Kind Words

ไขข้อสงสัย แท้จริงแล้วเจ้าแม่กวนอิมเป็นหญิงหรือชาย?

เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นข้อถกเถียงในหัวข้อ “เจ้าแม่กวนอิมเป็นหญิงหรือชาย?” ผ่านตามาบ้างแล้ว วันนี้ KiNd ก็ไม่พลาดที่จะมาไขข้อสงสัยนี้ให้กระจ่าง ชวนทุกคนมาสืบเสาะหาคำตอบไปด้วยกัน เริ่มเลย!

“พระโพธิสัตว์กวนอิม” หรือที่คนไทยคุ้นชินกันในชื่อ “เจ้าแม่กวนอิม” มีประวัติความเป็นมาปรากฏในศาสนาพุทธนิกายมหายาน เป็นที่นิยมนับถือในประเทศแถบเอเชียตะวันออกอย่างจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไทย และอินเดีย ซึ่งในแต่ละประเทศก็จะมีความเชื่อเกี่ยวกับเจ้าแม่กวนอิมแตกต่างกันออกไป

จีนเล่า เคล้าตำนาน
∗∗∗


“เจ้าแม่กวนอิม” ในภาพจำของใครหลายคนคือ ภาพของสตรีในชุดสีขาว แต่แท้จริงแล้ว ราวพุทธศตวรรษที่ 13 ในอินเดียมีการสร้างรูป “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” หรือเจ้าแม่กวนอิม โดยมีรูปลักษณ์เป็นชายตามพระไตรปิฎก เมื่อครั้งศาสนาพุทธเผยแผ่จากอินเดียสู่จีน ในสมัยราชวงศ์ฮั่นและซ่ง มีการสร้างรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมตามแบบฉบับอินเดีย จะเห็นได้จากจิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมแกะสลักที่ปรากฏในถ้ำม่อเกา (Mogao Caves) ต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวน มีการสร้างรูปปั้นพระโพธิสัตว์กวนอิมให้เป็นสตรีเพื่อแสดงถึงความอ่อนโยน เฉกเช่นความรักของมารดาที่มีต่อบุตร ตำนานพระอวโลกิเตศวรที่มีต้นกำเนิดจากอินเดีย ถูกเล่าเคล้ากับตำนานเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านของจีน ก่อให้เกิดเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิมในภาคสตรีขึ้น


“เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน” หนึ่งในบุตรีของพระราชาเมี่ยวจงกับพระนางโปยาเทวี ครั้นเมื่อถึงยามออกเรือน เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านไม่ประสงค์เฉกเช่นหญิงสาวทั่วไป เธอตัดสินใจปฏิบัติตามเส้นทางจิตวิญญาณ ออกบวชเป็นภิกษุณีเพื่อบำเพ็ญเพียรบารมี และทรงโปรดสัตว์ ทำบุญทำทานแก่สัตว์น้อยใหญ่ด้วยความเมตตาจนเจริญญาณขั้นสูงสุด แน่นอนว่าพ่อของเธอไม่สนับสนุนเส้นทางนี้ จึงสั่งให้เผาวัดและประหารเธออย่างทารุณ แต่ด้วยผลบุญที่สั่งสมมา ส่งผลให้เจ้าหญิงเมี่ยวซ่านได้จุติเป็น “พระโพธิสัตว์กวนอิม”


หลายปีต่อมา พระราชาเมี่ยวจงล้มป่วยลง จะหายขาดได้ก็ต่อเมื่อได้รับยาที่ทำจากดวงตาและแขนของผู้ที่เต็มใจมอบให้เท่านั้น ซึ่งลูกสาวคนอื่น ๆ ของพระองค์ปฏิเสธโดยทันที แม้ว่าผู้เป็นพ่อจะขอร้องอ้อนวอนเพียงใดก็ตาม ในขณะนั้นมีพระภิกษุได้กราบทูลพระราชาถึงเรื่องพระโพธิสัตว์ผู้เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา พระองค์ไม่รอช้าที่จะส่งคนไปตามหาในทันที เมื่อพระโพธิสัตว์กวนอิมทราบข่าวก็รู้ในทันทีว่าโรคภัยนี้เกิดจากผลของการกระทำในอดีต แต่ด้วยความเมตตา ก็ทรงเต็มใจสละดวงตาและแขนให้ไป จากนั้นไม่นานพระราชาก็หายเป็นปกติ พระองค์ซาบซึ้งในความมีเมตตา จึงเดินทางมายังภูเขาที่พระนางอาศัยอยู่ และได้พบว่าพระโพธิสัตว์พระองค์นี้คือลูกสาวของตน พระราชาตกตะลึง และได้ตระหนักถึงบาปกรรมทั้งหมดที่ก่อไว้ ซึ่งพระนางได้ให้อภัยผู้เป็นพ่อ พร้อมกล่าวว่า “ให้พระองค์จงดำเนินชีวิตต่อจากนี้ด้วยความมีเมตตา”

แท้จริง หญิงหรือชาย?
∗∗∗


*นักประติมานวิทยาได้การสันนิษฐานถึงเหตุอันทำให้รูปลักษณ์นั้นถูกแปรเปลี่ยนเป็นหญิงคือ

  • ในสมัยโบราณนั้น ผู้หญิงมักได้รับการกดขี่ข่มเหงและทุกข์ทรมานมากกว่าเพศชาย จึงเกิดภาพลักษณ์ในด้านที่เป็นเพศหญิง เพื่อช่วยเหลือสตรีให้หลุดพ้นจากบ่วงกรรม
  • ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความอ่อนโยนและมีจิตใจที่ดีงาม โดยเฉพาะความรักและการให้อภัยที่ไม่มีเงื่อนไขของผู้เป็นแม่ อันเป็นสัญลักษณ์ของความเมตตาต่อลูก

ในบางความเชื่อเจ้าแม่กวนอิมถูกยกย่องให้เป็นสื่อกลางของความหลากหลายบนโลก ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติ ศาสนา ชนชั้น สีผิว และเพศ ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องเพศอาจไม่ได้มีความสำคัญมากเท่าไรนัก หากเรายึดมั่นในศรัทธาและความเชื่อ เพียงเท่านี้ชีวิตก็เป็นสุข   

*นักประติมานวิทยา ผู้เชี่ยวชาญในด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ที่เป็นการศึกษาประวัติ คำบรรยาย และการตีความหมายของเนื้อหาของภาพ


อ้างอิง

เรื่องโดย