่ใครเลยจะรู้ว่าหลังร้านกาแฟแห่งนี้มีวัดลับนามว่า ‘วัดแร้ง’ ซ่อนตัวอยู่ โบราณสถานที่ซ่อนเรื่องราวอันน่าสะพรึงไว้เบื้องหลังความเงียบสงบ สถานที่ซึ่งเป็นสักขีพยานของเหตุการณ์สู้รบในประวัติศาสตร์ ที่นำมาซึ่งการสิ้นพระชนม์ของขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ระบุว่า หลังจากสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ขุนวรวงศาธิราชได้เถลิงอำนาจขึ้นแทน โดยมีท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นผู้สนับสนุนสำคัญ ทว่าครองราชย์ได้ไม่นานก็เกิดการลอบปลงพระชนม์ขึ้น เพราะเหล่าขุนนางต่างไม่พอใจที่ขุนวรวงศาธิราชขึ้นเป็นกษัตริย์แบบไม่ชอบธรรม โดยขุนพิเรนทรเทพได้วางแผนลอบสังหารขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์ ณ บริเวณคลองบางปลาหมอ ซึ่งศพของทั้งสองพระองค์ถูกนำมาเสียบประจานไว้ที่วัดแร้งแห่งนี้นั่นเอง

ปัจจุบัน วัดแร้งกลายเป็นวัดร้างที่ไม่มีแม้แต่ซากโบราณสถานหลงเหลืออยู่ให้เห็น มีเพียงป้ายประกาศจากกรมศิลปากรเท่านั้นที่เป็นหลักฐานยืนยัน แต่เดิมชาวบ้านได้สร้างศาลไม้เล็ก ๆ ขึ้นมา เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา แต่หลังจากนั้นชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างศาลขึ้นมาใหม่ชื่อว่า ‘ศาลนางพระยาแม่อยู่หัว’ เป็นศาลขนาดใหญ่พร้อมแท่นสักการะบูชา โดยมีรูปหล่อของแม่อยู่หัวท้าวศรีสุดาจันทร์ทรงเครื่องแบบนางกษัตริย์ขนาดเท่าคนจริงนั่งประดิษฐานอยู่ด้านใน แม้ชื่อวัดจะดูน่ากลัวแถมเรื่องราวในตำนานเล่าขานจะยิ่งชวนให้ขนลุก แต่สำหรับใครที่สนใจประวัติศาสตร์ไทยสามารถแวะเวียนมากันได้

๐๕
‘วัดสาริกา’

เจดีย์ยอดหักและความลับที่ซ่อนอยู่


วัดร้างลึกลับแห่งสุดท้ายที่เราจะพาไปรู้จักกันในวันนี้คือ ‘วัดสาริกา’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘วัดเจดีย์ยอดหัก’ หากใครไม่ได้ตั้งใจไปหรือหลงทางมาละก็คงยากที่จะพบเจอ เพราะวัดแห่งนี้แอบซ่อนอยู่ในป่ารกชัฏหลังกำแพงวัดใหญ่ชัยมงคลอันลือเลื่อง ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด ทำให้ประวัติความเป็นมายังคงเป็นปริศนา

สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือซากเจดีย์ทรงลังกาก่ออิฐที่ชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก ตัวเจดีย์ถูกขุดเจาะเป็นโพรงตั้งแต่ยอดลงมาจนถึงฐาน ช่องกรุที่เคยบรรจุสมบัติล้ำค่าถูกเจาะจนกลายเป็นโพรงขนาดใหญ่ บริเวณใต้ฐานเจดีย์ถูกขุดค้นจนเสียหาย แต่หลักฐานทางสถาปัตยกรรมเหล่านี้ยังคงยืนยันความรุ่งเรืองในอดีตของวัดแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี 

นอกจากนี้ ภายในห้องกรุเจดีย์ยังกั้นห้องเล็ก ๆ ด้วยแผ่นศิลาแลง สันนิษฐานว่าใช้สำหรับเก็บรักษาสิ่งของมีค่า เช่น แก้วแหวนเงินทอง และพระพุทธรูป ส่วนบริเวณฐานเจดีย์น่าจะเป็นที่บรรจุพระธาตุตามคติความเชื่อในสมัยนั้น ปัจจุบัน สภาพบริเวณวัดสาริกาค่อนข้างรกร้างขาดการดูแล หากใครอยากเข้าไปสำรวจอาจจะต้องระมัดระวังอย่างมาก

หากใครชอบชมสถาปัตยกรรมโบราณหรือชอบเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยในมุมมองใหม่ ๆ ลองปักหมุดวัดร้างทั้ง ๕ แห่งนี้ไว้ แล้วมาสำรวจสถานที่ลับ ๆ ที่รอการค้นพบไปด้วยกัน!  


ที่มา


เรื่องและภาพโดย

ภาพโดย