เคยมั้ย?
เวลาพูดคำอะไรออกไปแล้วเพื่อน(ต่างถิ่น)กลับไม่เข้าใจเรา!
เชื่อว่าหลายคนต้องเคยประสบพบเจอกับปัญหานี้กันมาบ้างแหละโดยเฉพาะคนต่างจังหวัด เพราะประเทศไทยเป็นสังคมพหุภาษา อันประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายภูมิภาค / ท้องถิ่น / สำเนียง รวมถึงชาติพันธุ์ แม้เราจะใช้ภาษาไทยมาตรฐานร่วมกัน แต่ก็อดไม่ได้ที่ใช้ภาษาถิ่นตามความคุ้นชิน
แม้ ‘พระนครศรีอยุธยา’ หรือ ‘อยุธยา’ ที่หลายคนนิยมเรียกให้สั้นลง (แต่คนท้องถิ่นกร่อนสั้นกว่านั้นอีกเป็น ‘ยุดยา’) จะอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก แต่ ‘คนยุดยา’ ต้นตำรับก็มีภาษาหรือคำศัพท์แปลกแปร่งไม่คุ้นหู(คนอื่น)ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป แถมยังมีสำเนียงเหน่อเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์อีกด้วย
อารัมภบทมายืดยาว คาดว่าคนอ่านคงจะพอเดาได้ว่าผู้เขียนเป็นคนที่ไหน? ใช่เลย! ผู้เขียนเป็นคนกรุงเก่าโดยกำเนิดและก็เติบโตที่นี่นี่ล่ะ แต่ต้องห่างไกลบ้านไปทำงานที่เมืองหลวง หนนี้ได้กลับมาบ้านเลยเก็บคลังศัพท์แปลกหูในท้องถิ่นมาเล่าสู่กันฟัง ผ่านมินิซีรีส์ ‘Aยุธยา The Series’ มาดูว่าคำศัพท์เหล่านี้มีใครเคยได้ยินหรือเข้าใจความหมายกันบ้างหรือเปล่า…
๐๑
‘เห’
ไม่ใช่คำย่อแต่ขอให้หลบหน่อย
นอกจากคำว่า ‘เห’ (เหฯ) จะถูกตีความเป็นคำย่อที่มาจากคำเต็มว่า ‘เหรัญญิก’ ซึ่งแปลว่า ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินของชมรม หรือสมาคมแล้ว หากออกเสียงให้ยาวหน่อย ‘เหหหหหห’ ก็ดูจะกลายเป็นคำอุทานของคนญี่ปุ่น ที่แสดงถึงอาการประหลาดใจได้อีกด้วย แต่หากถามหาความหมายตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน คำว่า ‘เห’ เป็นคำกริยา หมายถึง เปลี่ยนทิศทางจากเดิมไปเล็กน้อย เช่น เหหัวเรือ รถยนต์วิ่งเหออกนอกทาง หรือการเปลี่ยนความคิดไป เช่น เขาเหไปเข้าข้างศัตรู
แต่สำหรับเด็กยุดยามักจะใช้ในบริบทของการขอทางเดิน เช่น ‘เหหน่อยคนจะเดิน’ มักจะใช้ในสถานการณ์ที่กำลังเดินอยู่ แล้วมีคนขวางเส้นทาง เพื่อแจ้งความประสงค์ว่าต้องการให้หลบ ซึ่งก็มีเค้าโครงความหมายคล้ายคลึงตามพจนานุกรม คือการเปลี่ยนทิศทางจากเดิมไปหรือหันเหนั่นเอง
๐๒
‘แงะ’
ไม่ใช่กริยางัดแต่ใช้ลงท้ายคำถาม
อีกหนึ่งคำศัพท์สุดคลาสสิกของคนยุดยาคือคำว่า ‘แงะ’ เป็นคำที่นิยมใช้ลงท้ายคำถาม เช่น ‘กินข้าวแล้วแงะ’ / ‘ไปเที่ยวมาแงะ’ มีความหมายประมาณว่า ‘เหรอ’ / ‘หรือ’ / ‘ไง’ ในเชิงคำถาม หรือบางครั้งก็ใช้เป็นคำตอบรับว่าเข้าใจแล้วได้เช่นกัน อย่าง ก: ‘วันนี้ไปเที่ยววัดมาร้อนมาก’ ข : ‘ร้อนมากเลยแงะ’ ซึ่งคำนี้ถือเป็นคำที่ผู้เขียนใช้บ่อยมาก จนเพื่อน(คนระยอง/สงขลา) แซวเลยว่า นี่มันศัพท์แสงของคนอยุธยานี่นา
ส่วนความหมายโดยทั่วไปตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานระบุว่า ‘แงะ’ เป็นคำกริยา หมายถึง การงัดให้เผยอขึ้น แสดงถึงการงัดแงะแกะกล่อง นอกจากนี้ ยังใช้เป็นคำวิเศษณ์ร่วมกับคำอื่น ๆ ได้อีก เช่น งามแงะ (งามน่าดู มักใช้ในบทกลอน) / สะเงาะสะแงะ (เปะปะอย่างคนเมา) แต่หากจะหาความเชื่อมโยงทางภาษาของคำว่าแงะ ที่คนยุดยาใช้ก็ดูจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับความหมายตามพจนานุกรมแต่อย่างใด
๐๓
‘บาน’
ไม่ได้ใช้กับดอกไม้แต่บอกจำนวนเยอะ
เมื่อเห็นคำว่า ‘บาน’ หลายคนคงนึกถึงลักษณะของดอกไม้ที่ค่อย ๆ สยายกลีบออกก่อนเป็นอันดับแรกแน่ ๆ แต่สำหรับคนยุดยามักใช้เป็นกริยาวิเศษณ์บ่งบอกปริมาณหรือจำนวนมาก/เยอะ เช่น ‘คนบานเลยงานวันนี้’ / ‘ถนนเส้นนี้รถบานเลย’
ส่วนความหมายตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานได้ให้ไว้หลายแบบด้วยกัน เช่น นํ้าสำหรับดื่ม, เครื่องดื่ม เช่น สุราบาน ชัยบาน อัฐบาน. / ของที่เป็นแผ่น ๆ บางอย่าง เช่น บานประตู บานหน้าต่าง / เผยออก, คลี่ออก, ขยายออก, เช่น ดอกไม้บาน / ปลาบปลื้ม, แช่มชื่น, เบิกบาน, เช่น ใจบาน หน้าบาน และภาษาปาก หมายถึง มาก เช่น เสียไปบาน หากดูความเชื่อมโยงทางภาษาคำว่าบานที่มีความหมายว่าเยอะของคนยุดยา มีความหมายเดียวกับภาษาปากตามพจนานุกรมนั่นเอง
๐๔
‘ปลาเห็ด’
เมนูฝาแฝดทอดมันที่เรียกแทนกันได้
แถบอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ไปจนถึงนครสวรรค์ อาจจะคุ้นเคยกันดีกับคำว่า ‘ปลาเห็ด’ เมนูทอดมันปลาที่นำปลามาสับละเอียดโขลกกับพริกแกง จากนั้นปั้นเป็นแผ่นหรือก้อน แล้วนำไปจุ่มทอดในน้ำมันไฟอ่อน ๆ (พอทอดแล้วพองหน้าตาจึงเหมือนดอกเห็ด) แล้วเสร็จก็สะเด็ดน้ำมัน จับร้อยเป็นพวงวางขายตามตลาด 20 บาท 30 บาทก็ว่ากันไป แม้ ‘ปลาเห็ด’ กับ ‘ทอดมัน’ จะมีความต่างกันบ้างที่วัตถุดิบ แต่ปัจจุบันทั้งสองเมนูได้ขยับนิยามเข้าหากัน จนกระทั่งกลายเป็นสิ่งเดียวกันไปแล้ว ใครอยากอ่านที่มาเพิ่มเติมคลิกได้ที่นี่เลย
สำหรับคนอยุธยา ไม่ว่าทอดมันจะทำจากวัตถุดิบอะไร ทั้งปลา กุ้ง หรือปู ล้วนแต่เรียกเหมารวมว่าปลาเห็ดทั้งสิ้น ซึ่งผู้เขียนขอทึกทักเอาเองว่า ปลาเห็ดจะมีความโลคัลมากกว่าทอดมัน (ส่วนใหญ่ทอดมันจะขายอยู่ในห้างฯ และมักใช้เครื่องจักรในการบดหรือโขลกแทน) ด้วยเท็กเจอร์ของเนื้อสัมผัสที่ชิมปั๊บก็รู้เลยว่าโขลกสด ๆ เองกับมือ แถมแพ็กเกจจิงยังน่ารักสไตล์ท้องถิ่น ความรู้สึกเมื่อลิ้มรสจึงแตกต่างกัน
๐๕
‘ดินสอแกน /แกนดินสอ’
หยิบยืมกันได้แบบไม่งง
ไม่ต้องงงกันล่ะ… หากมีคนอยุธยามาขอยืม ‘ดินสอแกน’ หรือ ‘แกนดินสอ’ กับคุณ เพราะคำนี้เป็นคำที่ผู้เขียนเองก็ใช้ค่อนข้างบ่อยเหมือนกันเมื่อสมัยเรียน คนทั่วไปเรียกกันว่า ‘ดินสอกด’ เป็นดินสอที่มีกลไกส่งไส้ดินสอออกมาให้เราเขียนได้ เมื่อกดบริเวณด้านบน แถมไม่ต้องขยันเหลาเหมือนดินสอไม้ด้วย ส่วน ‘ไส้ดินสอ’ คือแท่งแกรไฟต์เล็ก ๆ เรียว ๆ ที่เกิดมาคู่กันกับดินสอกด
ความน่าจะเป็นที่คนอยุธยาเรียก ‘ดินสอกด’ ว่า ‘ดินสอแกน’ และ ‘ไส้ดินสอ’ ว่า ‘แกนดินสอ’ น่าจะมาจากลักษณะของไส้ดินสอที่ต้องใส่เข้าไปตรงกลางของดินสอ หรือหมายถึงดินสอที่มีแกน(ไส้)อยู่ข้างในนั่นเอง หากเด็กอยุธยามายืมแกนดินสอก็ไม่ต้องงงกันแล้วล่ะ!
คำศัพท์ทั้ง ๕ คำที่เราหยิบยกมาเล่ากันในวันนี้ เป็นเพียงบางส่วนที่คนอยุธยา(บางกลุ่ม)นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ ยังมีคำอื่น ๆ จำนวนมาก ทั้งที่คนอยุธยาเองอาจจะรู้จักหรือไม่รู้จักก็เป็นได้ เพราะภาษาวิวัฒนาการไปตามยุคสมัยอย่างไม่รู้จบ หากใครนึกคำอะไรออกหรือมีเพื่อนเป็นคนอยุธยามาแชร์คำศัพท์แปร่งแปลกกันได้นะ!