Kind Sound

สู่อิสรภาพและความเท่าเทียม! ชวนอ่านเรื่องราวของดนตรี “แจ๊ส” ที่ไม่ได้มีแค่ปาร์ตี้และความรื่นรมย์

บรรยากาศบาร์จอแจไปด้วยเสียงบทสนทนาของเหล่านักดื่ม ทว่าไม่ได้ดังเสียจนกลบเสียงเพลงที่บรรเลงอยู่เบื้องหลัง หากเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจจะได้ยินเสียงเปียโนบรรเลงเด่นขึ้นมาเป็นเสียงหลัก พร้อมด้วยแซกโซโฟนเล่นคลอเพิ่มสีสัน ท่ามกลางเบสที่คอยเพิ่มอรรถรสให้ตลอดการบรรเลง และกลองตีดังเป็นจังหวะ หนึ่ง สอง สาม สี่ ที่คอยกำกับเพื่อนสมาชิกในวง Quartet (วงเครื่องดนตรี 4 ชิ้น) ให้เล่นสอดประสานกันอย่างพร้อมเพรียง ออกมาเป็นบทเพลงแจ๊สที่กล่อมเกลาให้บรรยากาศในค่ำคืนนี้เป็นที่น่าจดจำ



วันนี้ KiNd อยากชวนทุกคนมานั่งพักกายพักใจ และฟังเพลงแจ๊สเพลงโปรดคลอไปกับเรื่องราวของดนตรีแจ๊สที่เราหยิบยกมาให้อ่านกัน

เริ่มกันด้วยจุดกำเนิดของดนตรีแจ๊ส ก่อนที่เราจะมีแจ๊สให้ฟังกันอย่างทุกวันนี้ ในอดีตมีดนตรี Blues และ Ragtime มาก่อน ทั้งบลูส์และแร็กไทม์มีต้นกำเนิดมาจากชาวแอฟริกันอเมริกันในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ไปจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 และได้เกิดพัฒนาการเรื่อยมา รวมถึงได้รับอิทธิพลจากดนตรีพื้นบ้านของชาวแอฟริกันหลากหลายกลุ่ม และดนตรีจากทางยุโรป ท้ายที่สุดก็ได้เกิดเป็นดนตรีแจ๊สขึ้นมา ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักที่ส่งอิทธิพลต่อปัจจัยด้านอื่น ๆ ในสังคมอีกมากมาย
 

ก่อความ “แจ๊ส” ความขบถในคราบดนตรี ♪


อิทธิพลแรกที่แจ๊สส่งผลโดยตรงคือ การทำให้ศิลปินผิวดำได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น เรียกได้ว่าแจ๊สเป็นดนตรีที่มอบสปอตไลต์ในการแสดงจิตวิญญาณทางด้านดนตรีของคนผิวดำสู่สังคม และศิลปินยังได้ใช้ดนตรีแจ๊สเป็นสื่อกลางในการพูดถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นต่อคนผิวดำ อาทิ John Coltrane ที่แต่งเพลง “Alabama” เพื่อต่อต้านกลุ่ม Ku Klux Klan กลุ่มลัทธิชาตินิยมสุดโต่งที่ต่อต้านการมีอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ โดยยึดมั่นในความเชื่อที่ว่าคนผิวขาวคือเผ่าพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด หรือ Nina Simone กับบทเพลงอันเป็นตำนานอย่าง “Strange Fruit” ที่บรรยายถึงความโหดร้ายของการเป็นทาสผิวดำในสหรัฐอเมริกา

 

John Coltrane ที่แต่งเพลง “Alabama”

Photo Credit: www.infobae.com

Nina Simone กับบทเพลงอันเป็นตำนานอย่าง “Strange Fruit”

Photo Credit: www.npr.org


นอกจากนี้ แจ๊สได้สร้างพื้นที่ให้ศิลปินผู้หญิงผิวดำได้แสดงความสามารถมากขึ้น เราจึงได้รู้จักศิลปินอย่าง Billie Holiday, Nina Simone, Ella Fitzgerald และอีกหลายต่อหลายคนจวบจนปัจจุบัน รวมถึงแจ๊สได้เป็นจุดเริ่มต้นก่อเกิดวัฒนธรรมย่อยที่เรียกว่า “Flappers” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของเหล่าหญิงสาวที่ต่อต้านค่านิยมการเป็นผู้หญิงในสมัยนั้น โดยเหล่า Flappers จะนิยมไว้ผมสั้นทรงบ๊อบ ทาปากสีแดงเด่นเป็นเอกลักษณ์ นิยมสวมใส่กระโปรงยาวเสมอเข่าเพื่อให้สะดวกต่อการเต้นและร้องรำทำเพลง ซึ่งแน่นอนว่าเพลงโปรดของพวกเธอคือเพลงแจ๊ส นิยมสูบบุหรี่และชื่นชอบการดื่มสุรา และมักมีลักษณะนิสัยแบบหญิงสมัยใหม่ที่กล้าคิด กล้าทำ และกล้าใช้ชีวิตมากขึ้น


Billie Holiday

Photo Credit: www.npr.org

Ella Fitzgerald

Photo Credit: caffetteriadellemore.forumcommunity.net


วัฒนธรรม ขับเคลื่อน การเมือง

ผู้หญิงมีสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น นอกจากจะเป็นเพราะอิทธิพลจากดนตรีแจ๊สส่วนหนึ่งแล้ว ยังเป็นเพราะการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ผู้หญิงต้องออกมาทำงานนอกบ้านแทนผู้ชาย เพราะผู้ชายต่างต้องเข้าร่วมรบในสงคราม รวมถึงปัจจัยด้านการเติบโตของเมือง ทำให้ผู้คนย้ายไปอยู่ในเมืองมากขึ้น ผู้หญิงจึงได้กลายมาเป็นแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองและสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อค่านิยมเก่า ๆ

 

Lynn Dumenil

Photo Credit: us.macmillan.com


Lynn Dumenil อดีตศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์แห่ง Occidental College และผู้เขียนหนังสือ The Second Line of Defense: American Women and World War I ได้กล่าวถึง อิทธิพลของวัฒนธรรม Flappers ไว้ว่า “Flappers ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อบทบาทของผู้หญิงในครอบครัว ทำให้มีการคุมกำเนิด และช่วยผ่อนปรนกฎระเบียบของการเป็นผู้หญิง”

 


แจ๊สยังคงส่งอิทธิพลต่อการเมืองอย่างไม่หยุดยั้ง ในช่วงสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ทางการสหรัฐฯ เคยส่งทูตศิลปินแจ๊สไปตระเวนแสดงคอนเสิร์ตในยุโรป แอฟริกา และสหภาพโซเวียต ภายใต้ชื่อว่า The Jazz Ambassadors ประกอบไปด้วยศิลปิน 3 ท่าน ได้แก่ Dizzy Gillespie, Louis Armstrong และ Dave Brubeck เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีทางวัฒนธรรม และนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีของอเมริกันชนสู่สายตาชาวโลก Adam Clayton Powell Jr. สมาชิกสภาคองเกรสประจำปี ค.ศ. 1955 กล่าวว่า “แจ๊สเป็นอาวุธที่ดีที่สุดในการทำให้สงครามเย็นทุเลาลง”

 

Dizzy Gillespie

Photo Credit: karsh.org

Louis Armstrong

Photo Credit: www.biography.com

Dave Brubeck

Photo Credit: karsh.org


ส่งต่อจิตวิญญาณ ให้กับงานแขนงอื่น ♪ 

แจ๊สกับศิลปะแขนงอื่น หากไม่พูดถึงคงไมได้ แน่นอนว่าแจ๊สทรงอิทธิพลอย่างมากในวงการดนตรี จนทำให้เกิดแนวดนตรีชนิดใหม่ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น Soul, RNB, Pop และอื่น ๆ อีกมากมาย สำหรับวงการวรรณกรรม หนึ่งในวรรณกรรมสุดคลาสสิกแห่งยุคอย่าง The Great Gatsby ที่แต่งโดย F. Scott Fitzgerald ได้บันทึกสีสันของสังคมอเมริกันในช่วงที่แจ๊สเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักได้เป็นอย่างดี รวมถึงผลงานชิ้นอื่นของเขาก็ด้วยเช่นกัน



นอกจากนี้ แจ๊สยังส่งอิทธิพลต่องานศิลปะสมัยใหม่ อาทิ ผลงาน Jazz VI ของ Wassily Kandinsky ศิลปินผู้บรรเลงดนตรีผ่านรูปทรงต่าง ๆ บนผืนผ้าใบ ผลงาน Broadway Boogie Woogie ของ Piet Mondrian ศิลปินผู้ถ่ายทอดโลกที่เขาเห็นผ่านรูปทรงง่าย ๆ ไปจนถึงศิลปินผู้สร้างสรรค์งานผ่านการสาดสีอย่าง Jackson Pollock


Wassily Kandinsky

Photo Credit: karsh.org


รวมไปถึงวงการจอแก้วและจอเงินที่เริ่มเฟื่องฟูในยุคที่แจ๊สเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก ก็มีการนำเพลงแจ๊สไปใช้อย่างมากมาย ตั้งแต่แอนิเมชันอย่าง Betty Boop, Mickey Mouse ไปจนถึง Tom and Jerry ในส่วนของภาพยนตร์ก็มีการนำไปใช้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะภาพยนตร์ประเภท Noir หรือหนังขาวดำแนวสืบสวนสอบสวน ที่มีภาพจำอย่างชัดเจนว่าต้องมาคู่กับเพลงแจ๊สเท่านั้น รวมไปถึงภาพยนตร์ในยุคปัจจุบันก็ยังมีการใช้เพลงแจ๊สให้เห็นอย่างแพร่หลาย เช่น ภาพยนตร์รางวัลออสการ์อย่าง Whiplash และ La La Land เป็นต้น



เป็นอย่างไรกันบ้าง กับเกร็ดความรู้ของดนตรีแจ๊สที่เรานำมาฝากในวันนี้ สำหรับใครที่มีเพลงแจ๊สในดวงใจที่อยากแบ่งปัน หรือมีมุมมองอื่น ๆ เกี่ยวกับเพลงแจ๊ส สามารถคอมเมนต์มาบอกพวกเราได้เลย!



อ้างอิง


เรื่องโดย