Kind Eyes

พิศผู้หญิงผ่านซีรีส์ “The Law According to Lidia Poët”

“The Law According to Lidia Poëtซีรีส์แนววินเทจชวนติดตามจากฝีมือผู้กำกับ Matteo Rovere และ Letizia Lamartire ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของนักกฎหมายหญิงคนแรกของอิตาลีอย่าง “Lidia Poët” และปรับแต่งเรื่องเล่าให้เคล้าอรรถรสยิ่งขึ้นตามสไตล์เน็ตฟลิกซ์

KiNd ชวนมานั่งล้อมวงดูความเก่งกาจของเธอ ในยุคที่ผู้หญิงถูกกีดกันไม่ให้มีบทบาทในอาชีพทนาย ด้วยสังคมชายเป็นใหญ่ในซีรีส์เรื่องนี้จะถูกเล่าด้วยโทนเสียงใด มาดูไปพร้อม ๆ กัน

* บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน *


วิชาชีพ ผู้หญิง

ในซีรีส์มีการเล่าแบบสลับสับเปลี่ยนไปมา ระหว่างความท้าทายในการไขคดีกับการพิสูจน์ตัวตนในฐานะทนายหญิง ขณะเดียวกันก็สอดแทรกประเด็นเรื่องสังคมชายเป็นใหญ่ไว้อย่างแยบยล ก่อนอื่นเราพามาทำความรู้จักกับ “ลิเดีย โพเอต” กันก่อน เธอเป็นหญิงแกร่งที่เรียนจบด้านกฎหมาย และได้รับใบอนุญาตการเป็นทนายอย่างถูกต้องจากสำนักเนติบัณฑิตยสภาของเมือง ลิเดียมาจากครอบครัวทนายความ พ่อและพี่ชายต่างประกอบอาชีพทนายความเช่นกัน แน่นอนว่าเธอไม่ได้รับการสนับสนุนจากพ่อ ลิเดียไม่ยอมแต่งงานตามคำสั่งและหนีไปเรียนด้านกฎหมาย เธอใช้ชีวิตอย่างเด็ดเดี่ยวและไม่ชอบการพึ่งพิงผู้ชายนับแต่นั้นมา

“อาจเป็นความเสื่อมเสียแก่วิชาชีพ
หากมีผู้หญิงมายุ่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดี”

หากเปิดหัวมาเช่นนี้ หลายคนคงนึกถึงความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของเธอได้ แม้ลิเดียจะได้รับใบรับรองทนายความอย่างถูกต้อง แต่คนในสังคมไม่ได้มองถึงหลักการของความถูกต้องเพียงอย่างเดียว แต่มองไปยังบรรทัดฐานทางขนบประเพณีเป็นหลัก ภายใต้ความเชื่อที่ว่า “ผู้หญิงไม่ควรเป็นทนาย” แน่นอนว่าความเชื่อนี้ไม่ได้ถูกหยั่งรากในความคิดของผู้ชายเพียงฝ่ายเดียว อย่างในฉากที่พี่สะใภ้ของลิเดียได้พูดว่า ถ้าพระเจ้าอยากให้คุณเป็นทนายคงไม่ให้เกิดมาเป็นผู้หญิงหรอกนั่นแสดงให้เห็นว่าพี่สะใภ้ของเธอเป็นหญิงที่ดำรงชีวิตตามขนบธรรมเนียม และศรัทธาต่อแนวคิดภายใต้สังคมชายเป็นใหญ่อย่างชัดเจน

ในขณะที่สืบคดีความต่าง ๆ ลิเดียมักพบเจอกับอุปสรรคในฐานะที่เป็นผู้หญิงเสมอ อย่างในฉากที่เธอไปพบลูกความที่คุก เธอต้องแสดงใบอนุญาตการเป็นทนายแก่เจ้าหน้าที่ทุกครั้ง นั่นเป็นเพราะว่าในยุคสมัยนั้น การประกอบอาชีพทนายในอิตาลีถูกจำกัดไว้สำหรับผู้ชาย ลิเดียจึงถูกเลือกปฏิบัติจากคนแปลกหน้าอยู่เสมอ ความสามารถของเธอถูกตั้งคำถามเพียงเพราะเพศของเธอเท่านั้น อย่างในฉากที่ลิเดียออกความคิดเห็นเกี่ยวกับการตรวจรอยนิ้วมือของฆาตกร แต่ก็ถูกปฏิเสธและโดนเหน็บแนมด้วยคำพูดแสนเจ็บแสบที่ไร้ซึ่งการให้เกียรติโดยสิ้นเชิง

หลังจากเริ่มชีวิตการเป็นทนายได้เพียง 3 เดือน ไม่นานก็ถูกศาลเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นทนายความ ชื่อของเธอพาดหัวข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ พร้อมระบุข้อความอย่างชัดเจนว่า ‘ถูกปลดเพราะเป็นผู้หญิง’ พร้อมกับคำพิพากษาที่ว่า

“เนติบัณฑิตยสภาเป็นสำนักงานที่ผู้หญิงไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวในความเป็นจริงมันจะเป็นภาพที่ไม่น่าดูและไม่เหมาะสมหากมีผู้หญิงกล่าวโต้แย้งระหว่างการพิจารณาคดีเกินขอบเขตที่ผู้เป็นเพศหญิงควรปฏิบัติตนนอกจากนี้ยังเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือในการพิพากษาหากชุดครุยทนายความถูกนำไปสวมทับเสื้อผ้าที่แปลกและดูพิลึกอย่างที่ผู้หญิงมักสวมใส่กันตามแฟชั่นดังนั้นเราจะไม่เรียกผู้หญิงมาปฏิบัติหน้าที่ซึ่งไม่เหมาะสมกับรูปร่างของเธอเองหรือทำให้เธอไม่สามารถปฏิบัติงานอย่างอื่นที่เหมาะสมกับผู้หญิงมากกว่าโดยเฉพาะบทบาทที่เธอมีต่อครอบครัว”

คำตัดสินอย่างเป็นทางการของศาลอุทธรณ์ตูรินคือ ห้ามไม่ให้ประกอบวิชาชีพ ลิเดียถูกลิดรอนสิทธิ์การเป็นทนายลง ไม่ได้รับการอนุญาตให้ว่าความในชั้นศาล หรือแม้กระทั่งสวมชุดครุยทนายอันเป็นสิ่งที่เธอได้มาอย่างถูกต้อง ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เพศสภาพโดยกำเนิด” กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินในครั้งนี้ อีกทั้งยังไล่ให้เธอกลับไปทำหน้าที่ตามธรรมเนียมเดิมที่ควรจะเป็น ความสามารถของลิเดียถูกตัดสินแบบผิวเผินซ้ำแล้วซ้ำเล่า 

ในซีรีส์ยังได้แสดงให้เห็นถึงอาชีพอื่น ๆ ที่ผู้หญิงควรจะทำ เพื่อให้เราเห็นถึงความไม่เท่าเทียมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักบัลเลต์ สาวโรงงาน โสเภณี สาวโรงซักผ้า หมอดู และแม่บ้าน เป็นต้น


พลเมืองสังคม > ผู้หญิง

ในส่วนของสิทธิด้านการศึกษา ในตอนหนึ่งได้พูดถึงไว้ว่า “เขาอนุญาตให้ฉันสำเร็จการศึกษาในขณะที่ผู้หญิงทั่วไปนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนจบชั้นมัธยมต้นด้วยซ้ำนั่นแสดงให้เห็นถึงการกดขี่ให้ผู้หญิงไม่ได้รับการศึกษา ซึ่งส่งผลให้การประกอบอาชีพถูกจำกัดไปด้วย ขณะเดียวกันแม้ในครอบครัวที่ร่ำรวย หญิงสาวได้รับการศึกษาที่สูงกว่าคนส่วนใหญ่ในสังคม กลับได้รับแรงกดดัน ผนวกกับความอิจฉาริษยาที่แม้ไม่ได้เขียนไว้บนหน้าผากแต่สามารถรับรู้ได้ว่า ‘ถ้าล้ม เจอเหยียบซ้ำแน่’ อย่างในฉากนี้ ทุกคนอยากให้เธอติดคุกเพราะเกลียดเธอและที่พากันเกลียดเธอเพราะเธอเรียนดีจบการศึกษาสูงทำงานมากมายที่ผู้หญิงไม่สมควรจะทำนักวิจัยหญิงถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร เธอถูกสังคมก่นด่าอย่างไร้สติและตัดสินว่าผิดแม้ไร้ซึ่งหลักฐานก็ตาม

ส่วนในชีวิตรักคงไม่ต้องเดาให้เหนื่อย เด็กสาวจะถูกกดดันให้เตรียมความพร้อมสำหรับการแต่งงาน ครอบครัวจะสนับสนุนให้ลูกสาวเรียนเต้นรำ หรือเล่นดนตรี จากนั้นให้ไปพบปะชายหนุ่มผ่านงานเต้นรำเพื่อทำการจับคู่ แน่นอนว่าสำหรับคนในยุคนี้การแต่งงานไม่ใช่เรื่องของความรัก อย่างในฉากที่แม่ของลิเดียพูดกับเธอว่า การแต่งงานเป็นเรื่องเศรษฐกิจ  ลูกสาวส่วนใหญ่จึงถูกให้แต่งงานเพื่อใช้หนี้ เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ และเพื่อหน้าตาทางสังคมแทน เรียกได้ว่าผู้หญิงแทบไม่ได้มีสิทธิ์ตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของตนเอง

ในซีรีส์บอกเล่าถึงอิตาลีในยุคที่ผู้หญิงเริ่มตั้งคำถามกับสิทธิที่ควรได้รับ แม้ไม่ใช่การตอบโต้สังคมชายเป็นใหญ่แบบซึ่งหน้า แต่เป็นการปฏิเสธที่จะยอมรับขนบนี้ต่อไป การดำเนินเรื่องจึงมีการใช้โทนเสียงที่ไม่ตึงเครียด ผสานกับนิสัยทีเล่นทีจริงของลิเดียที่ทำให้ยิ้มกรุบพร้อมตบเข่าฉาดด้วยความสะใจตามได้ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนเพียงเรื่องราวของอดีตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัจจุบันในหลายประเทศอีกด้วย และจะยังคงหลงเหลืออยู่ตราบนานเท่านานเลยล่ะ


เรื่องโดย