ระหว่างห้วงสงครามห้ำหั่น ‘สตรี’ ก็ถูกส่งตัวเข้าเขตสู้รบเช่นชายหนุ่ม อาจไม่ใช่การถือปืนแบกกระสุนขึ้นบ่าร่วมเข่นฆ่า แต่ใช้ทักษะพิเศษที่ชายใดก็สู้ไม่ได้ ทว่าความแกร่งกล้านี้ไม่ได้รับคำชื่นชม ซ้ำถูกลืมเลือนเสียจนน่าใจหาย
ย้อนกลับไปในอดีตนานมา เมื่อปี 1914 โลกทั้งใบก้าวเข้าสู่สงครามอย่างสมบูรณ์จากหลายชนวนเหตุ มหาอำนาจแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจับคู่ร่วมมือทำลายล้างอย่างไม่จบสิ้น ถัดมาเพียง 3 ปีโดยประมาณ อเมริกาเข้าร่วมสงครามครั้งนี้อย่างเสียไม่ได้ แต่ขึ้นชื่อว่าสงครามแล้ว นอกเหนือจากกลยุทธ์ที่เฉียบแหลม หรือจำนวนกำลังพลที่มากโข สิ่งสำคัญที่สร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกันระหว่างกองทัพ สอดส่องฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่เจรจาข้อพิพาทต่าง ๆ คือการสื่อสารทางโทรศัพท์
ในช่วงแรกมีการวานจ้างชายชาวฝรั่งเศส แต่ด้วยความแตกต่างทางวัฒนธรรม บวกกับทักษะภาษาอังกฤษที่ยังไม่ดีพอ จึงหันกลับมาใช้เหล่าทหารในกองทัพแทน ทว่าก็ลงเอยเช่นเดิม เห็นได้ชัดว่าชายหนุ่มบกพร่องในด้านการสื่อสาร ทั้งยังขาดประประสบการณ์ในการใช้สวิตช์บอร์ด (สื่อกลางที่เชื่อมระหว่างผู้โทรและรับ) ในปีเดียวกันพลเอกจอห์น เพอร์ชิง ผู้บัญชาการกองกำลังสำรวจอเมริกา (AEF) จึงออกประกาศเชิญชวนสาวน้อยใหญ่ให้เข้าร่วมอุดมการณ์ ร่วมปฏิบัติทำหน้าที่สำคัญที่ไม่ใช่ใครจะทำก็ได้
จากสัมมาอาชีพสู่แนวหน้าท้ารบ
☎
แอบคิดสงสัยใคร่รู้ว่าเหตุใด คุณสมบัตินี้จึงปรากฏแก่หญิงสาวเป็นส่วนใหญ่ อาจเพราะอีกอาชีพที่นิยมในหมู่สาว ๆ คือพนักงานรับสายโทรศัพท์ ขอบเขตงานคือรับสายและส่งต่อสายไปยังสวิตช์บอร์ดกลางที่เชื่อมต่อกับปลายสายของผู้ใช้บริการ ถึงจะบอกว่าเป็นการเชิญชวน แต่สาว ๆ จะต้องเข้ารับการคัดเลือกหลายส่วนด้วยกัน ตั้งแต่ไม่มีประวัติด่างพล่อย ผ่านการทดสอบทางจิตวิทยา สำคัญคือสื่อสารภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษได้คล่องปรื๋อ เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วจะต้องเข้ารับการฝึกทางทหาร ทบทวนบทเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ รวมถึงฝึกซ้อมคำศัพท์ทางการทหารให้ขึ้นใจ ในไม่ช้าหน่วยโทรศัพท์หญิงของกองสัญญาณอเมริกันถูกก่อตั้งขึ้น พร้อมกับสมาชิกอีกกว่า 223 คนโดยประมาณ ลงปฏิบัติงานในเดือนมีนาคม ปี 1918
Photo Credit: United States Armed Forces
เนื้องานประชิดระยะยิง
☎
ทันทีที่หน่วยโทรศัพท์ลงสนาม สร้างเสียงฮือฮาให้หลายฝ่ายไม่น้อย ด้วยเป็นหญิงกลุ่มเดียวกลางสมรภูมิ คำสรรเสริญเยินยอย่อมมาพร้อมสายตาดูถูกเสมอ ทว่าก็ชนะใจด้วยความเก่งกาจ ทักษะเพียบพร้อมทำให้หน้างานไร้ปัญหา ทำตั้งแต่ส่งข้อความเข้ารหัส เชื่อมต่อผู้บังคับบัญชากับทหารในสนามรบ ประสานงานการเคลื่อนพลของฝ่ายตรงข้าม การวางตำแหน่งปืนใหญ่ ไปจนถึงช่วยส่งเสบียงให้ถึงมือแนวหน้า เธอสามารถแปลสารได้คล่องแคล่วฉับไว ประกอบกับการพูดจาสุภาพอ่อนหวาน เธอมักรับสายด้วยการพูดฮัลโหลทักทายก่อนเสมอ จนเป็นที่มาของฉายาประจำหน่วยอย่าง ‘ฮัลโหล เกิร์ล’
พวกเธอเคียงข้างสนามรบโดนไม่ละทิ้งหน้าที่ ทำงานภายใต้เสียงระเบิดดังสนั่นอย่างไม่หวาดหวั่น แม้บางครั้งต้องพบเจอกับเรื่องคับขันอย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างเหตุเพลิงไหม้จากการลอบโจมตีของฝ่ายตรงข้าม เปลวเพลิงทวีความรุนแรงลุกลามอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง อาคารรอบสำนักงานกว่า 8 หลังค่อย ๆ โดนกลืนกิน พื้นที่คละคลุ้งด้วยเขม่าควันดำหนาทึบ แต่สาว ๆ ยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ลดละ ยังคงรับสารโทรเข้าออกโดยไม่สนใจคำสั่งอพยพ หรือชีวิตของตนเอง กระทั่งไฟร้อนระอุเผาไหม้ถึงประตูสำนักงาน จวนเสี้ยวนาทีสุดท้ายจึงยอมละทิ้งสายโทรศัพท์ไปในที่สุด เมื่อเปลวเพลิงสงบลง สาว ๆ รีบรุดเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ต่ออย่างไม่หยุดยั้ง ท่ามกลางกลิ่นเขม่าบางเบาที่ยังไม่จางไป
Photo Credit: United States Armed Forces
งานดำเนินไปข้ามวันข้ามคืนไม่หยุดหย่อน การสวมหมวกกันน็อค และหน้ากากป้องกันแก๊สพิษแทบทุกเวลานั้นทรมานไม่ใช่เล่น แต่หลังจากกะงานอันยาวนานสิ้นสุดลง แทนที่จะล้มตัวลงนอนบนเตียงสบายใจเฉิบ พวกเธอกลับออกไปโรงพยาบาลสนาม แวะเวียนพูดจาชวนคุยกับเหล่าทหารเพื่อลืมความเจ็บปวด ช่วยเต็มเติมกำลังใจซึ่งกันและกัน แววตาดูแคลนเมื่อครั้งเก่าเริ่มจางหาย ลบตรรกะการแบ่งแยกทางเพศไปในพริบตา
ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ฮัลโหล เกิร์ล เชื่อมต่อสายโทรศัพท์ได้มากกว่า 26 ล้านคู่สาย ด้วยความเร็วเฉลี่ยในการรับและเชื่อมต่อสายอยู่ที่ประมาณ 10 วินาที รับสายได้รวดเร็วกว่าสถิติที่ผ่านมากว่าห้าเท่า และช่วยพลิกหลายวิกฤตให้กลับมาเป็นโอกาสมานับครั้งไม่ถ้วน
ลมใต้ปีกที่ถูกลืม
☎
Photo Credit: United States Army Signal Corps
เมื่อสงครามสิ้นสุด สาว ๆ กลับบ้านมาพร้อมกับความภาคภูมิอย่างหาที่สุดไม่ได้ โดยหารู้ความจริงเบื้องหลังสัญญาจ้างว่า พวกเธอเป็นเพียงพนักงานว่าจ้าง ไม่ถูกนับว่าเป็นทหารผู้มีเกียรติด้วยซ้ำไป ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เฉกเช่นชายชาติทหาร ทั้งเงินบำนาญ ค่าจัดงานศพ หรือธงบนโลงศพ ไม่ได้รับแม้แต่ค่าชดเชยเครื่องแบบที่กองทัพบังคับให้ซื้อด้วยเงินตัวเอง พวกเธอถูกโลกลืมไปชั่วขณะอย่างน่าเศร้าใจ
สาว ๆ ตัดสินใจทวงความยุติธรรมให้ตนเอง โดยมีองค์กรแห่งชาติเพื่อผู้หญิงได้เข้ามาช่วยเหลือ ดำเนินการฟ้องเรียกสิทธิที่ควรจะได้รับโดยไม่ต้องขอ กว่าความเป็นธรรมผลิบานต้องใช้เวลากว่า 47 ปี ในปี 1979 ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ได้คืนสถานะ สิทธิประโยชน์ และเหรียญชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 แก่พวกเธอ แม้ว่าจะถูกคัดค้านจากกองทัพบก หน่วยงานบริหารทหารผ่านศึก และองค์กรของทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ ก็ตาม
ที่มา
- The Hello Girls of World War I. Amy Hayes. https://bit.ly/3YxLowR
- ‘Hello Girls’ Kept World War I Communications Humming. Kelly Bell. https://bit.ly/4dzflRh
- The ‘Hello Girls’ helped win WWI—why was their service overlooked?. Erin Blakemore. https://bit.ly/3WF2FRV
- Hello Girls Answer Uncle Sam’s Call. Amber Paranick. https://bit.ly/3LYHWUA