ผมเกิดและเติบโตมาในบริเวณบ้านสวนของปู่ย่า ในช่วงรอยต่อระหว่าง หมู่ 3 และ หมู่ 4 ของตำบลไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต ซึ่งหน้าบ้านมีคลองที่ไหลลงมาจากภูเขาพร้อมน้ำใสสะอาด ทำให้ผมคุ้นเคยกับการเล่นน้ำคลองตั้งแต่เด็ก ส่วนหลังบ้านเป็นทุ่งนากว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ประมาณว่าเดินเท่าไหร่ก็คงไม่จบ
ในช่วงวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นตอนต้น (พ.ศ. 2531 – พ.ศ. 2539) ท้องทุ่งจึงเป็นสนามเด็กเล่นที่เป็นดั่งสวรรค์บนดินอย่างแท้จริง ผมใช้ทุ่งนาเป็นเส้นทางเดินลัดกลับบ้านทุกวัน ผ่านความเขียวขจีในช่วงต้นข้าวกำลังโต สู่ทุ่งรวงทองพร้อมเก็บเกี่ยวตามวัฏจักร ผมมักแวะกินลูกหว้า ต่อสู้กับฝูงมดแดงที่หวงลูกหว้าซะเหลือเกิน บางครั้งก็แอบปีนต้นมะม่วงหิมพานต์ต้นนั้นที่ขึ้นอยู่กลางนาอย่างเดียวดาย และสงสัยมาตลอดว่าทำไมมันถึงไปอยู่ตรงนั้นหนอ
ผมรู้สึกว่าชีวิตตัวเองน่าอิจฉาเหลือเกิน เราไม่ต้องดิ้นรนอะไรมาก เรามีธรรมชาติ อากาศก็ดี เราไม่ต้องไปแข่งกับใครทั้งนั้น เพราะเรามีแค่นี้ สบายใจเหลือเกิน บางครั้งผมกลับถึงบ้านค่ำเพราะมัวเถลไถลในนา ทำให้แม่เป็นห่วงมาก ก็เลยมอบรางวัลให้ผมด้วยไม้เรียวงาม ๆ ของนาง
ผมยังจำภาพฝูงเป็ดไล่ทุ่งฝูงใหญ่ของเพื่อนบ้านที่ชอบไข่เรี่ยราดไปทั่ว และแน่นอนผมตามเก็บไข่เหล่านั้นได้เต็มตะกร้าเสมอ (ก็เจ้าของเค้าไม่สนใจนี่นา) แล้วไหนจะหอยขมหอยข้าวที่มีมากมายเก็บมาแกงเท่าไหร่ไม่หมด หญ้าช้องที่ลู่ไปตามกระแสน้ำสามารถนำมาทอดเบือได้ รวมทั้งสารพัดพันธุ์ปลาน้ำจืดในนาที่แหวกว่าย ยังไม่รวมปลากัดสีสันสวยงามยั่วใจให้จับใส่ขวดกลับมาเลี้ยงที่บ้านอีกนะ
หรือแม้แต่บรรดางูน้ำไร้พิษที่เป็นเพื่อนแสนคุ้นตา ถามว่ากลัวมั้ย ก็กลัวนะ ขึ้นชื่อว่างู ในขณะที่เด็กคนอื่น ๆ อาจได้เรียนพิเศษ แต่ผมกลับไม่รู้ว่าสังคมคนเรียนพิเศษหน้าตาเป็นยังไง เพราะผมฝังตัวเองในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์อยู่แต่ในนา ภาพต่าง ๆ เกี่ยวกับนาข้าว ต้นไม้ใบหญ้า และสัตว์เล็กสัตว์น้อย ประทับในพื้นที่ความทรงจำพิเศษไม่เคยจางหายไปเลย… และบางครั้งผมคิดถึงความบริสุทธิ์เหล่านั้นจนเก็บมาฝัน
ณ ช่วงเวลาที่ฝนฟ้ายังตกต้องตามฤดูกาล เสียงอึ่งอ่างร้องระงมเมื่อหน้าฝนมาเยือน น้ำในคลองเหมืองที่ไหลมาจากภูเขาลูกใหญ่ของหมู่บ้านได้เอ่อท่วมถนนเพราะระบายน้ำฝนปริมาณมากไม่ทัน กลิ่นน้ำฝนนั้นยังคงหอมเย็นชื่นใจไร้สารพิษปนเปื้อน และนาข้าวยังกระจายอยู่ในพื้นที่บ้านไม้ขาว คนไม้ขาวเองหลายครัวเรือนยังทำนาปลูกข้าวสำหรับกินเองและขายโรงสีประจำอำเภอเพื่อเลี้ยงชีพ
หน้าที่ของเด็กภูเก็ตโซนบ้านนอกอย่างผม คือ ช่วยพ่อแม่แบกกล้า ดำนา ตีข้าว ถือสุ่มเดินตามรถไถเพื่อจับปลาดุก ปลาแขยง ปลาช่อน ปลาหมอ และมีชีวิตที่สนุกไปกับการเป่าขลุ่ยจากซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยว ที่ผมจะเป่ายังไงก็เสียงเพี้ยน รวมทั้งรับมือกับปลิงนาด้วยความมันหฤโหด ความรักที่ผมมีต่อทุ่งนานั้นจะดำรงอยู่ต่อไปตราบเท่าที่ผมยังมีลมใจ แม้ชีวิตจะผ่านจุดนั้นมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม
หากจำไม่ผิด คิดว่าผมคือคนรุ่นเยาว์กลุ่มสุดท้ายของเกาะภูเก็ตที่ได้ทำนา เพราะหลังจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้บุกเกาะภูเก็ตอย่างเต็มตัว พื้นที่นาที่กระจายอยู่ทั้งในอำเภอเมือง อำเภอกะทู้ และอำเภอถลาง ได้ถูกขายให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อสร้างโรงแรมรีสอร์ท รวมทั้งหมู่บ้านจัดสรร ทำให้ภาพที่คนภายนอกมองเกาะภูเก็ตมาตลอดระยะเวลาหลายปีจึงมีแค่ ชายหาด โรงแรม และชาวต่างชาติเท่านั้น ปัจจุบันภูเก็ตเหลือพื้นนาที่สามารถปลูกข้าวได้เพียงสองสามแห่ง และแห่งเดียวที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดและเป็นแม่แบบคือที่บ้านไม้ขาว ซึ่งก็คือหมู่บ้านของผมเอง
จากชีวิตจุดนั้นจนถึงวันที่ตัวเองจากบ้านเกิดมาเรียนที่กรุงเทพฯ และใช้ชีวิตส่วนใหญ่กับการดิ้นรนทำมาหากินในเมืองหลวงหลายปี ผมก็ได้ข่าวว่ามีความพยายามพลิกฟื้นวิถีการทำนาของคนไม้ขาวขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งทำให้ผมประหลาดใจมากจนต้องแอบไปส่องดูด้วยตัวเองตอนกลับไปเยี่ยมบ้าน ผืนนาของไม้ขาวส่วนใหญ่ปัจจุบันกลายพื้นที่ราบที่ถูกถมเพื่อสร้างบ้าน และพื้นที่ที่เหลือที่พอจะทำนาก็ถูกทิ้งร้างหลายปี
จนมีการริเริ่มพลิกฟื้นการทำนาอีกครั้งตามรอยเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาล 9 นำโดย “ลุงเนตร เดชากุล” หมอดินอาสาประจำตำบลไม้ขาว ที่เป็นผู้ชักชวนชาวบ้านให้กลับมาทำนา อาศัยองค์ความรู้จากสถานีพัฒนาที่ดินภูเก็ต กรมพัฒนาที่ดิน มาประยุกต์กับภูมิปัญญาที่ตนเองมี อาศัยการปรับปรุงบำรุงดิน โดยไม่ใช้สารเคมี ทำให้ปัจจุบันผลผลิตข้าวได้ถึง 670 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่อเว้นวางจากการทำนายังปลูกพืชผักสวนผสมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีกินมีใช้ตลอดปี
หนึ่งในกรรมการผู้ดูแลโครงการนี้ คือ เพื่อนชาวไม้ของผมตั้งแต่สมัยเรียนประถม ซึ่งยังคงเป็นมิตรที่ดี พูดเพราะ และคิดดีเสมอต้นเสมอปลายอย่างเจ้า “ต้อม (ผมออกเสียงว่า “ต้ม” ตามสำเนียงคนภูเก็ต)” ทศพล เศวตวรรณ์ ต้อมเล่าให้ผมฟังว่าจุดประสงค์ของการทำนาข้าวในครั้งนี้ก็เพื่อการอนุรักษ์ตัวตนเดิมแท้ของคนไม้ขาวไว้ และสร้างนาข้าวให้เป็นแหล่งเกษตรกรรมเชิงท่องเที่ยวสำหรับให้เยี่ยมชมวิถีชีวิตการทำนาข้าวที่ภูเก็ตแบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการไถนา หว่านเมล็ดข้าวเก็บเกี่ยว ไปจนถึงขั้นตอนของการสีข้าวบนพื้นที่ปลูกประมาณ 70 กว่าไร่ ซึ่งตอนนี้มีเกษตรกรที่ปลูกข้าวในไม้ขาวประมาณแล้ว 17-18 ราย
จากเดิมที่มีสมาชิกแรกเริ่มเพียง 9 ครัวเรือนเท่านั้น เจ้าต้อมเพื่อนผมปลูกข้าวไว้กินเอง โดยพันธุ์ข้าวที่ต้อมกับครอบครัวปลูก คือ ข้าวหอมปทุม และพบว่าความดีงามของการปลูกข้าวไว้กินเอง คือ การได้กินข้าวคุณภาพดี ปลอดสารพิษ และสามารถจุนเจือครอบครัวและญาติด้วยด้วยข้าวได้ตลอดทั้งปี
ต้อมบอกกับผมเพิ่มเติมว่าตอนนี้มีคนหันมาปลูกข้าวบนเกาะภูเก็ตกันมากขึ้น เพราะความผันผวนทางเศรษฐกิจประกอบกับสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ที่ทำให้คนบนเกาะภูเก็ตหลายคนรู้สึกถึงความไม่แน่นอน และความตระหนักที่ว่าที่สุดแล้วข้าวคือ สินค้าที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิต เป็นอาหารหลักของคนไทยที่ยังไงก็ต้องกิน
ผมถามเพื่อนว่าโครงการนี้จะมีจุดสิ้นสุดหรือไม่ ต้อมบอกว่า “ไม่รู้หรอก” ซึ่งผมเองก็คิดว่า ไม่จำเป็นต้องรู้ ขอเพียงทำวันนี้ให้ดีที่สุดก็พอแล้ว ส่วนตัวแล้วผมกำลังคิดว่าโรคระบาดอย่าง COVID-19 ได้ส่งสัญญาณสำคัญบางอย่างให้เกาะภูเก็ตว่าเราคงหวังพึ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ แต่เราควรเร่งฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมของเกาะให้กลับคืนมาโดยเร็ว เพื่อที่เราจะได้ดูแลชีวิตของพวกเราเองได้อย่างยั่งยืนเมื่อเกิดความอ่อนไหวต่อการท่องเที่ยวอย่างไม่อาจควบคุมได้
ต้อมกับผมคุยกันถึงอดีตอันหอมหวานสมัยเรียนประถม ถึงแม้บ้านของเราทั้งคู่จะอยู่กันคนละฟากฝั่งของหมู่บ้าน แต่เราก็แชร์ประสบการณ์ชีวิตร่วมกันในหลายมุม โดยเพาะเรื่องของทุ่งนา ต้อมบอกกับผมอีกว่าสัตว์น้ำหลายชนิดที่หายไปช่วงที่คนไม้ขาวไม่ทำนายังไม่กลับมา แม้ว่าจะมีการฟื้นฟูนาข้าว เขาแทบไม่เห็นปลาดุก ปูนา ปลากัด ปลาซิว ปลากระดี่ ปลาเหยื่อกลม (ผมไม่รู้เรียกปลาเหยื่อกลมเรียกว่าอะไรในภาษากลาง แต่รู้ว่าเอามาแกงพริกหรือหมกกับเครื่องเทศอร่อยมาก)
ปลาหมอก็พอมีบ้างแต่น้อยเหลือเกิน รสชาติของปลาหมอนานั้นเมื่อนำมาแกงส้มแบบภาคใต้นั้นจะอร่อยกว่า เนื้อหวานและมันกว่าปลาหมอเลี้ยงมาก ผมไม่เข้าใจกลไกของธรรมชาติมากนัก แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งมีชีวิตคู่นาไม้ขาวเหล่านี้จะกลับมาทำให้ทุ่งนาของหมู่บ้านผมอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
ผมตามดูโพสต์ของต้อมเวลาเขาโพสต์รูปนาข้าวใน Facebook และแอบชื่นชมเพื่อนเสมอที่หาความสุขในชีวิตเจอ และตั้งใจว่ากลับไปบ้านรอบหน้าจะชวนเพื่อนเดินเล่นตามคันนาด้วยกันเพื่อย้อนรอยอดีต แต่ในอนาคตอันใกล้นี้หากคุณผู้อ่านได้ไปเที่ยวเกาะภูเก็ต และได้ไปเที่ยวหาดไม้ขาว (ที่โด่งดังจากการมีจุดชมวิวเครื่องบินระดับเฉียดหัว) ผมอยากชวนคุณ ๆ ไปสัมผัสอีกมุมหนึ่งของเกาะที่คุณอาจไม่เคยนึกถึงว่ามันมีแบบนี้ด้วยรึ ผมยืนยันได้ว่ามีจริง ๆ เพราะผมเคยเป็นหนึ่งในชาวนาของเกาะมาก่อนครับ