Kind Places

ตามรอย ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะ’ ในจักรวาล ศ.แลงดอนจากหนังสือแดน บราวน์

นวนิยาย + ระทึกขวัญ + พิพิธภัณฑ์ = ?                                                                      
พอพูดถึงสมการนี้ คุณจะนึกถึงใคร…


หากใครชอบอ่านนวนิยายแนวสืบสวนสอบสวนอิงประวัติศาสตร์ที่เสียดสีประเด็นเรื่องวิทยาศาสตร์กับศาสนาได้อย่างลุ้นระทึก ‘แดน บราวน์’ (Dan Brown) น่าจะติดหนึ่งในลิสต์นักเขียนคนโปรดเป็นแน่ วันนี้ KiNd ชวนคุณมาเปิดประตูสู่จักรวาลของ โรเบิร์ต แลงดอน’ (Robert Langdon) ศาสตราจารย์ด้านประติมานวิทยาและสัญลักษณ์วิทยา ตัวละครเอกในนวนิยายชุดดังของแดน บราวน์ ผู้รับบทไขปริศนาฆาตกรรมต่าง ๆ ให้กระจ่างใจ

เสน่ห์งานเขียนของแดน บราวน์ ไม่เพียงชวนให้ติดตามในแง่ของการไขคดีและดำเนินเรื่องรวดเร็วฉับไว (แต่เล่มหนา) เท่านั้น แต่คือการสร้างเรื่องราวปริศนาอย่างแยบคายด้วยการนำความจริงมาผสมผสานกับจินตนาการ เพื่อให้ผู้อ่านตั้งคำถามต่อความเชื่อทางศาสนาที่มีมานับพันปี โดยมีพื้นหลังเป็นสถานที่และสถาปัตยกรรมที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน และนี่คือหนึ่งในจุดขายที่ทำให้แฟนนวนิยายอยากเดินทางไปตามรอยสถานที่จริงในแต่ละประเทศ ซึ่งฉากสำคัญที่มักปรากฏอยู่ในแทบทุกเรื่องคือ ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะ’ โดยเราขอหยิบยกมาจาก 3 เรื่องด้วยกันคือ The Da Vinci Code, Angels & Demons และ Origin จะมีพิพิธภัณฑ์ไหนปรากฏอยู่บ้าง ไปติดตามพร้อม ๆ กัน

01
The Da Vinci Cod
e
พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ – ฝรั่งเศส

‘The Da Vinci Code’ หรือ ‘รหัสลับดาวินชี’ เป็นนวนิยายที่ทำรายได้ถล่มทลาย แปลเป็นภาษาต่าง ๆ กว่า 44 ภาษา นับเป็นวรรณกรรมยอดนิยมของโลกที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘หนังสือที่อ่านแล้ววางไม่ลง’ ปมปริศนาเริ่มจากภัณฑารักษ์ชื่อดังของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre Museum) ถูกฆาตกรรมอย่างน่าพิศวง ศพของเขามีลักษณะท่าทางคล้ายผลงานศิลปะของเลโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo Da Vinci) ศิลปินเลื่องชื่อยุคเรอแนซ็องส์ (Renaissance) นอกจากนี้บนร่างที่ซีดขาวของเขายังปรากฏสัญลักษณ์รูปดาวห้าแฉกที่ถูกเขียนด้วยเลือดอย่างน่าสะพรึง ด้วยเหตุนี้ โรเบิร์ต แลงดอน ผู้เชี่ยวชาญด้านสัญญะจึงต้องมาตามไขปริศนาคดีนี้ต่อไป

เริ่มต้นเรื่องมาก็ปรากฏฉากเด็ดอย่าง พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ประเทศฝรั่งเศส พิพิธภัณฑ์ทางศิลปะที่มีชื่อเสียงที่สุดและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์กาเปเซียง (Capétiens) แรกเริ่มเดิมทีลูฟวร์เป็นพระราชวังที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าฟีลิปที่ 2 ในปี 1190 หลังจากนั้นได้ปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยเปิดให้เข้าชมครั้งแรกเมื่อปี 1793

สถาปัตยกรรมที่สะดุดตาอันดับแรกของที่นี่คือ พีระมิดแก้วตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ ออกแบบโดย ไอ. เอ็ม. เป (I.M. Pei) สถาปนิกชาวจีน-อเมริกัน เพื่อใช้เป็นทางเข้าหลักของพิพิธภัณฑ์ ไฮไลต์สำคัญอันโด่งดังของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้แก่ รูปปั้นเทพีวีนัสเดอมิโล (Venus de Milo), รูปปั้นเทพีไนกี้แห่งซาโมเทรซ (The Winged Victory of Samothrace), ภาพพิธีบรมราชาภิเษกของจักรพรรดินโปเลียน (Coronation of the Emperor Napoleon) และที่ขาดไม่ได้เลยคือภาพวาดโมนาลิซ่า (Mona Lisa) ของดาวินชี รวมถึงผลงานชิ้นสำคัญอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานที่ที่จัดแสดงและเก็บรักษาผลงานทางศิลปะที่ทรงคุณค่าระดับโลกเป็นจำนวนมากกว่า 35,000 ชิ้น จากตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงศตวรรษที่ 19 ในพื้นที่กว่า 60,600 ตารางเมตร

02
Angels & Demons

พิพิธภัณฑ์วาติกัน – อิตาลี

ฉากบันไดวนสองทางแบบวาติกัน (Bramante Staircase) ดีไซน์ละม้ายคล้ายขดก้นหอย ที่ออกแบบโดย Giuseppe Momo สถาปนิกชาวอิตาลีนั้น ปรากฏอยู่ในนวนิยายเรื่อง ‘Angels & Demons’ หรือ ‘เทวากับซาตาน’ นับเป็นหนึ่งในฉากที่หลายคนประทับใจไม่ลืม ทั้งความสวยงาม ความสมมาตร และความแปลกตา ซึ่งบันไดแห่งนี้ตั้งอยู่ใน พิพิธภัณฑ์วาติกัน (Vatican Museums) ณรัฐวาติกัน ใจกลางกรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นที่เก็บสะสมและรวบรวมผลงานที่เกี่ยวข้องกับโรมันคาทอลิก จัดแสดงผลงานศิลปะจากประติมากรรมคลาสสิกที่มีชื่อเสียงที่สุดและงานชิ้นเอกที่สำคัญที่สุดของศิลปะยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ช่วงต้นศตวรรษที่ 16

ก่อนจะไปทำความรู้จักกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ขอเล่าประเด็นมูลเหตุคร่าว ๆ ของเรื่องราวในนวนิยายกันสักนิด ขณะที่ศาสตราจารย์แลงดอนกำลังสอนนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็ได้รับการติดต่อจากสำนักงานตำรวจแห่งวาติกัน เพื่อให้ช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับองค์กรอิลูมินาติ ที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ลักพาตัวและการไล่สังหารพระคาร์ดินัล 4 รูป แลงดอนจึงต้องรีบขึ้นเครื่องไปอิตาลีแบบด่วน ๆ เพื่อไขปริศนาทั้งหมด ฉากพื้นหลังตลอดทั้งเรื่องจึงดำเนินอยู่ที่กรุงโรมและวาติกันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เห็นความยิ่งใหญ่และตื่นตาตื่นใจของเมืองศิลปะเล็ก ๆ แห่งนี้ได้ไม่มีเบื่อเลยล่ะ

ตัวอย่างผลงานชิ้นเอกของศิลปินระดับโลกภายในพิพิธภัณฑ์ เช่น บริเวณเพดานของพิพิธภัณฑ์ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามโดดเด่นด้วยฝีมือของไมเคิลแองเจโล (Michelangelo) และห้องพักที่ได้รับการตกแต่งโดยราฟาเอล (Raphael) ส่วนห้องที่เป็นไฮไลต์คือ Sistine Chapel เป็นห้องที่มีภาพวาดโด่งดังอย่าง The Creation of Adam นอกจากนี้ ยังมีหอศิลป์และห้องโถงรวมกันมากกว่า 54 ห้อง นับได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งและมีจำนวนผู้เข้าชมจากทั่วโลกมากกว่า 5 ล้านคนต่อปีเลยทีเดียว

03
Origi
n
พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ – สเปน

Hola! นวนิยายเรื่อง “Origin” หรือ “ออริจิน” เล่มนี้ จะพาเราไปเยือนประเทศสเปน เพื่อไขปริศนาสุดระทึกที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ “พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์” (Guggenheim Bilbao Museum) ณ เมืองบิลเบา ว่ากันว่าเป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมอาคารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคเลยก็ว่าได้ ออกแบบโดยสถาปนิกระดับโลกชาวอเมริกา-แคนาดา อย่างแฟรงก์ เกห์รี (Frank Gehry) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกยกให้เป็นอาคารที่จุดประกายเศรษฐกิจของเมืองบิลเบา ประเทศสเปน และกลายเป็นหนึ่งในไอคอนิกสำคัญในแวดวงพิพิธภัณฑ์ โดยจัดแสดงงานศิลปะจากศิลปินชาวสเปนและทั่วโลก เช่น ลูอีส์ บูร์ชัวส์ (Louise Bourgeois), เอดูอาร์โด ชิลลิดา (Eduardo Chillida) และฟูจิโกะ นากายะ (Fujiko Nakaya) เป็นต้น

จุดเด่นของที่นี่ แน่นอนว่าต้องเป็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมสุดล้ำ พื้นผิวบุไทเทเนียมแปลกตา ดูทันสมัยและไม่มีใครเหมือน สร้างเสน่ห์ดึงดูดใจให้คนที่ผ่านไปผ่านมาได้เป็นอย่างดี แม้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะสร้างเสร็จในปี 1997 แต่ดีไซน์และความงดงามของสถาปัตยกรรมถือว่ายังคงดูร่วมสมัย สอดคล้องกับการดำเนินเรื่องในนวนิยายเรื่องนี้ของแดน บราวน์ ที่เล่าเรื่องของศิลปะสมัยใหม่ สะท้อนแนวคิดที่ล้ำยุคสมัย ฉีกกฎจากเล่มก่อน ๆ

ประเด็นหลักคือการเล่าถึงลูกศิษย์ของแลงดอน ที่ได้เชื้อเชิญเขามางานประกาศการค้นพบใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงวิทยาศาสตร์ไปตลอดกาล ซึ่งจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ แต่ปรากฏว่าก่อนที่จะได้เล่าเรื่องการค้นพบนี้ บุคคลสำคัญในงานกลับถูกยิงตายกลางงานเสียได้ ศาสตราจารย์แลงดอนจึงต้องเสาะหาความจริงเบื้องหลังการตาย พร้อมค้นหาคำตอบของการค้นพบครั้งนี้ด้วย

พิพิธภัณฑ์ศิลปะแต่ละประเทศที่เราพาไปเยี่ยมเยือนกันวันนี้ ล้วนโดดเด่นเรื่องสถาปัตยกรรม ความงดงาม และความตระการตา อันเป็นที่สะสมสิ่งล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชม สำหรับใครที่ยังไม่เคยอ่านเรื่องราวในจักรวาลโรเบิร์ต แลงดอน ของแดน บราวน์ มาก่อน แต่มีความสนใจในศิลปะและประวัติศาสตร์สามารถเดินทางไปเยี่ยมชมกันได้ หรือหากมีเวลามากพอจะลองหยิบจับมาอ่านก่อนเดินทางไปก็ไม่เสียหาย แล้วจุดมุ่งหมายของการไปพิพิธภัณฑ์อาจจะตื่นเต้นแบบคูณสองก็ได้นะ ใครจะรู้…




ที่มา


เรื่องโดย

ภาพโดย