ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปกรุงเทพฯ
ภายในห้องสี่เหลี่ยมมืดทะมึน เรานั่งบนเก้าอี้ม้านั่งตัวยาวที่ตั้งอยู่ระหว่างจอผ้าบิดเบี้ยวสองจอ ขณะที่แสงโปรเจกเตอร์กำลังสาดส่องทอดยาว เพื่อเล่าเรื่องราวบางอย่างของคู่ชายหญิงในชุดสีหม่น และเวลานั้นเรากับนิทรรศการก็กำลังหลอมรวมเข้าด้วยกัน…
—
ก่อนจะไปถึงตรงนั้น, ก่อนจะเปิดประตูเข้าไปสำรวจ สัมผัส และสดับรับฟัง นิทรรศการ ‘Procession of Dystopia’ ที่ความยาวประมาณ 25 นาที เราขอย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นของนิทรรศการกันก่อน ผ่านการบอกเล่าของ ‘กัณหรัตน์ เลี่ยมทอง’ ภัณฑารักษ์และหัวหน้าฝ่ายกิจกรรมศิลปะประจำหอศิลปฯ ผู้เชื่อมร้อยกระบวนการคร่ำครวญในโลกแร้นแค้นอย่างเอิกเกริก (นิยามสั้น ๆ ที่กัณหรัตน์ให้กับการตั้งชื่อนิทรรศการนี้)
“เพราะโลกดิสโทเปีย(ในประเทศเรา)กำลังขยายใหญ่ขึ้นโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว ซึ่งเรารู้สึกว่าประเด็นนี้น่าสนใจ เลยอยากจะหยิบมาพูดถึง แต่ในนิทรรศการศิลปะส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีงานที่ตั้งต้นมาจากงานเขียน หนนี้ก็เลยเชิญนักเขียน นักทำหนัง และนักออกแบบเสียง มาร่วมประกอบร่างสร้างเป็นโลกใบใหม่ขึ้นมาค่ะ”
ความน่าตื่นตาตื่นใจของนิทรรศการนี้คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของศิลปะแต่ละแขนง ทั้งงานเขียน งานภาพเคลื่อนไหว และงานเสียง ผ่านการเชื่อมร้อยสภาวะดิสโทเปียของศิลปินทั้งสามท่าน เริ่มต้นจาก ‘ฆนาธร ขาวสนิท’ นักเขียนที่ลงมือเขียนเรื่องสั้น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการตีความและกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานให้อีกสองศิลปิน คือ ‘วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย’ ผู้กำกับและนักสร้างสรรค์ผลงาน Visual Performance และ ‘เขตสิน จูจันทร์’ นักประพันธ์ดนตรีที่สร้างงานจัดวางทางเสียง ที่จะมาโอบล้อมประสบการณ์ของผู้เข้าชมนิทรรศการให้มีความรู้สึกร่วมไปด้วยกัน
—
หนึ่ง – สำรวจโลกตัวอักษรอันรวดร้าวไร้รัก
เมื่อเสียงเพลงแห่งการปฏิวัติกระหึ่มขึ้น
“Let Them See Us, Let Them Fear Us, Our Love is a Rebellion They Cannot Crush” – ให้พวกเขาได้ประจักษ์ในตัวเรา ให้พวกเขาได้หวาดหวั่นถึงการมีอยู่ของเรา ความรักคือการปฏิวัติที่พวกเขามิอาจบดขยี้ เหล่าผู้ตายด้านไร้รัก พร้อมหยัดยืนขึ้นประท้วง ด้วยการกอดรัดแนบแน่นยิ่งขึ้น พร้อมกระซิบกระซาบคำรักเงียบงัน
เนื้อหาช่วงหนึ่งในเรื่องสั้นที่ชื่อเดียวกับเนื้อเพลงข้างต้นเป็นผลงานของ ‘ฆนาธร ขาวสนิท’ นักเขียนสไตล์ชัด ที่กลับมาเขียนงานเชิงปรัชญาชวนปวดหัวอีกหน ครั้งนี้ได้รับโจทย์ให้เขียนเรื่องสั้น เพื่อนำไปร้อยเรียงในนิทรรศการ Procession of Dystopia ซึ่งจะถูกนำไปต่อยอดเป็นผลงานศิลปะรูปแบบอื่น ๆ
และก็ไม่ผิดหวัง… กับห้วงความคิดของฆนาธร ที่ถ่ายทอดตัวอักษรออกมาเป็นภาพได้อย่างแจ่มชัด ภาพขบวนผู้คนที่หัวใจถูกควักออกมาจนกลวงโบ๋ แถมยังเดินไปมาอย่างไร้จุดหมาย เมื่อความรักกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมและเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จนนำไปสู่การตั้งคำถามถึงคุณค่าของเสรีภาพและความสำคัญของความรัก แม้เรื่องราวจะเกิดขึ้นในโลกดิสโทเปียแห่งดินแดนสมมติ แต่กลับสะท้อนสภาพสังคมในโลกปัจจุบันได้เป็นอย่างดีทีเดียว (ลองอ่านเรื่องสั้นก่อนไปชมจริงได้ที่นี่ https://avocadobooks.co/let-them-see-us-th
—
สอง – สัมผัสความคับแค้นและคิดถึง
‘ร่างกายอยากปะทะ เพราะรักมันปะทุ’ ผลงาน Visual Performance ของผู้กำกับ ‘วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย’ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องสั้นของฆนาธร(ที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น) โดยหยิบยกบางฉากบางตอนในเรื่องที่พูดถึงเมืองที่ไม่สามารถแสดงออกทางความรักได้ และจากโลกดิสโทเปียในจินตนาการนั้น ต่อยอดสู่ประสบการณ์จริงของวรรจธนภูมิ ที่ได้นำเรื่องราวของบุ๊ค ธนายุทธ ณ อยุธยา ซึ่งถูกจับกุมเข้าเรือนจำในคดีครอบครองวัตถุระเบิด (ในเหตุระเบิดหน้าบ้านประยุทธ์) โดยในวันตัดสินคดีความ วรรจธนภูมิมีโอกาสได้รู้จักกับนิว แฟนสาวของบุ๊ค ซึ่งทั้งคู่พบรักกันและร่วมเดินทางต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกลุ่มทะลุแก๊ซ (Thalugaz) และทั้งคู่ก็ได้กลายมาเป็นตัวละครหลักของผลงานชิ้นนี้
แก่นเรื่องมุ่งถ่ายทอดสภาวะของการถูกแยกห่างจากคนรัก ผ่านระยะห่างของ 2 จอขนาดใหญ่กลางห้องสี่เหลี่ยมมืดทะมึน ตัวละครคู่รักชายหญิงที่แสดงออกเพียงสีหน้า แววตา และท่าทาง เชื่อมโยงให้เราเห็นว่า แค่การสัมผัสกันเพื่อแสดงออกซึ่งความรักก็ยังทำไม่ได้เลย นอกจากการแสดงที่สะกดผู้ชมได้แล้ว กิมมิครอบ ๆ ทั้งไฟ พลุ และควัน กลับยิ่งทำให้เราสัมผัสได้ถึงความเศร้าโศก คิดถึง และโกรธแค้นของความไม่เป็นธรรมไปพร้อมๆ กัน ราวกับว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์เดียวกันอย่างนั้นเลย!
—
สาม – สดับรับฟังเสียงไม่สลักสำคัญ
อีกส่วนสำคัญของงานนิทรรศการที่หลายคนอาจไม่ทันสังเกตนั่นคือ‘เสียง’ครั้งนี้เราชวนมาเงี่ยหูฟัง‘สวนสิ่งไม่สำคัญ’ บทประพันธ์ดนตรีและการจัดวางเสียงของ‘เขตสิน จูจันทร์’ จากเรื่องสั้นของฆนาธร(ที่ต้องกล่าวถึงอีกรอบ) เสียงในผลงานเป็นการผสมผสานระหว่างบทประพันธ์ดนตรีกับเสียงที่บันทึกในสถานที่ต่าง ๆ อาทิ กิจวัตรของผู้คน บทสนทนา เสียงสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ เสียงเหล่านี้คือ ชีวิตที่ดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก จนมองข้ามสิ่งเล็ก ๆ ของมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ไป
แม้ขณะดูเราจะได้ยินเสียงหลากหลายแบบแว่วเข้ามาในโสตประสาท ซึ่งเสียงแต่ละด้านจะจัดวางแตกต่างกัน หากเรายืนฟังมุมนี้ ก็จะได้ยินเสียงที่ต่างจากอีกมุม นี่อาจจะเป็นความพิเศษที่ท้าให้คุณไปลองสดับรับฟัง และก่อนออกจากนิทรรศการอย่าลืมนั่งนิ่ง ๆ ในห้องมืด ๆ ฟังเสียงไม่สลักสำคัญดูบ้าง เผื่อเสียงเล็ก ๆ เหล่านี้จะดูสำคัญขึ้นมาสักหน่อย…
มาร่วมสำรวจประสบการณ์ในโลกที่แร้นแค้น และลอบสังเกตการเชื่อมร้อยสภาวะดิสโทเปียของศิลปินทั้งสามท่าน ในนิทรรศการ ‘Procession of Dystopia’ ได้ตั้งแต่วันนี้ -14 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปกรุงเทพฯ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook