♪
“โฉมเอย โฉมงาม อร่ามแท้แลตะลึง
ได้เจอครั้งหนึ่ง เสน่ห์ซึ้งตรึงใจ”
หากได้ยินเพลงนี้คราใด ก็หวนให้นึกถึงการประกวดนางงามครั้งเก่าก่อนทุกที วันนี้ KiNd ขอรับหน้าที่พาไปรำลึกความทรงจำ ถึงจุดกำเนิดการประกวดนางงามของไทยในอดีตกัน!
ก่อนจะมาเป็นเวทีการประกวดส่งออกสาวงามนั้น ในอดีตมีการจัดประกวดนางงามในระดับท้องถิ่นมาก่อนแล้ว แต่เริ่มชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการจัดการประกวดเพื่อเฉลิมฉลองประชาธิปไตย หลังเปลี่ยนระบบการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลคณะราษฎรให้ทุกจังหวัดจัดงานรื่นเริงขึ้น จากนั้นในปี พ.ศ.2477 ได้กำหนดให้จัดเวทีประกวดนางงามภายใต้ชื่อ “นางสาวสยาม”
“นางสาวสยาม” เวทีนางงามเพื่อการเมือง
♔
เป็นที่ทราบกันดีว่า “คณะราษฎร” เป็นผู้ปลุกกระแสการประกวดนางงามให้เป็นที่นิยมในประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะเผยแพร่อุดมการณ์และสอดแทรกความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยไปสู่ประชาชนภายใต้กิจกรรมความบันเทิง เวทีนางสาวสยามจัดขึ้นครั้งแรกในพระราชอุทยานสราญรมย์ (สวนสราญรมย์ในปัจจุบัน) โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำกับดูแล คุณสมบัติของสาวงามถูกระบุไว้ว่า “เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย เป็นนางสาวและมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และมิใช่เป็นผู้ประกอบอาชีพ หรือมีความประพฤติชื่อเสียงเป็นที่รังเกียจในการสมาคมของสุภาพชน” ในส่วนของรางวัลสำหรับผู้ชนะคือ เงินรางวัลจำนวน 1,500 บาท ถ้วยเงินใบใหญ่ พร้อมมงกุฎ และเข็มกลัดทองลงยารัฐธรรมนูญ
Photo Credit: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ในปีแรก เวทีนางสาวสยามมีสาวงามส่งเข้าประกวดทั้งหมด 16 จังหวัด และผู้ที่ครอบครองตำแหน่งนางสาวสยามคนแรก ได้แก่ นางสาวกันยา เทียนสว่าง ตัวแทนจากจังหวัดพระนคร (กรุงเทพฯ) นอกจากเวทีนางสาวไทยยุคแรกจะทำหน้าที่สร้างสีสันแก่งานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์นโยบายสร้างชาติของรัฐบาลในด้านต่าง ๆ อาทิ การร่วมแสดงละครเวทีสาธารณกุศล เป็นภาพลักษณ์ที่ดีของรัฐบาลในการร่วมงานต่าง ๆ ตลอดจนการกำหนดให้สาวงามแต่งกายด้วยชุดตามสมัยนิยม โดยหวังว่าจะเป็นต้นแบบให้ประชาชนได้ปฏิบัติตาม
Photo Credit: facebook.com/77PPP Photo Credit: สมุดภาพนางงาม กองประกวดนางงาม งานวชิราวุธานุสรณ์
การประกวดนางสาวสยามถูกจัดขึ้น 5 ครั้ง ก่อนประเทศจะมีการเปลี่ยนชื่อตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญจาก “สยาม” ให้ใช้คำว่า “ไทย” แทน การประกวดนางสาวสยามจึงเปลี่ยนมาใช้การประกวด “นางสาวไทย” นับตั้งแต่ พ.ศ. 2482 เป็นต้นมา ทว่ารูปแบบหรือขั้นตอนต่าง ๆ ยังคงเดิม การประกวดนางสาวไทยดำเนินเรื่อยมา และได้ปิดฉากลง เนื่องจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เวทีประกวดนางงามภายใต้อำนาจรัฐเป็นอันสิ้นสุดในเวลานั้น
ฤดูกาลทางใหม่ ภายใต้อำนาจทุนนิยม
♔
แม้การประกวดนางงามเวทีใหญ่จะหยุดชะงักไปกว่า 10 ปี แต่ในท้องถิ่นหรือในงานเฉลิมวาระพิเศษต่าง ๆ ได้มีการจัดการประกวดกันอย่างต่อเนื่อง จนในปี พ.ศ. 2507 สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ฟื้นคืนชีพเวทีการประกวด “นางสาวไทย” ขึ้นใหม่อีกครั้ง ภายใต้จุดประสงค์ใหม่ที่อาจไม่ได้เกี่ยวโยงกับทางการเมืองเหมือนครั้งเก่าโดยตรง แต่เป็นการประกวดเพื่อส่งออกสาวงามสู่เวทีระดับโลก
Photo Credit: Missosology Photo Credit: Line Today
ก่อนไปสู่เวทีโลก ผู้ได้รับตำแหน่งนางสาวไทยจะได้รับพระราชทานคำแนะนำจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 พร้อมกับภารกิจสำคัญที่มิใช่เพียงการคว้ามงกุฎมาครอง แต่เป็นการประชาสัมพันธ์ “ประเทศ” สู่สายตาชาวโลกนั่นเอง ซึ่งตัวแทนสาวไทยคนแรกที่เข้าประกวดในเวทีระดับสากลอย่าง “อาภัสรา หงสกุล” ก็ได้สร้างความภาคภูมิใจให้คนไทยด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศมาครองในปี พ.ศ. 2508 ซึ่งก่อเกิดเป็นปรากฏการณ์อาภัสราขึ้น ผู้คนหลายร้อยหลายพันแห่แหนมารอต้อนรับนางงามจักรวาลคนแรกของประเทศไทย โดยภาพในความทรงจำคือ ภาพอาภัสรานั่งบนรถเปิดประทุน ถือร่มบ่อสร้าง สวมซิ่นสันกำแพงลายขวาง พร้อมโบกมือทักทายผู้คนตลอดเส้นทาง
Photo Credit: S. H. Lim
ต่อมา เอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทในการจัดการประกวดแทน ผนวกกับยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไป ในแวดวงนางงามได้ก่อกำเนิดเวทีการประกวดครั้งใหม่ ๆ ขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Miss Grand Thailand, Miss and Mister Supranational Thailand, Miss International Thailand รวมไปถึง Miss Universe Thailand อีกด้วย
อ้างอิง
- รู้จัก พิศมัย โชติวุฒิ “นางสาวสยาม” คนสุดท้ายของประเทศก่อนปรับเป็น “นางสาวไทย”. https://www.silpa-mag.com/old-photos-tell-the-historical-story/article_13298
- อาภัสรา หงสกุล : เด็กสาวจากแดนไกลสู่จักรวาลแห่งความงาม. https://www.sarakadeelite.com/faces/apasra-hongsakula/
- พัฒนาการเวทีประกวด “นางงาม(ใน)ไทย” จากยุคใต้อำนาจรัฐ สู่การรับใช้นายทุน. https://www.silpa-mag.com/culture/article_9797
- สำรวจเบื้องหลัง ‘เวทีนางงาม’ ว่ายังจำเป็นอย่างไร ในโลกที่มีผู้คนหลากหลาย. https://becommon.co/culture/living-beauty-pageant/#accept
- จาก ‘นางสาวสยาม’ สู่ ‘มิสยูนิเวิร์ส’ เวทีนางงามไม่เคยหนีห่างจากการเมือง. https://themomentum.co/beauty-queen-and-politics/