Kindnovation

อุปกรณ์ดักจับไมโครพลาสติกคว้ารางวัล James Dyson award


The Tyre Collective กลุ่มนักศึกษาปริญญาโทจาก Imperial College London และ the Royal College of Art คว้ารางวัลจากการแข่งขันระดับนานาชาติของสหราชอาณาจักร ด้วยนวัตกรรมช่วยแก้ปัญหามลพิษไมโครพลาสติกจากยางรถยนต์ขณะขับเคลื่อน

การเบรก การเร่งความเร็ว และการเลี้ยวของยานยนต์ทุกครั้ง ล้อรถจะเกิดการสึกหรอจากแรงเสียดทาน ก่อให้เกิดอนุภาคเล็ก ๆ ลอยฟุ้งอยู่ในอากาศ กระบวนการนี้สร้างมลพิษไมโครพลาสติกมากถึง 500,000 ตันต่อปีจากการประมาณการในยุโรปเพียงทวีปเดียวเท่านั้น 

การประมาณการทั่วโลกชี้ว่าอนุภาคไมโครพลาสติกที่เกิดจากการสึกหรอจากแรงเสียดทานมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของมลภาวะที่เกิดจากการขนส่งบนท้องถนน มากไปกว่านั้นยังเป็นไมโครพลาสติกที่มากเป็นอันดับสองในมหาสมุทร เป็นรองเพียงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง


อุปกรณ์ที่ชนะการประกวดครั้งนี้ ใช้งานได้โดยนำไปติดตั้งบริเวณล้อรถยนต์ ตัวอุปกรณ์จะกักเก็บอนุภาคไมโครพลาสติกที่ปล่อยออกมาจากยางโดยอาศัยการไหลของอากาศที่เกิดจากการหมุนของล้อ ตัวอุปกรณ์ต้นแบบนี้ ดีไซเนอร์กล่าวว่าเป็นอุปกรณ์ชิ้นแรกของโลกที่สามารถกักเก็บอนุภาคไมโครพลาสติกได้มากถึง 60% จากทั้งหมด อ้างอิงจากการทดลองใช้อุปกรณ์บนแท่นทดสอบภายใต้สภาพแวดล้อมที่กำหนด


Siobhan Anderson, Hanson Cheng, M Deepak Mallya และ Hugo Richardson กลุ่มบัณฑิตปริญญาโทผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรวิศวกรรมนวัตกรรมการออกแบบภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัย Imperial College London และ the Royal College of Art กล่าวว่าพวกเขามีใจรักสิ่งแวดล้อม และใช้การออกแบบเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคม

“ในฐานะทีม จุดแข็งของเราอยู่ที่ความหลากหลาย” Hugo กล่าว “เราทั้ง 4 คนมาจากคนละมุมโลก นั่นแปลว่าเรามีความรู้มากมายอยู่ในมือ ทั้งวิศวกรรมเครื่องกล การออกแบบผลิตภัณฑ์ สถาปัตยกรรม และชีวกลศาสตร์ ”


“ทุกคนรู้ว่ายางมันสึกลงไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่รู้ว่าส่วนที่สึกหรอนั้นหายไปไหน พวกเราช็อกมากเหมือนกันที่รู้ว่าไมโครพลาสติกจากยางรถยนต์เยอะเป็นอันดับ 2 ในมหาสมุทร ที่ Tyre Collective เราใช้แนวคิดของความยั่งยืนและการหมุนเวียนเป็นหลักสำคัญในการออกแบบอุปกรณ์เพื่อดักจับไมโครพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง”


หลังจากใช้งานแล้ว อุปกรณ์สามารถนำมารีไซเคิลและรียูสสำหรับล้อหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ได้อีกด้วย แม้กระทั่งนามบัตรของสมาชิก Tyre Collective ก็พิมพ์โดยน้ำหมึกที่ผลิตจากฝุ่นไมโครพลาสติกจากยาง รวมไปถึงอุปกรณ์การใช้งานอื่น ๆ เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ ฉนวนกันเสียง และกระบวนการผลิตยางใหม่ พวกเขามีเป้าหมายคือการสร้างระบบหมุนเวียนที่สมบูรณ์แบบ

การวิจัยล่าสุดของสถาบันวิจัยอากาศแห่งนอร์เวย์เปิดเผยว่าอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กกว่า 200,000 ตันถูกพัดจากถนนสู่มหาสมุทรทุกปี ปัญหาอาจเลวร้ายลงจากการที่สหราชอาณาจักรมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่มีแนวโน้มจะเพิ่มการสึกหรอของล้อยานยนต์มากกว่าเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันเบนซินหรือดีเซล

นวัตกรรมดักจับอนุภาคไมโครพลาสติกนี้ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ จากการเข้าประกวด James Dyson award ระดับนานาชาติ ซึ่งประกาศผลเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา โดยได้รับรางวัลมูลค่า 5,000 ปอนด์ (ประมาณ 200,000 บาท)

James Dyson award จัดการประกวดเป็นปีที่ 16 ใน ค.ศ. 2020 นี้ ดำเนินการใน 27 ประเทศทั่วโลก สำหรับนักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาในปีนั้น ๆ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบอุตสาหกรรม และวิศวกรรม James Dyson เป็นสัญลักษณ์และรางวัลสำหรับการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ที่มุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ


ที่มา


เรื่องโดย