“Bushido: The Soul of Japan” หรือ “บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น” ของ “นิโตเบะ อินาโซะ” (ค.ศ. 1862 ถึง 1933) ตีพิมพ์และเผยแพร่ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1900 หนังสือเล่มนี้เปลี่ยนการรับรู้เกี่ยวกับชาวญี่ปุ่นในสายตาประชาคมโลกผ่านจิตวิญญาณของซามูไร
“BUSHIDO” หนังสือที่บอกเล่าถึงจิตวิญญาณของซามูไร
The Last Samurai หรือ มหาบุรุษซามูไร คือมหากาพย์ภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่โด่งดังไปทั่วโลก บอกเล่าเรื่องราวของ “คัตสึโมโตะ” ซามูไรกบฏที่อุทิศชีวิตเพื่อต่อสู้กับกองกำลังที่เขาเชื่อว่ากำลังทำลายคุณค่าดั้งเดิมของญี่ปุ่น ดังที่เห็นผ่านสายตาของ “เนธาน อัลเกรน” กัปตันกองทัพสหรัฐฯ ผู้ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นให้ช่วยต่อสู้กับกลุ่มกบฏ แต่เขากลับถูกจับไปเป็นเชลย
ในสายตาของอัลเกรน คัตสึโมโตะและกลุ่มซามูไรกบฏ เป็นตัวอย่างของนักรบผู้มีเกียรติ กล้าหาญ ทุ่มเทให้กับหน้าที่ และมีระเบียบวินัย ขณะเดียวกันพวกเขาสุภาพและมีเมตตาต่อเชลย หลังจากอัลเกรนได้เห็นวิถีชีวิตอันน่านับถือของซามูไร เขาเปลี่ยนความคิดจากที่จะต่อสู้กับกบฏเป็นช่วยเหลือคัตสึโมโตะในภารกิจที่ต้องเผชิญหน้ากับความตาย
ตั้งแต่ภาพยนตร์ระดับบล็อกบลัสเตอร์ของฮอลลีวูดไปจนถึงละครโทรทัศน์ของญี่ปุ่น ซามูไรถูกวาดภาพให้เห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า เป็นแบบอย่างของความเป็นเลิศทางร่างกายและความถูกต้องทางศีลธรรม ซึ่งเกียรติยศและความภักดีมีค่ามากกว่าชีวิต
แม้ภาพของซามูไรนี้จะไม่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์นัก แต่ก็ยังคงฝังแน่นอยู่ในจินตนาการซึ่งยังเป็นที่นิยม จากส่วนเล็กน้อยอย่างหนังสือเล่มเล็กที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษในช่วงเปลี่ยนศตวรรษที่ 20 โดย “นิโตเบะ อินาโซะ”
“Bushido: The Soul of Japan” หรือ “บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1900 และกลายเป็นหนังสือขายดีระดับนานาชาติในสมัยนั้นที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำ โดยเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือชุด Penguin’s Great Ideas
แม้ว่า Bushido: The Soul of Japan จะเป็นหนึ่งในหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับ “Bushido” ที่มีอยู่มากมาย (อย่าง Bushido: The Way of the Samurai หรือ บูชิโด: วิถีนักรบ) แต่หนังสือของอาจารย์นิโตเบะยังคงเป็นแหล่งข้อมูลที่มีอิทธิพลมากที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจระบบคุณค่าของซามูไรที่ยังคงแทรกซึมอยู่ในสังคมญี่ปุ่นหลายแง่มุมจนถึงทุกวันนี้
เกียรติยศของซามูไรที่มิอาจล้มล้างได้
นิโตเบะ เป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์ด้านเกษตร นักการศึกษา นักการทูต และอดีตชาวเควกเกอร์ (Quaker) ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสันนิบาตชาติระหว่างปี ค.ศ. 1919 ถึง 1929 เขาพยายามอธิบายให้ชาวตะวันตก (รวมถึงแมรี่ ภรรยาชาวอเมริกันเควกเกอร์) ถึงคุณค่าทางศีลธรรม ที่เป็นรากฐานของวัฒนธรรมชาวญี่ปุ่น
นิโตเบะ นำค่านิยมเหล่านั้นไปโยงกับ “Bushido” ซึ่งเขาให้คำจำกัดความว่า “เป็นหลักศีลธรรมของซามูไร” Bushido (ตามคำนิยามของนิโตเบะ) สอนให้ซามูไรมีความสำนึกในความยุติธรรมและความกล้าหาญที่จะดำเนินความยุติธรรมนั้น เป็นการสั่งสอนให้มีความเมตตากรุณาและสุภาพอ่อนโยน ให้เกียรติและภักดีต่อผู้มีอำนาจที่เหนือกว่า
ใจความตอนหนึ่งในหนังสือเขียนว่า “The sense of honour, implying a vivid consciousness of personal dignity and worth, could not fail to characterise the samurai…” หรือ “ความสำนึกในศักดิ์ศรีและคุณค่าของมนุษย์ คือเกียรติยศของซามูไรที่มิอาจล้มล้างได้…”
อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงนั้นแตกต่างไปบ้าง และนักประวัติศาสตร์ได้วิจารณ์ว่า คำอธิบายซามูไรของนิโตเบะนั้นเป็นเรื่องโรแมนติกเกินไป!
สเวน ซาเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นสมัยใหม่ แห่งมหาวิทยาลัยโซเฟียในโตเกียว กล่าวว่า “ซามูไรและไดเมียว (ขุนนางศักดินา) ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติและภักดีจริง ๆ หากมีโอกาสพวกเขาก็จะฆ่าเจ้านายและเข้ารับตำแหน่งแทน”
จุดที่น่าสังเกตคือ นิโตเบะ ซึ่งมาจากตระกูลซามูไร อ้างว่าทุกคนในญี่ปุ่นมีค่านิยมของซามูไรร่วมกัน เขาเขียนในหนังสือว่า “(The) spirit of bushido permeated all social classes,” หรือ “จิตวิญญาณของบูชิโดแทรกซึมอยู่ในสังคมทุกชนชั้น” ตรงกันข้ามกับคำกล่าวอ้างของเขาเองที่ว่า ในยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603 ถึง 1868) ซามูไรถูกประณามว่า ใช้สิทธิพิเศษไปในทางที่ผิดในช่วงเวลาที่การต่อสู้ของพวกเขาล้าสมัย เนื่องจากความมั่นคงทางสังคมในช่วงสองศตวรรษ
Photo Credit: Samurai in Armour, hand-coloured albumen silver print by Kusakabe Kimbei. J. Paul Getty Museum (object no. 84.XA.700.4.58), digital image courtesy of the Getty’s Open Content Program
อย่างไรก็ตาม จุดมุ่งหมายของนิโตเบะในการเขียนหนังสือ ไม่ใช่เพื่อเล่าเรื่องราวที่ถูกต้องในอดีตของซามูไร แต่เพื่อแสดงให้โลกภายนอกเห็นว่า ญี่ปุ่นมีระบบคุณค่าที่คล้ายคลึงกับศีลธรรมของคริสเตียน ด้วยเหตุนี้ นิโตเบะจึงอ้างอิงปรัชญาและวรรณกรรมของยุโรปอย่างต่อเนื่องและเปรียบ “Bushido” เป็น “อัศวินแห่งยุโรป”
จากข้อมูลของศาสตราจารย์ซาเลอร์ นิโตเบะพยายามที่จะต่อต้านการเหยียดสีผิวและความกลัวในแนวคิดเรื่อง “Yellow Peril” ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติที่ใช้แทนความหวาดกลัวและการดูแคลนคนเอเชียในช่วงร้อยปีของประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ของซามูไรว่า ไม่เพียงแต่กล้าหาญเท่านั้นแต่สุภาพและอ่อนโยนด้วย
เพียงสี่ปีก่อนตีพิมพ์หนังสือ ญี่ปุ่นได้รับชัยชนะในสงครามต่อต้านจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1894 ถึง 1895 ความสำเร็จทางทหารครั้งนั้น ทำให้มหาอำนาจตะวันตกในเวลานั้นตกตะลึง จากนั้นก็ตามมาด้วยชัยชนะของญี่ปุ่นในสงครามรัสเซีย – ญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1904 ถึง 1905
เสียงสรรเสริญหนังสือของ นิโตเบะ อินาโซะ
หนังสือของนิโตเบะมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบโต้ความกลัวที่ว่า วันหนึ่งญี่ปุ่นจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อยุโรป และ “สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่เข้มแข็งทางทหาร แต่มีอารยธรรมในสงคราม” ซาเลอร์ กล่าว
ตามที่ เอริ ฮตตะ นักประวัติศาสตร์และนักเขียนหนังสือเรื่อง 1941: Countdown to Infamy ระบุว่า “มีความพยายามที่จะวางญี่ปุ่นให้เท่าเทียมกับชาติมหาอำนาจตะวันตก เพื่อที่พวกเขาจะได้เรียกร้องสิทธิในการเป็นเจ้าอาณานิคม”
เสียงแซ่ซ้องจากนานาชาติที่มีต่อหนังสือของเขาแสดงให้เห็นว่า นิโตเบะประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของเขาในการบันทึกคุณค่าของญี่ปุ่น และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศในตะวันตกดีขึ้นในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นหลังจากได้รับชัยชนะทางทหารเหนือจีนและรัสเซีย หนังสือของนิโตเบะเป็นที่ต้องการในหมู่นักอ่านชาวตะวันตก ที่ทั้งประทับใจและประหลาดใจกับการเติบโตอย่างน่าทึ่งของญี่ปุ่น
สำหรับนักอ่านชาวตะวันตก ความกล้าหาญ ความถูกต้องทางศีลธรรม และคุณค่าอื่น ๆ ของ “Bushido” ที่อธิบายไว้ในหนังสือของนิโตเบะ ได้ให้คำอธิบายที่น่าสนใจว่า ประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่เป็นที่รู้จักนี้สามารถเอาชนะเพื่อนบ้านที่เหนือกว่าและดูเหมือนมีอำนาจมากกว่าได้อย่างไร
“หนังสือของนิโตเบะเสนอวิธีอธิบายที่มาของอำนาจที่เพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น” แลนซ์ กัทลิงก์ ผู้เขียน The Kanō Chronicles กล่าว “มันเป็นหนังสือตะวันตกเล่มแรก ๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นและขายได้อย่างถล่มทลาย”
เสน่ห์ของ “Bushido” ในฐานะจริยธรรมอันดีงามยังดึงดูดความสนใจของ ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น โดยในจดหมายถึงนักการทูตและนักการเมือง เคนทาโร คาเนโกะ ลงวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1904 รูสเวลต์เขียนว่า “ผมประทับใจมากที่มีหนังสือบูชิโดเล่มเล็กนี้ ผมเรียนรู้ไปไม่น้อยจากสิ่งที่ได้อ่านเกี่ยวกับจิตวิญญาณซามูไรที่ดี…”
ด้าน โรเบิร์ต เบเดน พาวเวลล์ ผู้ให้กำเนิดลูกเสือโลก ระบุว่า “จุดมุ่งหมายประการหนึ่งของโครงการลูกเสือคือ การรื้อฟื้นกฎบางอย่างของอัศวินในสมัยก่อนเพื่อให้เกิดศีลธรรมในเผ่าพันธุ์ของเรา เช่นเดียวกับ ‘Bushido’ ซึ่งได้ทำไปแล้วและยังคงทำเพื่อญี่ปุ่น” ในทางตรงกันข้าม หนังสือเล่มนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในญี่ปุ่นว่า “ไม่ถูกต้อง” ตามที่ โอเล็ก เบเนช (Oleg Benesch) กล่าวไว้ในหนังสือ Inventing the Way of the Samurai
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในระดับนานาชาตินี้ได้รับการเฉลิมฉลองในญี่ปุ่น และด้วยการปลูกฝังแนวคิดที่ว่า ความชอบธรรมของญี่ปุ่นทำให้ได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าร่วมกลุ่มประเทศอาณานิคมตะวันตก “หนังสือของนิโตเบะทำให้ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าพวกเขาล้วนเป็นผู้สืบทอดคุณค่าที่เหนือกว่าและพวกเขามีการอ้างสิทธิ์ในการแก้ไขความผิด” ฮตตะตั้งข้อสังเกต “มันสำคัญต่อภาพลักษณ์ของญี่ปุ่น”
เบเนชกล่าวว่า “หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ‘Bushido’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทหารของญี่ปุ่นได้กลายเป็น ‘เป้าหมายของความไม่พอใจ’ ในญี่ปุ่น”
“Bushido” ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นและหนังสือของนิโตเบะได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติอีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ 1980 เมื่อโลกพยายามทำความเข้าใจที่มาของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของญี่ปุ่น
ลี เตง หุ่ย (Lee Teng-hui) อดีตประธานาธิบดีไต้หวันผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้เตือนประชาชนชาวญี่ปุ่นถึงความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ในบันทึกประจำปี ค.ศ. 2006 ซึ่งมีรายละเอียดว่า หนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลต่อชีวิตและความคิดของเขาอย่างไร
ค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความสนใจที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ แล้ว นิโตเบะและหนังสือที่ขายดีที่สุดของเขาก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นที่รู้จักของสาธารณชนในญี่ปุ่นอีกต่อไป แม้แต่คนที่จำนิโตเบะได้ก็ยังระบุว่าเขาเป็นผู้ที่มีใบหน้าอยู่บนธนบัตร 5,000 เยน ระหว่างปี ค.ศ. 1984 ถึง 2004
ค่านิยมหลายอย่างที่เขาระบุว่าเป็นคำสอนของ “Bushido” ทั้งความสุภาพต่อผู้อื่น การเคารพให้เกียรติมนุษย์ การควบคุมตนเองและความภักดีต่อผู้มีอำนาจที่สูงกว่า ยังคงเป็นหัวใจหลักในมุมมองของชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เหมาะสม นอกจากนี้ “Bushido” ยังเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในวงการกีฬา โดยทีมเบสบอลแห่งชาติญี่ปุ่นมีชื่อเล่นว่า “Samurai Japan” และเรียกทีมฟุตบอลชายประจำชาติว่า “Samurai Blue”
ความแพร่หลายของค่านิยม “Bushido” ในสังคมญี่ปุ่น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลที่ยังคงมีอยู่ของ “ลัทธิขงจื้อ” มากกว่าหนังสือของนิโตเบะ ตามที่ ยูกิโกะ ยูอะสะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย Teikyō Heisei ในโตเกียว ระบุว่า “คำสอนหลายอย่างที่ปรากฏในหนังสือของนิโตเบะเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมของชาวญี่ปุ่น ดังนั้นผู้คนจึงไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับค่านิยมเหล่านั้น”
อย่างไรก็ตาม หนังสือของนิโตเบะยังคงให้ข้อมูลแก่โลกภายนอกถึงคุณค่าที่ยังคงเป็นหัวใจหลักของสังคมญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ “Bushido: The Soul of Japan” หรือ “บูชิโด: จิตวิญญาณของญี่ปุ่น” จึงสามารถช่วยหล่อหลอมความเข้าใจของโลกที่มีต่อญี่ปุ่นได้ในอีกหลายปี
เกร็ดความรู้
- “เควกเกอร์” (Quaker) หรือ “สมาคมมิตรสหาย” (Society of Friends) เป็นลัทธิที่ต้องการรื้อฟื้นศาสนาคริสต์แบบดั้งเดิม เน้นประสบการณ์ตรงในการเข้าถึงพระเจ้า โดยใช้แสงสว่างที่เกิดขึ้นภายใน (Inner Light) เริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 17 ในประเทศอังกฤษ โดยจอร์จ ฟอกซ์ (ค.ศ. 1624 ถึง 1691) แต่แพร่หลายในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในรัฐเพนซิลเวเนีย
- “เยลโลว เพอเริล” (Yellow Peril) หรือ “ภัยเหลือง” เป็นศัพท์บัญญัติขึ้นเพื่อใช้แทนความหวาดกลัวและการดูแคลนคนเอเชียในช่วงร้อยปีของประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เริ่มใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1868 เมื่อสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ชาวจีนเข้ามาทำงานที่มีความเสี่ยง และยังสนับสนุนชาวจีนให้ตั้งรกรากในสหรัฐฯ เพราะต้องการแรงงานมหาศาลในการช่วยสร้างประเทศ
ที่มา
- Michiyo Nakamoto. Bushido: The book that changed Japan’s image. https://www.bbc.com/culture/article/20201020-bushido-the-book-that-changed-japans-image