Kind Recipe

ขนมอัมลา (Amla Candy): ขนมหวานที่ชาวรัฐอัสสัม ประเทศอินเดียใช้ต่อสู้กับโรคโลหิตจาง


ศูนย์บริการ Anganwadi เริ่มทำการปฏิวัติไร้เลือด เพื่อเติมเต็มเม็ดเลือดจางให้เข้มข้นด้วย “ขนมอัมลา” ขนมหวานที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับรสชาติที่ขมขื่นของวิตามินโฟลิก

“ยาจะมีรสชาติดีได้ไหมนะ?” Parbin Sultana Barbhuiya คิดกับตัวเองขณะมองไปรอบ ๆ สำนักงานส่งเสริมสุขภาพเด็กฯ ใน Hailakandi ทางตอนใต้ของรัฐอัสสัม ซึ่งกองพะเนินไปด้วยกล่องวิตามินโฟลิกที่มีฝุ่นเกาะเต็มไปหมด

__

FACT: โครงการส่งเสริมสุขภาพเด็กแบบบูรณาการ (The Integrated Child Development Service, ICDS) ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1975 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์บริการ Anganwadi ในภาษาฮินดีหมายถึง ลานพักพิง เป็นส่วนหนึ่งของระบบการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและจัดหายาคุมกำเนิด พร้อมทั้งให้ความรู้ด้านโภชนาการและอาหารเสริม ตลอดจนดูแลเด็กในช่วงก่อนวัยเรียน

“พวกเขาปฏิเสธที่จะกินวิตามินโฟลิก” เธอกล่าว หากดูจากจำนวนเด็กและหญิงตั้งครรภ์ในศูนย์บริการ Anganwadi พบว่ามีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่ปฏิเสธจะทานยาบำรุงเลือด

“พวกเขาไม่ชอบรสชาติของยา เพราะมันมีรสขม อีกทั้งยังทำให้คลื่นไส้หลังทานอีกด้วย”

ผลการสำรวจสุขภาพอนามัยครอบครัวแห่งชาติของเมือง Hailakandi ประจำปี ค.ศ. 2015 พบว่า หญิงวัยเจริญพันธุ์ป่วยเป็นโรคโลหิตจางมากถึงร้อยละ 47.2 ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ขวบรวมอยู่ด้วย หมายความว่าในเมืองนี้มีเด็กที่ป่วยเป็นโรคโลหิตจางมากที่สุดในรัฐอัสสัม 


ขณะที่ผลการสำรวจอีกด้านหนึ่งเผยว่า หญิงตั้งครรภ์และเด็กที่ได้รับวิตามินโฟลิกจากรัฐบาลมีเพียงร้อยละ 24.3 เท่านั้น “วิตามินโฟลิกที่แจกไป ส่วนใหญ่พวกเขาไม่ยอมทานกัน เพราะหลังทานจะรู้สึกคลื่นไส้หรือมีปัญหาท้องผูก นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าหากทานวิตามินโฟลิกจะทำให้พวกเขาเสียชีวิต หากไม่เสียชีวิตก็ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก” Keerthi Jalli รองผู้บัญชาการเขต Hailakandi ในขณะนั้น กล่าว

“นี่เป็นช่วงเวลาที่หญิงตั้งครรภ์ต้องการอาหารเสริมมากที่สุด” Barbhuiya กล่าว เป็นเวลากว่าเก้าปีแล้วที่เธอทำงานในศูนย์บริการแห่งนี้ และในบ่ายวันนั้นเอง Barbhuiya จึงได้เตรียมส่วนผสมสำหรับทำขนมอัมลา ไม่ว่าจะเป็นมะขามป้อมอินเดียหรืออัมลา น้ำตาลอ้อย และเกลือ “ฉันคั่วอัมลาบนกระทะจนมันแห้ง จากนั้นก็ใส่น้ำตาลอ้อย และเกลือลงไป”

เมื่อคั่วเสร็จจึงนำมาปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ ขนาดประมาณเท่าลูกแก้ว หรือขนาดประมาณขนมลาดู ซึ่งเป็นขนมอินเดียโบราณที่พระพิฆเนศโปรดปรานอย่างมาก และมีความเชื่อว่าถ้าใครถวายขนมลาดูแก่พระองค์จะทำให้คำขอสัมฤทธิ์ผล “ฉันลองผิดลองถูกมาหลายรอบแล้วล่ะ แรก ๆ ที่ทำมีทั้งเหลวจนปั้นเป็นก้อนไม่ได้ ไม่ก็เหนียวจนเกินไป” Barbhuiya กล่าว “ในที่สุดฉันก็ทำมันออกมาได้สำเร็จ ตอนนี้ขนมอัมลาสูตรของฉันก็พร้อมเสิร์ฟแล้ว”



วันต่อมา Barbhuiya ได้เตรียมกระดาษฟอยล์มาห่อขนมอัมลาสูตรพิเศษที่เธอคิดค้นขึ้น เพื่อนำมาแจกจ่ายให้กับผู้หญิงและเด็กที่อยู่ในศูนย์บริการ Anganwadi ซึ่งต้องขอบอกเลยว่าได้ผลตอบรับที่ดีเกินคาด “ทั้งเด็กตัวเล็ก ๆ และวัยรุ่นต่างก็เข้ามาขอเพิ่ม แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ฉันต้องการมากที่สุดหรอก ฉันต้องการให้พวกเขาได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนต่างหาก”

Barbhuiya สำเร็จการศึกษาระดับวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ และตอนนี้กำลังศึกษาต่อในหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรด้านโภชนาการ กล่าวว่า อัมลานั้นอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและมีปริมาณวิตามินซีที่สูงมาก ขณะที่น้ำตาลอ้อยก็ประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ อีกทั้งยังมีสรรพคุณลดอาการแพ้ท้องได้อีกด้วย “ฉันเคยเป็นโรคโลหิตจางมาก่อน ต้องขอบคุณแม่ของฉันที่ย้ำถึงประโยชน์ของอัมลาอยู่บ่อย ๆ” เธอกล่าว

จากโปรเจกต์เล็ก ๆ ที่มีเจ้าหน้าที่เขตมาดูแลเพียงไม่กี่คน นำมาสู่ความต้องการในระดับจังหวัด 

ศูนย์บริการ Anganwadi หลายแห่งจึงได้เริ่มการปฏิวัติไร้เลือดขึ้น โดยมีขนมอัมลาเป็นเครื่องมือในการปฏิวัติ “เราต้องการให้ประชาชนออกมาสร้างความเคลื่อนไหวในระดับมวลชน (Jan Andolan) โดยมีคนในท้องถิ่นเข้าร่วมด้วย” Jalli กล่าว หลังจากได้ลองชิมขนมอัมลา

ในเดือนโภชนาการแห่งชาติของอินเดีย (Rashtriya Poshan Maah) ตรงกับเดือนกันยายนของทุกปี โดยรัฐบาลได้เปิดตัวโครงการนี้ไปเมื่อปี ค.ศ. 2018 มีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงภาวะขาดโภชนาการของเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ หญิงวัยเจริญพันธุ์ หญิงตั้งครรภ์ และคุณแม่หลังคลอด “เรามีคุณยาย คุณแม่ที่อยู่ในศูนย์บริการของเราหลายแห่ง ซึ่งในแต่ละศูนย์ก็จะมีการรวมตัวกันทำขนมอัมลา” Jalli รองผู้บัญชาการเขต Cachar กล่าวในเดือนพฤษภาคม

ที่ศาลากลางของเขต Hailakandi ผู้หญิงจากศูนย์บริการ Anganwadi จำนวน 10-12 ศูนย์ จะมารวมตัวกันตั้งแต่เวลา 7.00 น. ถึง 19.00 น. เพื่อทำขนมอัมลา “แต่ละคนก็มีหน้าที่แตกต่างกันไป คนนึงทำหน้าที่หั่นอัมลาออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ อีกคนก็คอยบดอัมลาให้ละเอียด” Jalli กล่าว

ช่วงแรก ๆ ขนมอัมลาจะถูกห่อด้วยกระดาษฟอยด์ “หลายคนก็เป็นกังวลว่าฟอยด์ที่นำมาห่ออาจจะทำปฏิกิริยากับวิตามินซีที่อยู่ในผลอัมลาได้ ต่อมาเราจึงเปลี่ยนมาใส่ภาชนะที่ปิดสนิทแทนการห่อกระดาษฟอยด์” 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาขนมอัมลาได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้สูตรของขนมเริ่มปรับเปลี่ยนไปตามสไตล์คนทำ บางคนก็ใส่ขิง บางคนก็ใส่เทียนเยาวพาณี (สมุนไพรชนิดหนึ่ง) และส่วนผสมอื่น ๆ ที่ดีต่อสุขภาพลงไป “ขนมอัมลาเป็นที่นิยมมาก ๆ จนเราต้องเริ่มหาซื้ออัมลาเพิ่มจากเขตใกล้เคียงอย่าง Cachar และเขต Karimganj” Barbhuiya กล่าว 


ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 ขนมอัมลาได้ไปเปิดตัวที่งานแสดงสินค้าอัสสัมพาวิลเลี่ยน ในนิทรรศการ India International Science Festival (IISF) ที่เมืองวิทยาศาสตร์ในโกลกาตา หรือชื่อเดิม กัลกัตตา เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก 

ต่อมาในเดือนธันวาคมแผนกสวัสดิการสังคมในเขต Hailakandi ได้เริ่มทำการทดสอบประสิทธิภาพของขนมอัมลาต่อภาวะโลหิตจาง แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเดือนมีนาคม ทำให้การทดสอบต้องถูกเลื่อนออกไปชั่วคราว รวมถึงการจัดกิจกรรมทำขนมอัมลาที่หน้าศาลากลางจังหวัดก็ถูกระงับลงเช่นกัน

Barbhuiya เล่าว่า เธอยังคงได้รับโทรศัพท์และข้อความทักเข้ามาขอสูตรทำขนมอัมลาอยู่ตลอด “บางคนก็นำอัมลามาดอง บางคนก็พยายามทำแยมจากน้ำตาลอ้อย อัมลา และน้ำมัน ซึ่งหมายความว่าผู้คนรับรู้ถึงความสำคัญของมัน และพวกเขาก็พร้อมจะเรียนรู้วิธีการทำด้วยตัวเองตลอดเวลา”



ที่มา


เรื่องโดย