Kind Words

ร้านหนังสืออิสระ | มองมุมกลับ แต่ (ไม่) ปรับตัวตน

“ฉันอยู่มาทุกยุคก็มีคนบอกป่าวประกาศว่าร้านหนังสือจะตายทุกยุคนั่นแหละตั้งแต่ยุคที่มีซีดีรอมใหม่ๆยุคที่เริ่มนิยมออดิโอบุ๊ก (หนังสือเสียง) ยุคอีบุ๊กยุคอเมซอนจนมาถึงยุคนี้แต่ร้านหนังสือก็ยังไม่ตายเสียที

– Donna Paz Kaufman ผู้เชี่ยวชาญด้านร้านหนังสืออิสระ –

ฝ่ากระแสยุคดิจิทัล เมื่อคนรักหนังสือยังยืนหยัดในจุดยืนเดิม ที่เพิ่มเติมคือการปรับมุมมองใหม่ที่แตกต่าง ร้านหนังสืออิสระในประเทศไทยช่วง 3-4 ปีมานี้ เรียกได้ว่าอยู่ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของสื่อดิจิทัล ซ้ำยังมาเจอกับช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาด หน้าร้านรวงหนังสือต่างต้องปิดตัวลงกันชั่วคราว หรือบางแห่งต้องปิดตัวลงอย่างถาวร แต่หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายร้านหนังสืออิสระส่วนใหญ่ก็กลับมาเปิดให้บริการตามปกติ สิ่งที่น่าสนใจคือ ? 


ทำไม ? ถึงยังเปิดร้านหนังสืออิสระ ณ ขณะที่สื่อดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทในทุกหย่อมย่านของสังคม ทั้งยังถาโถมด้วยคลื่นวิกฤตโควิด-19 ที่เริ่มปะทุ

KiNd ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “แน็ค-วีรวรรธน์ สมนึก” หนึ่งในเจ้าของร้านหนังสือ “Abdul Book” ร้านหนังสืออิสระน้องใหม่ ย่านใจกลางเมืองขอนแก่น ที่เพิ่งเปิดตัวไปหมาด ๆ เมื่อต้นปี 2020 ในเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงที่โควิด-19 กำลังเริ่มระบาด เราถามเขาด้วยคำถามที่ว่า

“เหมือนเรากำลังจะทำในสิ่งที่ผิดมากๆเพราะคนอ่านออนไลน์เยอะขึ้นแน่นอน แต่เราก็ยังเชื่อว่าคนที่ยังอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษก็ยังมีอยู่ซึ่งเรายังหาไม่เจอมากกว่า ส่วนตัวเราแม้ว่าเราเป็นนักข่าวอิสระที่ทำงานผ่านการเผยแพร่ลงสื่อออนไลน์ แต่เหมือนเวลาเราอ่านหนังสือเราก็ยังอยากอ่านที่เป็นกระดาษ เราทิ้งไม่ได้ เราเสพติดการอ่านกระดาษไปแล้ว เสน่ห์ของหนังสือเล่มคือเราได้อ่านได้สัมผัสได้พกติดตัวไปด้วย”

จากคำบอกเล่าข้างต้นต้องยอมรับโดยปริยายว่า สื่อดิจิทัลกลายเป็นส่วนหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนไทยในปัจจุบันไปแล้ว เพราะแทบทุกคนนั้นล้วนแต่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน หรือแล็ปท็อป วิถีการอ่านหนังสือจึงปรับเปลี่ยนไปตามแพลตฟอร์ม

แต่จุดยืนของ แน็ค-วีรวรรธน์ หนึ่งในเจ้าของร้านหนังสืออิสระ และกลุ่มเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้ง Abdul Book ก็ยังยืนกรานที่จะเปิดร้าน เปิดพื้นที่ให้คนที่สนใจในแวดวงวรรณกรรมเช่นเดียวกับเขา เข้ามาใช้บริการพื้นที่นี้เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวซึ่งกันและกัน

และไม่ว่าสถานการณ์ของโควิด-19 จะเข้ามาส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด แต่พวกเขาก็ยังหยัดยืนในจุดยืน และยึดมั่นในความรักที่มีต่อหนังสือ พร้อมขับเคลื่อนอุดมการณ์ และแรงบันดาลใจของเขาและเพื่อนต่อไป

มองมุมกลับ – ปรับมุมมอง พร้อมกระโดดเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ แบบไม่ทิ้งตัวตน

เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ถาโถมเข้ามา ทำให้รัฐบาลออกนโยบายให้ประชาชนหยุดอยู่บ้าน Stay home และใช้วิธีการทำงานแบบ Work from home เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาด และปิดให้บริการสถานที่บางแห่ง ร้านค้าต่าง ๆ รวมถึงร้านหนังสืออิสระด้วยเช่นกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เจ้าของร้านต้องผันตัวจากการขายหนังสือในวิถีเดิม ๆ คือการให้ลูกค้าเข้ามาที่ร้าน เป็นการก้าวเข้าสู่สื่อออนไลน์ โดยขายหนังสือ และส่งหนังสือไปให้ลูกค้าแทน ร้าน Abdul Book ก็เช่นกัน สำหรับมุมมองเรื่องนี้คุณแน็คให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“ด้วยความที่เราทำสื่อมาด้วย เราก็พอรู้ว่าจะไปในคลื่นกระแสเรื่องราวแบบไหน เราก็มานั่งคิดว่าคนจะมาร้านไม่ได้แล้ว และช่องทางออนไลน์ก็คือคำตอบ เราจึงหยิบยกเรื่องการรีวิวหนังสือมาทำอย่างจริงจังมากขึ้น ต้องทำให้ได้ทุกวันเหมือนเป็นการแสดงให้คนเห็นว่าร้านยังเคลื่อนไหวอยู่ พอเป็นการขายในรูปแบบออนไลน์ เราก็ต้องบอกเขาว่ามันมีค่าจัดส่งนะ ซึ่งจากเดิมที่เราคิดว่าคนต้องมาร้านหนังสือ ต้องมาพูดคุยกัน แต่ตอนนี้คุยกันในอินบ็อกซ์มากขึ้น การส่งก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบ การห่อมีส่งโปสการ์ดแถมให้ เพื่อเพิ่มกิมมิคในการสร้างให้คนประทับใจ จะเรียกว่าเป็นการดิ้นรนก็ได้นะ”

นอกจากนี้ยังมีร้านหนังสืออิสระอื่น ๆ อีกเช่นกันที่เข้ามาสู่การขายออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขาย อาทิ The book smith ร้านหนังสืออิสระที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยผลกระทบจากโควิดทำให้ต้องปรับเปลี่ยนมาเพิ่มช่องทางการขายผ่านเว็บไซต์อย่างจริงจัง (www.thebooksmith.co.th) และ Candide Books ร้านหนังสือแถวคลองสานแม้ว่าร้านหนังสือก็องดิดจะมีการเปิดเว็บไซต์ออนไลน์อยู่แล้ว (www.candidebooks.com) แต่ก็ไม่ได้เน้นการขายมากนัก พอทุกอย่างถูกจำกัดให้ต้องใช้พื้นที่ออนไลน์อย่างเต็มตัว เจ้าของร้านจึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับส่วนนี้อย่างจริงจัง 

แม้ว่าร้านหนังสืออิสระหลายร้านจะเลือกใช้สื่อออนไลน์ในการขยายช่องทางการขาย ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือเฟสบุ้ค แต่ก็ยังไม่ละทิ้งตัวตนของความเป็นร้านหนังสืออิสระคือ การเชื่อมความสัมพันธ์กับลูกค้า ความรู้รอบของคนขายหนังสือ การมีปฎิสัมพันธ์กัน หรือทำกิจกรรมร่วมกัน เรียกได้ว่าเสน่ห์ของร้านหนังสืออิสระก็ยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน 

ตรงกับนิยามที่ สิรินันท์ ห่อหุ้ม (2556) ให้ความหมายไว้ว่า “ร้านหนังสืออิสระไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ร้านที่เข้ามาซื้อหนังสือ แต่เป็นร้านที่มีเอกลักษณ์ มีความเป็นตัวของตัวเอง สามารถกำหนดรูปแบบของร้านให้สอดคล้องกับนักอ่าน และความต้องการของท้องถิ่นนั้นๆ ได้”

กระแสตอบรับของลูกค้า เมื่อเราเริ่มขยายการขายหนังสือผ่านสื่อออนไลน์

“ร้านหนังสือไม่ได้ทำกำไรมหาศาล เราอยู่ได้ด้วยงานอย่างอื่นด้วย แต่เพราะมันเป็นสิ่งที่เราชอบทำ ยอดขายในช่วงเหตุการณ์วิกฤตถือว่าอยู่ในระดับดี คือขายได้ทุกวัน ตกวันละ 1-2 เล่ม มีบางช่วงที่คนซื้อทีเดียว 5-6 พันก็มี ตลาดออนไลน์มันใหญ่ คู่แข่งเยอะ เราเลยอยากคงความเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด มีคนอินบ็อกซ์มา มีคนมาคอมเม้นต์เรื่อย ๆ ด้วยความที่เราทำงานด้านสื่อสาร เวลาเรารีวิวหนังสือก็จะไม่ใช่แค่รีวิวทั่วไป แต่เรามีสตอรี่บางอย่าง มีกิจกรรมให้คนอ่าน ได้มาร่วมสนุก ซึ่งทำได้โอเคเลย ผลตอบรับค่อนข้างดี”

เมื่อร้านหนังสืออิสระกล้าก้าวออกมาจาก Comfort Zone สิ่งต่อไปที่กำลังท้าทายคือ ความสามารถในการขายหนังสือผ่านสื่อออนไลน์ พร้อมกับการรักษาอัตลักษณ์ของร้านเอาไว้ การสื่อสารจึงแตกต่างออกไปจากเดิม กระแสตอบรับอาจไม่ใช่แค่การที่ลูกค้าเข้ามาที่ร้านเพื่อซื้อหนังสือ มานั่งพูดคุยกัน หรือเข้ามาที่ร้านเพื่อมาร่วมกิจกรรมงานเสวนา แต่การมีปฏิสัมพันธ์ด้วยการพูดคุยกันผ่านอินบ็อกซ์ พุดคุยกันผ่านคอมเม้นต์ในเฟสบุ้ค หรือเว็บไซต์ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการขยายฐานลูกค้าผ่านสื่อออนไลน์

ชวนมองมุมกว้าง – ความอยู่รอดของร้านหนังสืออิสระในอนาคต

ถ้ามองในมุมของการทำธุรกิจ ร้านหนังสืออิสระสามารถปรับตัวเพื่อเดินทางไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบันได้อย่างแน่นอน ประเด็นแรกคือ เรื่องของสินค้า ต้องยอมรับก่อนว่าหนังสือเล่มเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในตัวเอง  มีคนจำนวนมากที่ยังเลือกเสพหนังสือเล่มมากกว่าสื่อประเภทอื่น ๆ หนังสือจะมีเนื้อหาที่ลึกซึ้งกว่า โดยบรรจุเนื้อหาในอีกรูปแบบหนึ่ง

ประเด็นที่สองคือ ร้านหนังสืออิสระมีเสน่ห์เฉพาะตัวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศ หรือการมีกิจกรรมต่าง ๆ และเราสามารถทำธุรกิจอื่นควบคู่ไปด้วยได้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ร้านหนังสืออยู่รอด ตามที่คุณแน็คให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“ถ้าจะขายหนังสืออย่างเดียวบอกเลยว่าอยู่ยากยากมากเลย เพราะหนังสือต่อเล่มกำไรน้อย ถ้าจะอยู่รอดต้องทำควบคู่ไปกับสิ่งอื่น ทำให้หนังสือเป็นวัฒนธรรมการอ่าน เช่น การจับคู่ร้านหนังสือกับการทำร้านกาแฟ จับคู่กับการขายอุปกรณ์รักษ์โลกต่าง ๆ หรือทำอาชีพที่จะซัพพอร์ตร้านหนังสือ อย่างเราทำงานเป็นนักข่าวอิสระ ทำงานสารคดี แต่มีความฝันทำร้านหนังสือ ก็ต้องจริงจังกับมันมากขึ้นกว่าปกติ”

นอกจากนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิวิชาหนังสือ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม “โครงการวัฒนธรรมร้านหนังสือ” เพื่อช่วยส่งเสริมการขยายร้านหนังสืออิสระให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นทั่วประเทศ และดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคง ชุมชนจะมีแหล่งหนังสือที่ประชาชนมาสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

ลักษณะของกิจกรรมคือ การใช้สมุด “Book passport” ที่สามารถหาซื้อได้จากร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศ โดยให้เราประทับตราเมื่อเราได้เดินทางไปยังร้านหนังสืออิสระนั้น ๆ หากเรามีตราประทับจำนวนมากเท่าใด หมายถึงเราเดินทางไปร้านหนังสืออิสระได้หลากหลายมากเท่านั้น และมีโอกาสชิงรางวัลใหญ่ อาทิ ตั๋วเครื่องบินไปเที่ยว ที่พักโรงแรมต่าง ๆ ทั้งยังเป็นการส่งเสริมมิติด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย

ทยอยเปิดแล้ว ร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศไทย – ชวนคอหนังสือกลับสู่พื้นที่แห่งความรัก

ร้านหนังสืออิสระในประเทศไทยตอนนี้ถือว่ายังมีจำนวนไม่มากนัก หากดูจากข้อมูลการเข้าร่วมกิจกรรมสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระพบว่ามีเพียง 37 ร้าน แต่หากดูข้อมูลจากแผนที่ร้านหนังสืออิสระทั่วประเทศที่ลงทะเบียนใน Google map พบว่ามีจำนวน 84 ร้าน มีทั้งร้านที่เปิดมาแล้วนานหลายปี และร้านที่เปิดตัวมาได้ไม่นาน 

KiNd ขอชวนหนอนหนังสือเดินทางกลับไปสัมผัสประสบการณ์ในแวดวงหนังสืออีกครั้ง เพราะตอนนี้ประเทศไทยเรามีนโยบายคลายล็อคดาวน์ อนุญาตให้ร้านค้าต่างๆ และร้านหนังสือเปิดบริการได้ตามปกติแล้ว

วันนี้ขอแนะนำ 5 ร้านหนังสืออิสระที่เราคัดสรรมาจากทั่วภูมิภาคของประเทศไทย จะมีร้านไหนบ้างไปดูกัน

  1. The Booksmith ร้านหนังสือขนาดกะทัดรัด มีทั้งวรรณกรรมภาษาต่างประเทศ และภาษาไทย ตั้งอยู่บนถนนนิมมานเหมินทร์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ติดต่อได้ที่ช่องทาง Facebook : The Booksmith และ www.thebooksmith.co.th
  2. Abdul Book ร้านหนังสืออิสระน้องใหม่ บุคลิกดั่งชายหนุ่มผู้รอบรู้ ที่ชวนมาอ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิต ตั้งอยู่ที่อำแภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ติดตามได้ที่ Facebook: abdulbooks  
  3. Candide Book & Café โดดเด่นด้วยโลเคชั่นต้นไม้ใหญ่ พร้อมด้วยหนังสือที่ให้เลือกสรรอย่างหลายหลาก ตั้งอยู่ที่ Jam Factory ถนนเจริญนคร ย่านคลองสาน จังหวัดกรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ทาง Facebook: CandideBooks และ www.candidebooks.com
  4. ร้านหนัง (สือ) 2521- Bookhemian ร้านหนังสือในย่านเมืองเก่าภูเก็ต ที่ควบคู่ไปกับการทำร้านกาแฟแนววินเทจ ตั้งอยู่ที่ถนนถลาง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ติดต่อได้ที่ช่องทาง Facebook: bookhemian
  5. ร้านหนังสือสุนทรภู่ Be blossom Book & Tea ร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่มีเอกลักษณ์ ตั้งอยู่ที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง ติดตามได้ทางช่องทาง Facebook: soontornphubookstore


อ้างอิง

  • บทสัมภาษณ์ แน็ค-วีรวรรธน์ สมนึก หนึ่งในเจ้าของร้านหนังสืออิสระ Abdul Book
  • ทีปกร วุฒิพิทยามงคล. ทางเลือก-ทางรอด ของร้านหนังสืออิสระในยุคดิจิทัล. www.matichonweekly.com
  • สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์. อ่าน ‘อยู่ได้’! ในยุคนิวนอร์มอล. www.matichon.co.th
  • ร้านหนังสืออิสระ: ความเชื่อ ความฝัน และ การอ่าน ปาษิณี ปานน้อย วารสารมนุษยสังคมปริทัศน์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 2 ธันวาคม 2558
  • แผนที่ร้านหนังสือิสระทั่วประเทศไทย. hwww.google.com/maps