Kind Creations

จากยุคสมัยที่เลวร้ายที่สุดสู่การปฏิวัติ “มังงะ” ในประเทศญี่ปุ่น


ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายหลังความพ่ายแพ้ของกองทัพญี่ปุ่น ทางสหรัฐอเมริกาและกลุ่มพันธมิตรมีข้อตกลงให้ญี่ปุ่นเปิดเสรีภาพแก่สื่อมวลชนได้

และจุดชนวนของการสร้างชาติด้วย “มังงะ” จึงเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยในศตวรรษที่ 21 มังงะได้เปลี่ยนความหมายเป็นคำที่ใช้แทน “หนังสือการ์ตูนที่มาจากญี่ปุ่น” จนปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์อันโดดเด่นของญี่ปุ่นไปแล้ว



วันพีซ ดราก้อนบอล นารูโตะ แขนกลคนแปรธาตุ สแลมดังก์ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ผ่าพิภพไททัน เซนต์ เซย์ย่า กินทามะ…

มังงะหลากหลายเรื่องในยุคสมัยใหม่ ที่เชื่อว่าเหล่าโอตาคุหลายคนต้องเคยหยิบจับมาอ่านกันแล้วอย่างแน่นอน แต่กว่าจะมาเป็นมังงะในยุคปัจจุบันได้นั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร KiNd ชวนย้อนเวลากลับไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์อันยาวนานของมังงะญี่ปุ่นกันสักหน่อย

“มังงะ” (Manga) เป็นคำในภาษาญี่ปุ่นที่ใช้เรียกการ์ตูนที่มีลักษณะเป็นช่อง ๆ ซึ่งหากแปลจากความหมายตรงตัวจะหมายถึง “ภาพตามอารมณ์” โดยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 มังงะได้รับการพัฒนามาจากภาพวาดบนแผ่นไม้ที่เรียกว่า “อุกิโยเอะ” (Ukiyo-e) ที่ศิลปินใช้บอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ บทละคร และสภาพแวดล้อมทางสังคมในยุคเอโดะ 


ต่อมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากกองทัพญี่ปุ่นพ่ายแพ้ต่อกองทัพสหรัฐอเมริกาและกลุ่มพันธมิตร จุดเริ่มต้นของการพัฒนามังงะจึงเกิดขึ้น เนื่องจากการรุกล้ำเข้ามาของชาติตะวันตก รวมทั้งมีการว่าจ้างศิลปินชาวตะวันตกให้เข้ามาสอนศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นลายเส้น สี หรือรูปร่าง ทำให้มังงะพัฒนารูปแบบออกมาได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 

“แล้วเหตุใดมังงะถึงได้รับความนิยมในช่วงนั้น?” นั่นก็เพราะหลังจากที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไขไปในปี ค.ศ. 1945 ประเทศญี่ปุ่นก็เข้าสู่ช่วงเวลาที่หลาย ๆ คนบอกว่าลำบากที่สุดของประเทศ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ประเทศต้องเยียวยาตัวเองจากเหตุการณ์สงคราม และค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น เพราะสภาวะหลังสงครามของญี่ปุ่นทำให้สังคมอยู่ในสภาวะหดหู่และเศร้าใจ ฉะนั้นผู้คนจึงต้องการสิ่งใหม่ ๆ ต้องการอารมณ์ขัน เพื่อช่วยสร้างความบันเทิงใจ ดังนั้นสื่อที่จะฟื้นฟูสภาพจิตใจและสังคมอย่าง “มังงะ” จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นหากมองจากจุดยืนนี้อาจจะกล่าวได้ว่า มังงะ คือดอกผลของสังคมหลังสงครามที่แสนจะอึมครึมและสิ้นหวังในครั้งนั้น พร้อมทั้งกลายมาเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยพลิกฟื้นญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย

ในช่วงเวลานั้น การเริ่มต้นใหม่กลายเป็นสิ่งที่สังคมญี่ปุ่นโหยหาและต้องการ นอกจากปริมาณของมังงะจะเพิ่มมากขึ้นแล้ว ลายเส้นก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไป ความคิดสร้างสรรค์และโครงเรื่องแบบใหม่ก็ปรากฏขึ้นตามมาจำนวนมาก อย่างเรื่อง “เจ้าหนูปรมาณู” (Astro Boy) ของโอซามุ เท็ตซึกะ ซึ่งเป็นมังงะที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1952 จัดให้เป็นการ์ตูนแนวนิยายวิทยาศาสตร์ (Sci-Fi) เนื้อเรื่องสื่อถึงโลกในอนาคต ตัวเอกคือหุ่นยนต์ที่มีอารมณ์ความรู้สึกแบบมนุษย์ โดยแก่นของเรื่อง คือการตั้งคำถามต่อความเป็นมนุษย์ของหุ่นยนต์ เป็นต้น


ปัจจุบันมังงะมีการขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง มีการทำธุรกิจจากมังงะอย่างจริงจัง มีการแตกยอดประเภทของมังงะออกมาหลากหลายประเภท ตั้งแต่ประเภทเริ่มต้นอย่างโชเน็น (Shonen) หรือมังงะที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเด็กผู้ชาย กับโชโจ (Shojo) มังงะที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเด็กผู้หญิง เรียกว่ามีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้นักเขียนการ์ตูนยุคหลัง ๆ ได้พัฒนาแนวคิดของเนื้อเรื่องและสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างน่าสนใจ โดยความนิยมของการ์ตูนญี่ปุ่นได้แพร่กระจายความนิยมไปยังเอเชีย ยุโรป รวมถึงอเมริกา ปัจจุบันมังงะได้รับการยอมรับจากคนญี่ปุ่นว่าเป็นวิจิตรศิลป์และวรรณกรรมรูปแบบหนึ่งที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมญี่ปุ่น จนกลายเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของญี่ปุ่นไปแล้ว

ตลาดของมังงะ: ความนิยมของเหล่านักอ่าน

ปัจจุบันมังงะหลายเรื่องถูกแปลและจำหน่ายกว่า 80 ประเทศทั่วโลก อาทิ เกาหลี จีน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ฯลฯ และมีแนวโน้มความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี จากการไหลของวัฒนธรรมข้ามชาติและพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น 

ส่วนในประเทศไทย ธุรกิจมังงะเพิ่งจะมาเติบโตเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว โดยก่อนปี ค.ศ. 1993-1995 มังงะในไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รับลิขสิทธิ์จากญี่ปุ่นและคุณภาพก็ไม่สู้จะดีนัก หลังจากนั้นจึงเริ่มมีบริษัทที่ซื้อลิขสิทธิ์อย่างถูกกฎหมายและตีพิมพ์มังงะอย่างจริงจัง จนปัจจุบันมังงะได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง มีตลาดขนาดใหญ่และมีบริษัทแข่งขันอยู่เป็นจำนวนมาก


สมาคมนิตยสารญี่ปุ่น สำนักพิมพ์ และบรรณาธิการ หรือ All Japan Magazine and Book Publisher’s and Editor’s Association (AJPEA) ระบุในรายงานเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2019 ที่ประเมินผลว่ายอดขายของมังงะแบบเล่มพิมพ์กับแบบดิจิทัลมียอดขายรวมกันมากขึ้น 1.9% ในปี 2018 โดยมีมูลค่าการตลาดอยู่ที่ 441,400 ล้านเยน (หรือ 131,199 ล้านบาท/1 เยน = 0.30 บาท)


จากข้อมูลของ oricon.co.jp เว็บไซต์ที่จัดอันดับยอดขายของมังงะในประเทศญี่ปุ่น พบว่า ยอดขายมังงะตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2019 จนถึงวันที่ 17 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 2020 (ครึ่งปีแรกของปี ค.ศ. 2020) ยอดจัดจำหน่ายการ์ตูนขายดีมีผลสำรวจ ดังนี้

  • อันดับที่ 1 คือ ดาบพิฆาตอสูร (Demon Slayer) มียอดจำหน่าย 45,297,633 เล่ม
  • อันดับที่ 2 คือ วันพีซ (One Piece ) มียอดจำหน่าย  4,885,538 เล่ม
  • อันดับที่ 3 คือ เจ้าสาวผมเป็นแฝดห้า (Quintessential Quintuplets) มียอดจำหน่าย 4,240,192 เล่ม
  • อันดับที่ 4 คือ คิงดอม (Kingdom) มียอดจำหน่าย 3,512,571 เล่ม
  • อันดับที่ 5 คือ มายฮีโร่ อคาเดเมีย (My Hero Academia) มียอดจำหน่าย 3,339,656 เล่ม

จากข้อมูลยอดขาย จะเห็นได้ว่าจำนวนของมังงะในประเทศญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น นอกจากความนิยมในประเทศแล้ว ทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยผลิตภัณฑ์จากวัฒนธรรมของกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดโลก โดยมังงะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่เป็นเป้าหมาย ทําให้กระทรวงเศรษฐกิจการค้าอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry หรือ METI) หันมาใช้กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แทนกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก (อย่างเช่น รถยนต์ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์) 

โดยในอนาคตก็ต้องติดตามดูกันต่อไปว่า วงการมังงะจะขยับขยายเม็ดเงินได้มากเพียงใด ขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตของโรคระบาด ที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมการอ่านมังงะของผู้บริโภคที่แปรเปลี่ยนไป ถือเป็นเรื่องท้าทายที่กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต้องมองให้รอบด้านเช่นกัน


ที่มา

  • ปฐมพงษ์ บำเริบ. รายงานเรื่อง มังงะ: ขุมทรัพย์ทางการตลาดมูลค่าพันล้าน. มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี. www.kartoon-discovery.com/history
  • กำเนิดมังหงะ (ก่อนจะมาว่ากันด้วยปรัชญาและการเมือง). https://themomentum.co/manga-001
  • 2020 first half book ranking. www.oricon.co.jp/special

เรื่องโดย