Kind Health

“แป้งจิ้งหรีด” แป้งเบเกอรี่ทางเลือกใหม่ที่นอกจากอุดมไปด้วยโปรตีนแล้ว ยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย!

ต้องยอมรับเลยว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหารของคนไทยนั้นมีมากเหลือเกิน แต่ถึงอย่างไรการทานแมลงร่วมกับอาหารมื้อหลักอาจจะยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่นักสำหรับคนไทย

โดยเฉพาะ “จิ้งหรีด” แมลงที่ใครหลายคนคงไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเป็นหนึ่งในอาหาร Super Food ที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ยกให้เป็นแหล่งโปรตีนจากสัตว์ที่มีประสิทธิภาพสูงและยั่งยืน (Sustainable) แต่การจะจับจิ้งหรีดมาผัด ทอด คั่ว หรือต้ม คงจะเป็นอะไรที่ธรรมดาเกินไป

KIND HEALTH จึงอยากแนะนำ “แป้งจิ้งหรีด” หนึ่งในส่วนประกอบการทำอาหารที่จะทำให้ทุกเมนูของคุณพิเศษขึ้นกว่ามื้อไหน ๆ 

แป้งจิ้งหรีด – ส่วนประกอบอาหารแห่งโลกอนาคต

หากจะบอกว่าแมลงเป็นเมนูแปลกใหม่ที่ไม่คุ้นตาของคนไทยคงไม่ใช่เรื่องจริง เพราะในประเทศไทยเราสามารถมองหารถเข็นขายแมลงทอดได้ง่าย ๆ ดังนั้นเหล่าเมนูที่รังสรรค์มาจากแมลงจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด แต่เราก็ต้องขอยกแป้งจิ้งหรีดว่าเป็นหนึ่งใน “ของใหม่” ที่ไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่าไหร่นัก (ถึงแม้ว่าจะมีมานานหลายปีแล้วก็ตาม)

ซึ่งในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา มีร้านอาหารที่ทำจากแมลงราว 110 ร้าน ใน 16 รัฐ และได้นำแมลงมาสร้างสรรค์เป็นเมนูสุดครีเอท ไม่ว่าจะเป็น โปรตีนบาร์ที่ทำจากแมลง คุกกี้ที่ทำจากแป้งจิ้งหรีด จิ้งหรีดโรยเกลือเคลือบช็อคโกแลต ไส้เดือนรสจัด ไปจนถึงการนำแมลงไปเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม เช่น หนอนแช่เตกีล่า และแน่นอนว่าแป้งจิ้งหรีดก็ได้รับความนิยมในการนำมาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในอุตสาหกรรมอาหารไม่น้อยเลยทีเดียว

ถึงแม้ว่าการนำแป้งจิ้งหรีดมาเป็นส่วนประกอบของเบเกอรี่จะยังไม่เป็นที่นิยมในบ้านเราเท่าไหร่นัก อีกทั้งความนิยมในการรับประทานอาหารจากแมลงยังคงจำกัดอยู่เพียงเฉพาะกลุ่ม และหลายคนคงมองว่าแมลง โดยเฉพาะแป้งจิ้งหรีดจะมาเป็นส่วนประกอบหนึ่งในอาหารของโลกอนาคต หากแต่เราจะบอกว่า ไม่ต้องรอถึงอนาคต เพราะโลกอนาคตที่ว่าได้เคลื่อนเข้ามาสู่ปัจจุบันแล้ว

ขณะที่หลายประเทศเองก็ได้นำแมลงและแป้งจิ้งหรีดมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ร้านอาหารชื่อ Gourmet Grubb’s The Insect Experience ตั้งอยู่ที่ย่านวู๊ดสต็อก เมืองเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ และร้านอาหารประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างกัมพูชาก็มีร้านอาหารชื่อ Bugs Café ได้นำแมลงมาเสิร์ฟเป็นอาหารจานหลักเช่นกัน

ส่วนในประเทศไทยร้านอาหารชื่อดังอย่าง Insects in the Backyard ร้านอาหารแมลงแห่งแรกในเมืองไทย ตั้งอยู่ที่โครงการช่างชุ่ย ก็ได้รังสรรค์เมนูอาหารที่คัดสรรแมลงแต่ละชนิดนำมาปรุงเป็นอาหารเลิศรส โดยแต่ละจานก็มีความพิเศษเฉพาะตัวที่เรียกได้ว่าไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใครอย่างแน่นอน

แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งเลยว่าการจะลบภาพจำของแมลงออกไปทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการนำจิ้งหรีดมาแปรรูปมาอยู่ในลักษณะผงแป้ง คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์จากแมลงได้ง่ายขึ้น โดยกระบวนการแปรรูปเป็นแป้งนั้น คือการนำจิ้งหรีดมาอบแห้ง แล้วนำมาบดเป็นผงละเอียด และนำไปเป็นส่วนผสมของอาหารได้แทบทุกชนิด เช่น เค้ก คุกกี้ มักกะโรนี พิซซ่า ซีเรียลบาร์ อีกทั้งยังสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารเสริม เครื่องดื่มโปรตีน เพราะแป้งที่ได้จากจิ้งหรีดจะมีลักษณะเหมือนเวย์โปรตีน

ดังนั้นแป้งจิ้งหรีดจึงเป็นที่นิยมในวงการอุตสาหกรรมอาหารที่ชูเรื่องแมลงเป็นอย่างมาก ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากการรับประทานแมลง โดยเฉพาะ “จิ้งหรีด” นอกจากจะเป็นแมลงที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ยกให้เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนแล้ว จิ้งหรีดยังมีกรดอะมิโน (Amino acid) แมกนีเซียม (Magnesium) วิตามินบี 12 (Vitamin B12) โอเมก้า-3 (Omega 3) และเส้นใยอาหารที่เรียกว่าไคติน (Chitin)

และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณโปรตีนที่ได้รับจากจิ้งหรีด โดยเทียบปริมาณโปรตีนจากเนื้อหมูและเนื้อปลาในน้ำหนัก 100 กรัมเท่ากัน พบว่า จิ้งหรีดตัวเล็ก ๆ ที่เห็นนี้ให้โปรตีนมากถึง 8-25 กรัม ขณะที่เนื้อหมูให้โปรตีน 19-26 กรัม และปลา 16-28 กรัม (FAO and Wageningen UR present a Global Conference “Insects to feed the world” May 14- 17, 2014) หรืออาจจะเปรียบเทียบง่ายกว่านั้นหน่อย คือ จิ้งหรีดเพียงแค่ 3 ขีด สามารถให้โปรตีนเท่ากับเนื้อ 1 กิโลกรัม


ฟาร์มจิ้งหรีดระบบปิดใหญ่ที่สุดในโลก

ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์แมลงมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และเพื่อตอกย้ำความหลากหลายทางชีวภาพนี้ บริษัท คริกเกท แลบ จำกัด (Cricket Lab Co., Ltd.) จึงได้เลือกสถานที่ที่เหมาะแก่การตั้งฟาร์มมากที่สุดอย่าง “เชียงใหม่” เปิดฟาร์มจิ้งหรีดระบบปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกขึ้น และยังเป็นโรงงานผู้ผลิตผงโปรตีนจากจิ้งหรีดตามมาตรฐานยุโรป

จิ้งหรีดจะถูกเลี้ยงในฟาร์มพาณิชย์ระบบปิด โดยวางกล่องเลี้ยงในกล่องแนวตั้งสูงถึง 6 เมตร และควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และความสะอาด รวมถึงดูแลเรื่องอาหารการกินเป็นอย่างดี โดยเลือกเกรดอาหารเป็นอาหารอินทรีย์ และน้ำที่ใช้เลี้ยงจิ้งหรีดเป็นแบบ UV Filter ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับน้ำที่คนบริโภค และทางฟาร์มก็ได้ปฏิบัติให้สอดคล้องตามมาตรฐาน Good Agriculture Practice หรือ (GAP) นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ช่วยยกระดับฟาร์มจิ้งหรีดในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับระดับโลก 

KIND HEALTH เชื่อว่าหากคุณลองเปิดใจ ไม่แน่ว่าแป้งจิ้งหรีดอาจจะกลายมาเป็นหนึ่งในโภชนาการทางเลือก เป็น Super food อาหารเปี่ยมคุณค่าที่คุณต้องมีติดตู้กับข้าว เป็นอาหารสามัญประจำบ้าน… ก็เป็นได้


อ้างอิง

  • สยามรัฐ. โปรตีนแห่งอนาคต วัตถุดิบใหม่ในการผลิตอาหารยุคปัจจุบัน. https://siamrath.co.th/n/164916
  • CRICKET LAB INSECT FRASS. Thecricketlab.com
  • นพพร โต๊ะมี. แนวทางปฏิบัติในการใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด. http://certify.dld.go.th
  • Insects to feed the world. Researchgate
  • อาหารเพื่อสุขภาพ (โปรตีนบาร์) จากผงจิ้งหรีดบดละเอียด. www.ditp.go.th
  • From a cricket farm in Thailand to insect snacks in Europe. www.foodnavigator.com