Kind Creatures

หน่วยแมวผู้พิทักษ์ (ไม่ลับ) ของพระราชวังฤดูหนาว


วีรกรรมสุดกล้าหาญของแมวเหมียวสายพันธุ์ไซบีเรียน ทำให้ทางการสร้างสวนสาธารณะขนาดเล็กเอาไว้ใจกลางเมืองตูย์เมน (Tyumen;Тюмень) ประเทศรัสเซีย ซึ่งสวนแห่งนี้รู้จักกันในชื่อ “จตุรัสแมวไซบีเรีย” หากมองไปรอบ ๆ ก็จะเห็นว่าในสวนสาธารณะแห่งนี้มีรูปปั้นครอบครัวแมวเหมียวสีทองตั้งเอาไว้อีกสองสามจุด ซึ่งรูปปั้นที่ทางการนำมาตั้งแต่ละจุดคือ ครอบครัวแมวสายพันธุ์ไซบีเรียนสี่ตัว ด้านบนสุดของรูปปั้นมีแม่แมวกำลังเฝ้ามองลูก ๆ อีกสามตัวปีนป่ายเสาเล่นอย่างสนุกสนาน ขณะที่หลายคนมองว่า สายตาที่จับจ้องลงมาของแม่แมว เหมือนกำลังเฝ้ามองคนที่เดินผ่านไปผ่านมาต่างหาก


สวนสาธารณะและอนุสรณ์สถานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมการปิดล้อมเลนินกราด (Siege of Leningrad; блокадаЛенинграда) เพื่อแสดงความขอบคุณต่อแมวสายพันธุ์ไซบีเรียนที่ทำหน้าที่พิทักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงหลงเหลือมาจนถึงปัจุบัน

พิพิธภัณฑ์ที่ถูกทิ้งร้าง

ปัจจุบันอาคารแห่งนี้ คือ พระราชวังและพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของรัสเซียและของโลก ซึ่งพระนางแคทเธอรีนที่ 2 มหาราช หรือซารีนาแคทเธอรีน (Elizabeth Petrovna; Елизаве́та (Елисаве́т) Петро́вна) ได้สะสมสมบัติส่วนพระองค์ไว้ที่พระราชวังฤดูหนาวหรือเฮอร์มิเทจ ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแห่งนี้

Photo Credit: Daria Shevtsova

แต่หลังจากทนพฤติกรรมสุดเหิมเกริมของหนูในพระราชวังไม่ไหว พระนางจึงได้มีพระราชเสาวนีย์ให้นำแมวขนาดใหญ่ 30 ตัว จากเมืองคาซาน มาทำหน้าที่กำจัดหนูในพระราชวังโดยเฉพาะ หากจินตนาการไม่ออกว่าหนูในพระราชวังเยอะขนาดไหน ต้องขอหยิบยกส่วนหนึ่งในบันทึกของพระนางว่า 

“มีแค่หนูกับฉันเท่านั้นที่สามารถชื่นชมผลงานเหล่านี้ได้”


คงไม่ต้องจินตนาการถึงความน่าปวดหัวของหนูในพระราชวังสุดยิ่งใหญ่แห่งนี้ เพราะจากคำกล่าวของพระนางก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ในพระราชวังมีประชากรหนูมากจนเกินไปจริง ๆ 

ส่วนเหตุผลที่ต้องนำแมวจากคาซานเข้ามายังเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เนื่องจากในสายตาของพระนางเอลิซาเบธมองว่า แมวจากคาซานมีความดุร้ายเป็นอันดับต้น ๆ ของจักรวรรดิรัสเซีย นอกจากกองกำลังแมวจะทำหน้าที่หลักในการกำจัดหนูในพระราชวังแล้ว งานเสริมของแมวสุดโหดเหล่านี้ คือ ทำหน้าที่เฝ้ายามหอศิลป์และห้องใต้ดินของพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจ ซึ่งต้องบอกเลยว่าเป็นหน้าที่อันหนักอึ้งเลยทีเดียว เพราะเฮอร์มิเทจได้รับการยกย่องให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และหากต้องการเดินเยี่ยมชมงานศิลปะทุกชิ้นในพระราชวังต้องบอกก่อนเลยว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีในการเยี่ยมชม เพราะที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมผลงานศิลปะไว้มากถึงสามล้านชิ้นด้วยกัน!


ไม่ว่าจะเป็นหนูท่อหรือหนูบ้าน หน่วยแมวผู้พิทักษ์สุดแกร่งกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ท้อถอย พวกเขาพร้อมจะบุกยึดพื้นที่พระราชวังเดิมของพระนางเอลิซาเบธกลับคืนมาทุกเมื่อ และหากย้อนกลับไปดูความพยายามในการกำจัดหนูของชาวรัสเซียตั้งแต่ในช่วงการรุกรานของนโปเลียน (ค.ศ. 1803–1815) การปฏิวัติบอลเชวิค (ค.ศ. 1917-1923) และภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต ประเทศหลังม่านเหล็กสุดแกร่งแห่งนี้ก็ไม่อาจต้านทานการรุกรานของหนูได้ ไม่ว่าจะใช้สารเคมีกี่ชนิดเข้ามาปราบปรามก็ตาม จนกระทั่งมาพบกับกองกำลังแมวแห่งคาซานที่นำเข้ามาเพียงประเดี๋ยวเดียวก็สามารถกำจัดหนูจนอยู่หมัด

Photo Credit: Igor Russak/Sputnik


ในปี ค.ศ. 1941 ช่วงเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งของมีค่าที่ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ถูกขนย้ายออกจากพระราชวังไปยังเทือกเขาอูราลจนเกือบหมด เหลือไว้เพียงทรัพย์สมบัติที่ขนย้ายไม่ทัน และห้องขนาดใหญ่เปล่า ๆ ที่ถูกแปรสภาพให้กลายเป็นห้องหลบภัยจำเป็น ตรงกับช่วงการปิดล้อมเลนินกราด ซึ่งกินเวลาตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 1941 ถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1944 

แต่ก่อนจะสับสนกับชื่อเมืองมากไปกว่านี้ว่า KiNd ต้องขออธิบายเหตุการณ์การปิดล้อมเลนินกราด มันเกี่ยวอะไรกับที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเนจที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เนื่องจากว่าชื่อเมืองแห่งนี้ถูกเปลี่ยนมาแล้วถึง 3 ชื่อด้วยกัน แรกเริ่มใช้ชื่อว่า เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (ค.ศ. 1703-1914) ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เปโตรกราด (ค.ศ. 1914-1924) และเลนินกราด (ค.ศ. 1924 -1991) จากนั้นได้กลับมาใช้ชื่อเดิมอีกครั้ง คือ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปี ค.ศ. 1991-ปัจจุบัน 


ระหว่างการปิดล้อมเลนินกราด เมืองแห่งนี้ก็ถูกทิ้งร้างไว้โดยไม่มีกองทัพแมวผู้พิทักษ์คอยปกป้องคลังสมบัติและงานศิลปะอีกต่อไป และด้วยปัญหาการขาดแคลนอาหารทำให้แมวหลายตัวไม่อาจทนต่อความหิวโหยต่อไปได้ ขณะเดียวกันกลุ่มคนที่เหลืออยู่ในเมืองร้างแห่งนี้ก็ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกเช่นกัน ด้วยระยะเวลาการปิดล้อมที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 880 วัน ผู้คนล้มตายเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง ขณะที่อีกส่วนก็ต้องพยายามเอาชีวิตรอดโดยการจับสิ่งมีชีวิตที่หลงเหลืออยู่ในเมืองมาประทังชีวิตไปวัน ๆ ไม่ว่าจะเป็นแมลง หนู หรือแมว ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 632,253 คน

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์เต็มไปด้วยกองทัพหนูอีกครั้ง หลังจากถูกกำราบโดยกองทัพแมวแห่งคาซานไปแล้วรอบหนึ่ง และหลังจากที่ประชากรหนูสามารถยึดคืนฐานทัพชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์กลับมาได้สำเร็จ บรรดาข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ ผนัง สายสื่อสาร และผลงานศิลปะล้ำค่าก็ค่อย ๆ ถูกทำลายลง อีกทั้งยังมีโรคระบาดที่มาจากหนูอีกต่างหาก เรียกได้ว่า ผลงานศิลปะกำลังตกอยู่ในภัยคุกคามอย่างแท้จริง!


ภารกิจแมวเหมียวกับการช่วยปกป้องผลงานศิลปะ

เมื่อผู้คนที่อยู่ในเมืองใกล้เคียงและในภูมิภาคอื่น ๆ ของสหภาพโซเวียต ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพระราชวัง พวกเขาในฐานะพลเมืองของประเทศจึงได้ตัดสินใจที่จะช่วยเมืองแห่งนี้เอาไว้ให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของกองทัพหนู

ในปี ค.ศ. 1943 แมวสีบลูสโมคจากยาโลสลาฟล์ (Yaroslavl; Ярославль) ขุนศึกผู้พิทักษ์ตัวแรกได้รับภารกิจให้เข้ามาปกป้องเมืองที่กำลังล่มลายแห่งนี้เอาไว้ และเมื่อการปิดล้อมถูกทำลายลง นี่จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยเมืองในศึกครั้งนี้ ส่วนขุนศึกแมวเหมียวจากยาโลสลาฟล์ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักจับหนูมือฉมัง ซึ่งความเก่งกาจของมันทำให้ราคาแมวหนึ่งตัวมีราคาสูงกว่าขนมปังก้อนถึง 10 เท่า

ขณะที่เสบียงอาหารในเมืองที่ถูกปิดล้อมนั้นขาดแคลนอย่างหนัก แต่การไร้แมวผู้พิทักษ์ก็ทำให้เกิดปัญหาใหญ่เช่นกัน


หนึ่งในจุดรวมพลแมวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์รัสเซีย ตั้งอยู่ที่เมืองตูย์เมน ประชาชนผู้อยู่อาศัยในเมืองไซบีเรียต่างพร้อมใจกันส่งแมวประจำบ้านมาที่เมือง หลังจากนั้นทางการจะขนย้ายกองกำลังเสริมสี่ขาไปยังเลนินกราดต่อไป แม้จะเป็นการจากลาที่ทำใจได้ยาก แต่เพื่อปกป้องบ้านเมืองและพระราชวังเอาไว้ พวกเขาก็พร้อมสละสัตว์เลี้ยงแสนรักเพื่อปกป้องประเทศไม่ให้ล่มสลาย

หลังสงครามสงบลง ขบวนรถไฟขนย้ายแมวจำนวน 5,000 ชีวิตจากเมืองตูย์เมน ออมสค์ และอีรคุตสต์ ไปยังเลนินกราด โดยการเดินทางครั้งนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 วัน คงจินตนาการไม่ออกเป็นแน่ว่าความเจ็บปวดที่เจ้าของต้องลาจากสัตว์เลี้ยงที่เขาดูแลมาอย่างดีกับมือ ตอนนี้พวกมันกำลังเดินทางเข้าสู่พื้นที่การปิดล้อมที่ผู้เป็นเจ้าของต่างรู้ดีว่า นี่เป็นตั๋วเที่ยวเดียว และจะไม่มีวันได้เจอเพื่อนสี่ขาของพวกเขาไปตลอดกาล

แผนการการส่งหน่วยแมวผู้พิทักษ์ก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี กองทัพหนูที่เคยยึดครองพื้นที่ห้องใต้ดินของพระราชวังถูกกำจัดอย่างรวดเร็ว และด้วยวีรกรรมสุดกล้าหาญของบรรพบุรุษแมวเหมียว ทำให้ลูกหลานของพวกเขายังคงได้รับหน้าที่ในการพิทักษ์ดูแลพระราชวังแห่งนี้ต่อไป แม้จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษให้เดินตรวจตราพระราชวังทุกชั้นก็ตาม ปัจจุบันลูกหลานผู้พิทักษ์กลุ่มนี้ยังคงทำหน้าที่ปกป้องห้องชั้นใต้ดินของพระราชวังอย่างเต็มกำลัง


นอกจากอนุสาวรีย์แมวเหมียวที่ถูกสร้างขึ้นในเมืองตูย์เมนแล้ว ทางการยังได้สร้างอนุสาวรีย์แมวเหมียวผู้พิทักษ์พระราชวังในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเช่นกัน ตั้งอยู่บนถนนคนเดิน Malaya Sadovaya และหากสังเกตดูดี ๆ ก็จะเห็นรูปปั้นทองสัมฤทธิ์ของเจ้าเหมียวสองตัวชื่อ Yelisey และ Vasilisa คอยทำหน้าที่ต้อนรับเหล่าผู้มาเยือนอยู่เสมอ


ที่มา

  • Anna Sorokina. How Siberian cats saved the Hermitage. www.rbth.com/
  •  อมรรัตน์ นุกูล. ถึงเธอ เฮอร์มิเทจ พิพิธภัณฑ์แห่งกรุงเซนปีเตอร์เบิร์ก. https://db.sac.or.th/museum/knowledge/36

เรื่องโดย