Kind Journey

มิโซรัม อินเดียที่ต่างจากอินเดีย


หากเอ่ยถึงประเทศอินเดีย สิ่งหนึ่งที่หลายคนมักนึกถึงคือความวุ่นวายของผู้คนและความจอแจบนท้องถนน โดยเฉพาะเสียงแตรที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไปเสียแล้ว แต่ที่ มิโซรัม (Mizoram) รัฐเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย คุณจะได้สัมผัสถึงความแตกต่างในหลากหลายมิติจากอินเดียที่คุณคุ้นเคย

KiNd Journal จะพาไปสำรวจดินแดนที่ได้ชื่อว่า “แผ่นดินของคนแห่งภูเขา” รัฐที่มีประชากรเกือบน้อยสุดของอินเดีย และยังคงความสามัคคีของคนในสังคมไว้อย่างเหนียวแน่น เพราะนี่คือเป้าหมายอันมีค่าสูงสุดในชีวิต มากกว่าความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเสียอีก

ทำความรู้จักมิโซรัม ดินแดนของคนแห่งภูเข
▲▲▲

มิโซรัม เป็นหนึ่งใน “รัฐ 7 สาวน้อยและ 1 น้องชาย” ของประเทศอินเดีย (Seven Sisters States and One Brother State) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ 21,081 ตารางกิโลเมตร มีประชากรเพียง 1,090,000 คน นับว่าเกือบน้อยที่สุดของอินเดียจากทั้งหมด 28 รัฐ (รัฐที่มีประชากรน้อยที่สุดคือ รัฐสิกขิม)

หากถามถึงธรรมชาติในมิโซรัม คุณจะไม่ผิดหวังเด็ดขาด เพราะบนแผ่นดินนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิประเทศล้อมรอบด้วยภูเขาและแม่น้ำ จึงได้รับฉายาว่า “สกอตแลนด์แห่งตะวันออก” (Scotland of the East)

พื้นที่ส่วนใหญ่ของมิโซรัมเป็นทิวเขา ซึ่งมีมากถึง 21 ทิวเขา และมียอดเขาที่มีความสูงแตกต่างกันกระจัดกระจายไปทั่วรัฐ ด้านภูมิอากาศ ในช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิจะอยู่ระหว่าง 20-29 องศาเซลเซียส และไม่เคยมีอากาศหนาวถึงระดับมีน้ำแข็ง ด้วยฤดูหนาวมีอุณหภูมิอยู่ที่ 7-21 องศาเซลเซียส

มิโซ ชาวอินเดียที่ไม่เหมือนอินเดีย
▲▲▲

สิ่งที่น่าสนใจของมิโซรัมนอกเหนือจากเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่บนทิวเขาแล้ว หากใครได้มาเยือนที่นี่คงต้องแปลกใจกับรูปลักษณ์ผิวพรรณที่ต่างไปจากชาวอินเดียที่เราคุ้นเคย แม้ผู้คนในรัฐมิโซรัม หรือที่เรียกว่า “ชาวมิโซ” จะมีสัญชาติอินเดีย แต่เค้าโครงรูปร่างและหน้าตากลับไม่เหมือนชาวอินเดียเสียเลย ส่วนใหญ่จะมีผิวพรรณขาวเหลือง มองแล้วคล้ายกับชนชาติจีน หรือหากไม่ทันสังเกตดี ๆ อาจคิดว่าเป็นคนไทยด้วยซ้ำ

ประชากรส่วนใหญ่กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของมิโซรัมนั้นสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าหลายชาติพันธุ์ที่มีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและทางภาษา ชาวมิโซจะอาศัยอยู่ทั่วไปในรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย พม่า และบังกลาเทศ ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ต่างจากชาวอินเดียทั่วไป ทำให้ชาวมิโซโดดเด่นขึ้นท่ามกลางชาวอินเดีย

สำหรับภาษาที่ชาวมิโซใช้ส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่ภาษาฮินดู อันเป็นภาษาราชการของประเทศอินเดีย แต่ชาวมิโซจะใช้ภาษามิโซและภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการมากกว่า ชาวมิโซมีอัตราการรู้หนังสือเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ และมีการใช้ภาษาอังกฤษอย่างแพร่หลาย  โดยนักมานุษยวิทยาได้จัดภาษาของชาวมิโซว่า เป็นส่วนหนึ่งของตระกูล Tibeto-Burman อันเป็นส่วนหนึ่งของเชื้อสายมองโกลอยด์ (Mongoloid Race)  นอกจากนี้ มิโซรัมยังเป็นหนึ่งในสามรัฐของอินเดียที่นับถือศาสนาคริสต์

Tlawmngaihna แนวคิด Harmony of Life ของชาวมิโซ
▲▲▲

ชาวมิโซมีหลักจริยธรรมที่เรียกว่า “Tlawmngaihna” ซึ่งไม่มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยตรง เป็นแนวคิดทางวัฒนธรรมที่เปรียบเสมือนหน้าที่ของชาวมิโซทุกคนคือ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจดี ไม่เห็นแก่ตัว และช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ ซึ่งเห็นได้จากเหตุการณ์ไฟไหม้ ดินถล่ม หรือน้ำท่วม ที่ชาวมิโซจะอุทิศตัวตนเพื่อช่วยเหลือสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ

นอกจากนี้ ชาวมิโซยังถูกมองว่าสนใจด้านการเกษตรกรรมเพื่อการยังชีพและสร้างอาหารสำหรับครอบครัวมากกว่าจะสนใจศักยภาพในการค้าขายและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Ruth Lalremruati ผู้สอนวรรณกรรมมิโซ ที่มหาวิทยาลัยมิโซรัมในเมืองไอซาล (เมืองหลวงของรัฐมิโซรัม) กล่าวว่า ค่านิยมแบบมิโซได้รับการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น พวกเขาเรียนรู้ที่จะแบ่งปันอาหารให้กันและกัน โดยไม่ลืมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น

โดยในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกปี ค.ศ. 2010 ของเขาขณะที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม เขาได้ตั้งข้อสังเกตว่า “Tlawmngaihna” เป็นหลักการพื้นฐานของชาวมิโซ พวกเขาฝึกฝน “การตัดสินใจโดยฉันทามติ” ยึดมั่นในความสามัคคีและความยั่งยืนของสังคม มากกว่าความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ


จิตวิญญาณของชาวมิโซในการช่วยเหลือผู้อื่นไม่เพียงแต่จะสังเกตได้ในช่วงเวลาวิกฤตเท่านั้น แต่พวกเขายังช่วยเหลือซึ่งกันและกันในโอกาสสังสรรค์ต่าง ๆ เช่น ในพิธีแต่งงาน งานเลี้ยงหมู่บ้าน และเทศกาลทางศาสนา เป็นต้น

แม้แนวคิด “Tlawmngaihna” จะทำหน้าที่เป็นบรรทัดฐานทางสังคมของชาวมิโซ แต่ก็ไม่ได้บัญญัติไว้ในกฎหมายข้อใด ดังนั้น หากใครไม่ปฏิบัติตามก็จะไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่อาจจะถูกเคลือบแคลงสงสัยจากสังคม เช่น ถ้าคุณขับรถแซงใครบนท้องถนน คนอื่นจะถามคุณว่า “คุณใช่ชาวมิโซจริงหรือ?”

อย่างไรก็ตาม แม้ยุคสมัยเปลี่ยนไป หนุ่มสาวที่เติบโตในมิโซรัมย้ายไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มากขึ้น จิตวิญญาณของ “Tlawmngaihna” ในคนรุ่นใหม่ก็เริ่มจางหายไป แต่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในมิโซรัม โดยเฉพาะผู้สูงอายุยังคงเชื่อว่า แนวคิด “Tlawmngaihna” ยังมีอยู่ในตัวตนของชาวมิโซทุกคน เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของสายเลือดมิโซ


อ้างอิง


เรื่องโดย