Kind Tastes

Beauty Standard อันบิดเบี้ยวในศตวรรษที่ 18



“Beauty Standard” มาตรฐานความงามในอุดมคติอันเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคม ค่านิยม และความเชื่อ ย้อนไปในศตวรรษที่ 18 ก็มีมาตรฐานความงามสุดแปลกที่นิยมความสมบูรณ์แบบ ผมต้องเป๊ะ หน้าต้องปัง หุ่นต้องเพอร์เฟกต์ แต่หารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านี้แฝงมาด้วยความน่ากลัวอย่างคาดไม่ถึง วันนี้ KiNd จะพาทุกคนมาเจาะลึกถึงความงามอันบิดเบี้ยวนี้กัน!



มาดามเดอปอมปาดัวร์
ผู้ทรงอิทธิพลด้านความงามแห่งศตวรรษ

 

ไม่มีชายใดที่มีชีวิตอยู่จะไม่อยากได้เธอเป็นนางในหากทำได้ เธอมีรูปร่างงดงาม มีความสูงที่สมส่วน ใบหน้ากลมได้สัดส่วน ผิวพรรณเนียนทั้งมือและแขน ดวงตาไม่ใหญ่มาก ทว่าสดใส มีไหวพริบ และเป็นประกายที่สุดเท่าที่เคยเห็น ทุกสิ่งเกี่ยวกับเธอกลมกลึง รวมทั้งกิริยาอาการด้วย เธอโดดเด่นอย่างแท้จริงจากหญิงสาวในราชสำนักทั้งปวง แม้หญิงบางคนจะสวยงามมากก็ตาม” ความงามของเธอถูกกล่าวเอาไว้

มาดามเดอปอมปาดัวร์ หรือชื่ออย่างเป็นทางการ “Jeanne Antoinette Poisson, Marquise de Pompadour” เกิดที่ปารีสในปี ค.ศ. 1721 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1745 เธอมีอายุได้ 24 ปี เธอจึงได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเลี้ยงสวมหน้ากากเพื่อเฉลิมฉลองการแต่งงานของ Dauphin Louis Ferdinand ณ พระราชวังแวร์ซาย (Versailles) และพบรักกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 หลังจากนั้นไม่นาน มาดามเดอปอมปาดัวร์ ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นพระสนมเอกในพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่ต้องอยู่ในสายตาของสาธารณชนนับแต่นั้นเป็นต้นมา ความสมบูรณ์แบบถูกบันทึกในภาพวาดหลายภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลงานชื่อดังอย่าง Pompadour at Her Toilette โดยฟรองซัวส์บูเช่ (Francois Boucher) จิตรกรชาวฝรั่งเศส ความงามในภาพวาดถูกพรรณนาขึ้นเพื่อให้ผู้คนชื่นชม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งหน้า ทรงผม หรือแม้แต่เสื้อผ้าที่สวมใส่




“ความงาม”
สัญลักษณ์ของหญิงชนชั้นสูง 


“ความแตกต่างระหว่างเพศมีความสำคัญน้อยกว่าความแตกต่างทางชนชั้น” ผู้คนเริ่มหลงใหลในความสมบูรณ์แบบและหันมาให้ความสำคัญกับการแต่งตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย ทรงผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งหน้าและเครื่องสำอาง ประกอบกับความเชื่อที่ว่า เครื่องสำอางเป็นสิ่งของสำหรับคนชนชั้นสูง การแต่งหน้าจะช่วยเพิ่มสถานภาพทางสังคมได้ 

ในฝรั่งเศสสตรีผู้สูงศักดิ์เกือบทั้งหมดจะใช้เครื่องสำอาง และแต่งองค์ทรงเครื่องแบบเต็มยศ เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของชนชั้นสูงอย่างเปิดเผย ผ่านสไตล์การแต่งหน้าที่ไม่เน้นความเป็นธรรมชาติ ใบหน้าต้องขาวซีดราวกับตุ๊กตากระเบื้อง ริมฝีปากต้องแดงสดราวกับเลือดนกเท่านั้น

ในขณะนั้นผู้คนคลั่งไคล้ความขาวแบบไร้ที่ติ เพื่อผิวขาวสวยอย่างมีระดับ หญิงสาวต้องแต่งหน้าด้วย 3 ขั้นตอน เริ่มจากการทาใบหน้าให้เป็นสีขาวด้วยรองพื้น เพื่อช่วยปกปิดผิวแห้งกร้าน กระ สิว หรือรอยแผลเป็น และทำให้ผิวเรียบสวยเหมือนเครื่องเคลือบ ขั้นตอนต่อมาจะเป็นการใช้แป้ง สูตรแป้งที่นิยมกันเป็นอย่างมากคือ การนำโลหะและน้ำส้มสายชูผสมให้เข้ากัน จากนั้นทิ้งไว้ประมาณ 3 สัปดาห์ เพื่อรอโลหะนิ่มลงจนสามารถบดออกมาให้เป็นผงแป้งได้ แล้วค่อยผสมกับน้ำ นำไปตากให้แห้ง และปิดท้ายด้วยการผสมกับน้ำหอมเป็นอันเสร็จ และแป้งที่ได้จะให้สัมผัสที่เนียนละเอียดและมีกลิ่นหอม ตัวโลหะที่ถูกผสมเข้าไปจะช่วยให้ใบหน้ามีความขาว ช่วยเบลอรูขุมขนให้เล็กลง และช่วยควบคุมความมันส่วนเกินบนใบหน้าไปเป็นอย่างดี

มาถึงขั้นตอนสุดท้ายของการแต่งหน้าคือ การเติมรูจ (Rouge) รูจคือเครื่องสำอางที่มีลักษณะเป็นแป้งและมีการเพิ่มสีแดงจากธรรมชาติ อาทิ ลูกหม่อน บีทรูท ดอกคำฝอย ไม้เรซิ่น ไม้จันทน์ และไม้บราซิลวูด รวมไปถึงสารอันตรายอย่างปรอท (Cinnabar) จารบี และน้ำส้มสายชู ที่ถูกนำมาสกัดและอัดแน่นให้มีลักษณะคล้ายบลัชออนในปัจจุบัน รูจจะช่วยเติมสีสันให้กับใบหน้า โดยจะทาไว้บริเวณหน้าแก้มให้เป็นกลม ๆ และทาที่ริมฝีปาก เทรนด์นี้เป็นที่นิยมทั้งในหญิงสาวและชายหนุ่ม เพราะเชื่อกันว่า ปากที่แดงระเรื่อ และแก้มที่แดงมีเลือดฝาดจะถือว่าสุขภาพดี หรือเติบโตมาในครอบครัวฐานะดี 



เมื่อ “ความสวยงาม” กลับกลายเป็นยาพิษ

แน่นอนว่าความก้าวหน้าด้านเวชสำอางในสมัยนั้นมีไม่มากนัก การเลือกใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากสารอันตรายอย่าง สารตะกั่ว น้ำส้มสายชู และสารปรอทจึงนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย  ผนวกกับข้อเท็จจริงที่ว่า เหล่าหญิงสาวในสมัยนั้นไม่ได้ล้างหน้าทุกวัน การมีเครื่องสำอางบนหน้าเป็นระยะเวลานานจึงไม่ใช่เรื่องที่ดี ทั้งยังเป็นเครื่องสำอางที่มีสารอันตรายด้วยนั้น จึงส่งผลเสียเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า เมื่อใบหน้าได้รับสารอันตรายหลายครั้งเข้า ร่างกายเริ่มส่งสัญญาณเตือนภัย อย่างแรก พิษจากสารตะกั่วทำให้ผิวหน้าเริ่มบาง มีอาการบวมแดงและอักเสบ ไม่สู้แสงแดดและอากาศที่หนาวจัดได้ ทั้งยังส่งผลร้ายต่อระบบประสาทและเป็นพิษต่อไต ในบางรายอาจมีอาการอ่อนแรง น้ำหนักลด ปวดศีรษะ ผมร่วง และอัมพาต หากผู้ใดเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงอาจส่งผลให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนสารปรอทแม้จะไม่ส่งผลในทันทีแต่ก็อันตรายต่อร่างกายมากเช่นกัน หากมีสารปรอทสะสมเป็นจำนวนมาก จะส่งผลให้กัดกร่อนเนื้อหนังและร่างกายทีละน้อย มีอาการปากเหม็น น้ำลายยืด ฟันจะเริ่มร่วง ทำลายระบบภายในจนทำให้เราแพ้ภัยและเสียชีวิตลงในที่สุด

แม้แต่มาดามเดอปอมปาดัวร์ ก็ต้องพบเจอกับพิษจากเครื่องสำอางเช่นกัน จิตรกรผู้วาดภาพเหมือนในขณะนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะภาพวาดของมาดามเดอปอมปาดัวร์นั้นห่างไกลจากความเป็นจริง ขณะนั้นเธออายุ 37 ปี สุขภาพไม่ดีนัก ทั้งยังมีอาการป่วยไข้อันเกิดจากสารตะกั่ว ผิวพรรณของเธอไม่ขาวสวยเฉกเช่นในภาพวาด แต่เต็มไปด้วยรอยเหี่ยวย่นและแห้งกร้าน ทั้งยังไม่สามารถสู้แสงแดดได้ และเธอต้องรักษาตัวในห้องมืดทึบจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

เช่นเดียวกันกับมาเรีย กันนิง (Maria Gunning) เซเลบชื่อดังในขณะนั้น เธอใช้สารตะกั่วสีขาวที่เรียกว่าเซอรูส (Ceruse) ผสมลงในเครื่องสำอาง ทั้งยังใช้ในการจัดแต่งทรงผมเป็นประจำทุกวัน หลังจากนั้นสารตะกั่วกัดกร่อนผิวหน้าของเธอไปทีละน้อย ก่อนจะเสียชีวิตลงในอายุเพียง 27 ปีเท่านั้น 

ไม่เพียงเท่านี้ การแต่งหน้าที่เป็นพิษได้สังหารควีนเอลิซาเบธที่ 1 (Elizabeth I) ด้วยเช่นกัน เธอใช้สารตะกั่วขาวและน้ำส้มสายชูในเครื่องสำอาง เพื่อต้องการให้สีผิวดูซีดขึ้น จนในปี ค.ศ. 1603 พระราชินีสิ้นพระชนม์ด้วยโรคโลหิตเป็นพิษเมื่ออายุได้ 70 ปี ซึ่งเกิดจากสารอันตรายในเครื่องสำอางที่เป็นพิษ 

เราเคยได้ยินอยู่บ่อย ๆ ว่า “ความงาม” มักอยู่คู่กับหญิงสาวเสมอ แต่ใครจะไปรู้ว่า “ความงาม” ก็กลับกลายเป็นภัยร้ายที่น่ากลัวที่สุดได้ด้วยเช่นกัน…


ที่มา


เรื่องโดย