Kind Dine

Bento: จากห่อข้าวพกพา สู่เครื่องหมายแสดงชนชั้นทางสังคม และตัวแทนความสัมพันธ์ของคนญี่ปุ่น


อาจนับได้ว่าอาหารคือสิ่งแรกที่สะท้อนวัฒนธรรมซึ่งฝังรากลึกในอัตลักษณ์ของผู้คนแต่ละท้องถิ่น ความนิยมในรสชาติ ความคุ้นชินกับวัตถุดิบในพื้นที่ วิถีการกินและปรุงที่มีลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างกันไป ทำให้หลายครั้งก็เดาได้เลยว่าคนกินหรือคนปรุงมาจากถิ่นใด (เช่น ครัวเกาหลีต้องมีกิมจิ ครัวฝรั่งต้องมีพริกไทย และคนหาดใหญ่ต้องปอกเปลือกซาลาเปา)

นอกจากจะเป็นตัวแทนวัฒนธรรมแล้ว วิถีการกินยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละช่วงเวลาด้วย อย่างขนมปังผสมแป้งข้าวไรย์และแป้งมันฝรั่งของชาวเยอรมัน ภายใต้การนำของพรรคนาซี ที่โฆษณาชวนเชื่อว่าเพื่อสุขภาพและต่อต้านฟันผุ แต่อันที่จริงคือแป้งสาลีทำขนมปังไม่เพียงพอต่างหาก (อ่านเรื่องขนมปังต่อได้ที่นี่) เช่นเดียวกันกับเรื่องราวของ “เบนโตะ (Bento)” ข้าวกล่องจากแดนอาทิตย์อุทัยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเกือบ 1,000 ปี

Bento Since 1185
■□


บันทึกต้นกำเนิดของเบนโตะที่ย้อนไปได้ไกลที่สุดคือยุคคามาคุระ (ค.ศ. 1185 –  1333) เบนโตะเวอร์ชัน 1.0 เป็นเพียงไอเดียห่อข้าวพกพาสำหรับ Hoshi-ii หรือข้าวหุงสุกที่นำไปผ่านกระบวนการทำให้แห้ง บรรจุในหีบห่อเพื่อให้สะดวกต่อการเดินทาง เก็บได้นาน และนำมาปรุงหรือผ่านความร้อนใหม่ได้อีกครั้งเมื่อท้องหิว

จากไอเดียห่อข้าวพกพาเพื่อความสะดวกพัฒนามาเป็น “เบนโตะ” จริงจังในยุคอาสึจิ โมโมะยามะ (ค.ศ. 1573 –  1603) เมื่อกล่องไม้เคลือบแลกเกอร์สวยงามถูกนำมาใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหารสำหรับเทศกาลชมซากุระ (Hanami) มื้ออาหารในกล่องไม้เคลือบแลกเกอร์เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นเมื่อ โอดะ โนบุนากะ ริเริ่มนำข้าวกล่องเบนโตะมาใช้สำหรับบรรจุอาหารสำหรับผู้อาศัยในปราสาท


เอโดะ (ค.ศ. 1603 – 1868) ยุคสมัยที่สงบสุขของชาวญี่ปุ่นคือยุคเฟื่องฟูของข้าวกล่องเช่นกัน Koshibento หรือข้าวปั้นโอนิกิริที่ห่อด้วยใบไผ่เกิดขึ้นในยุคนี้ Makunouchi ข้าวกล่องเบนโตะฉบับมาตรฐานที่ประกอบด้วยข้าวปั้นและเครื่องเคียงต่าง ๆ ก็เช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันประกอบด้วยข้าว ปลาย่าง ไข่ม้วน ผัก และเครื่องเคียงที่เป็นของดอง ส่วนข้าวกล่องสถานีรถไฟชื่อดังที่คนนั่งชินคันเซ็นต้องลิ้มลองให้ได้สักครั้งอย่าง Ekiben นั้นเชื่อกันว่าวางจำหน่ายครั้งแรกที่สถานี อุทสึโนะมิยะ จังหวัดโทจิกิ ในปี ค.ศ. 1885 หรือในสมัยเมจิ (ค.ศ. 1868 – 1912) นั่นเอง

การใช้กล่องเบนโตะแบบอลูมิเนียมเกิดขึ้นในช่วงไทโช (ค.ศ. 1912 – 1926) หลังจากอลูมิเนียมกลายเป็นโลหะราคาถูกในปี ค.ศ. 1914 ด้วยคุณสมบัติที่แข็งแรงและมีน้ำหนักเบา อลูมิเนียมจึงถูกนำมาใช้ผลิตเป็นภาชนะ และพัฒนามาเป็นกล่องเบนโตะที่ผลิตจากพลาสติก ที่ได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันในที่สุด

Bento and Social Class
■□

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจมีปัญหา และเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำในสังคม เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นภายใต้การบริหารของ มาซาตาเกะ เทระอุจิ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ “การจลาจลข้าว” ในปี ค.ศ. 1918 เมื่อรัฐบาลเลือกส่งข้าวให้เป็นเสบียงสำหรับทหารญี่ปุ่นที่ทำสงครามกับไซบีเรีย และไม่ควบคุมราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัวเพื่อเอื้อให้กลุ่มนายทุนอย่าง บริษัทมิทสึอิ ได้ฉวยโอกาสนำเข้าข้าวราคาสูง ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคข้าว โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน อันนำไปสู่เหตุการณ์จลาจลครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ไม่ใช่แค่การต่อสู้ของผู้ใหญ่ ช่องว่างทางสถานะเหล่านี้ปรากฏขึ้นผ่านกล่องข้าวกลางวันของเด็ก ๆ ที่โรงเรียนเช่นกัน เด็กจากครอบครัวที่มีฐานะจะถือกล่องข้าวใหม่ บรรจุอาหารที่หลากหลาย น่ารับประทาน ได้สารอาหารครบถ้วน ส่วนเด็กจากครอบครัวยากจน แค่ข้าวกล่องเรียบ ๆ ธรรมดา ครอบครัวก็ทำให้ไม่ได้


“แม่ของผมอายุมากกว่าแม่ของเด็กคนอื่น ๆ แม่จัดเบนโตะของผมด้วยถ้วยชามแบบญี่ปุ่น ส่วนเด็กคนอื่นมีเบนโตะแบบใหม่ทันสมัย ข้างในเป็นแซนด์วิชไส้แยม และมีไส้กรอกที่ตัดเป็นรูปกระต่าย” ฮอนมะ กาคุ ผู้เขียน The Folk Art of Japanese Country Cooking เล่าไว้ในหนังสือของเขา


ปัญหาเรื่องข้าวกล่องที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำหมดไปในปี ค.ศ. 1954 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นแนะนำมื้ออาหารที่แนะนำสำหรับเด็กนักเรียน และประกาศดังกล่าวกลายเป็นมาตรฐานอาหารกลางวันของโรงเรียนทั่วประเทศญี่ปุ่นในที่สุด โดยประกอบด้วย ขนมปัง เนย ข้าว และซุป เด็ก ๆ ไม่ต้องพกเบนโตะมาโรงเรียนอีกต่อไป แค่ผ้าเช็ดปากผืนเดียวก็เพียงพอ (และผ้าเช็ดปากได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางสังคมไปด้วยเช่นกัน เด็กจากครอบครัวมีฐานะมักพักผ้าเช็ดปากที่ตัดเย็บอย่างดีด้วยเครื่องจักรและมีลายดอกทิวลิปหรือผีเสื้อ)

Bento: Expression of Feelings
■□

เมื่อดูซีรีส์ ภาพยนตร์ หรืออนิเมะจากญี่ปุ่น ภาพหนึ่งที่เห็นได้บ่อย ๆ คือคุณแม่ที่ตื่นแต่เช้ามืดเพื่อเตรียมเบนโตะให้สามีและลูก ๆ ภายในกล่องข้าวใบน้อยบรรจุข้าว เนื้อสัตว์ ผัก เครื่องเคียง (บางครั้งก็มีของหวานและผลไม้ด้วยเช่นกัน) จัดเรียงอย่างสวยงามและตัดแต่งอย่างประณีตเพื่อแสดงถึงความรักและความใส่ใจที่มีให้คนในครอบครัว ตัวอย่างเช่น ข้าวกล่องตัวการ์ตูน “Kyaraben” ที่นำคาแรกเตอร์จากการ์ตูนที่ลูกชื่นชอบมาสร้างสรรค์เป็นข้าวกล่องจากวัตถุดิบอย่างสาหร่าย ไข่ขาวผสมสี แฮม ปูอัด ประกอบกับเนื้อสัตว์ ผัก และเครื่องเคียงเพิ่มเติม


นอกจากข้าวกล่องจะเป็นสัญลักษณ์แทนความรักแล้ว ข้าวกล่องยังเป็นสายใยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวด้วยเช่นกัน “Shikaeshi Bento” หรือข้าวกล่องแก้แค้น จากเหล่าภรรยาที่ต้องการสื่อความรู้สึกเคืองใจถึงสามีผ่านข้าวกล่อง ที่เห็นแล้วอดขำกับความสัมพันธ์ของพวกเขาไม่ได้ หรือภาพยนตร์เรื่อง “Bento Harassment (Kyou mo iyagarase bento)” เรื่องราวของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่รู้สึกห่างเหินกับลูกสาวหัวรั้นของตัวเอง จึงเลือกส่งข้อความผ่านเบนโตะมื้อกลางวันของลูกสาววัยรุ่นชั้นมัธยมปลาย และหวังว่าข้อความเหล่านั้นจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอและลูกสนิทกันมากขึ้นนั่นเอง

“A little bit of everything” คือแนวคิดของเบนโตะที่ต้องรวมอาหารแต่ละชนิดอย่างละนิดละหน่อย เพื่อให้มื้ออาหารมีความหลากหลายและได้รับสารอาหารครบถ้วน และข้าวกล่องขนาดพกพานี้ยังมีบทบาทเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตของชาวญี่ปุ่นเช่นกัน ทั้งการส่งข้อความแทนเหล่าลูกพระอาทิตย์ที่ไม่ชอบเปิดเผยความรู้สึก และแทรกตัวอยู่ในวิถีชีวิตอันแสนเร่งรีบของสังคมญี่ปุ่นได้อย่างสวยงาม




อ้างอิง


เรื่องโดย