ฤดูกาลของการประชันโฉมความงามกลับมาอีกครั้ง หนึ่งในเวทีที่แฟนนางงามหลายคนตั้งหน้าตั้งตารอคงหนีไม่พ้น “มิสยูนิเวิร์ส” (Miss Universe) หรือเวที MU เพราะเป็นเวทีที่มีสาวงามจากทั่วโลกเข้ามาร่วมแข่งขันชิงชัยกัน ด้วยการประชันความสวย บุคลิกภาพ และความสามารถ รวมถึงปฏิภาณไหวพริบต่าง ๆ ในการตอบคำถาม ส่วนอีกหนึ่งตำแหน่งที่เรียกว่าเป็นสีสันให้กับการประกวดคือ “รางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยม” ที่แต่ละประเทศจะได้นำเสนออัตลักษณ์และวัฒนธรรม อันเป็นจุดเด่นของประเทศผ่านชุดที่ออกแบบมาอย่างสร้างสรรค์ พร้อมถ่ายทอดออกมาบนเวทีโลกอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เพื่อให้ประเทศกลายเป็นที่รู้จักและน่าจดจำ
วันนี้ KiNd จะพาไปย้อนดูรางวัลชุดประจำชาติของประเทศไทยที่เคยได้รับจากเวทีนางงามจักรวาลกันสักหน่อย ว่าความเป็นไทยถูกนำเสนอออกไปสู่สายตาโลกอย่างไรบ้าง
ผู้บุกเบิกรางวัลชุดประจำชาติให้กับประเทศไทยครั้งแรก
♛
การประกวดชุดประจำชาติบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2505 ซึ่งชุดประจำชาติยอดเยี่ยมในปีแรกตกเป็นของสาวงามจากประเทศอังกฤษ สวมใส่โดย “คิม คาลตัน” และนับตั้งแต่นั้นมา การประกวดชุดประจำชาติได้จัดเรื่อยมาเป็นประจำทุกปี สำหรับประเทศไทย รางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมครั้งแรกที่ได้รับจากการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ในปี พ.ศ. 2512 เป็น “ชุดนางละคร หรือชุดนางรำ” ซึ่งสวมใส่โดย “แสงเดือน แม้นวงศ์” เรียกว่าเป็นผู้บุกเบิกรางวัลชุดประจำชาติคนแรกของไทยเลยก็ว่าได้
ลักษณะชุดนางละครที่ประเทศไทยนำเสนอนั้น ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการแสดงนาฏศิลป์ไทย รูปแบบของชุดคือละครพัสตราภรณ์ หรือชุดละครรำแบบนาฏศิลป์ไทย ชุดท่อนบนเป็นสไบปัก ชุดท่อนล่างเป็นผ้านุ่ง เครื่องประดับบนศีรษะเป็นชฎาทรงสูงแหลม ซึ่งเน้นถ่ายทอดให้เห็นความดั้งเดิมที่ไม่ได้มีการดัดแปลงใด ๆ เพื่อนำเสนออัตลักษณ์ของศิลปะการแสดงของไทยไปสู่สายตาของชาวโลก
กว่าไทยจะได้ตำแหน่งชุดประจำชาติอีกครั้ง ให้หลังเกือบ 20 ปี
♛
การประกวดมิสยูนิเวิร์สยังคงจัดมาอย่างต่อเนื่อง แต่สาวงามและชุดประจำชาติของประเทศไทยยังไม่สามารถแย่งชิงตำแหน่งจากประเทศอื่น ๆ ได้ จนกระทั่งผ่านมาเกือบ 20 ปี ในปี พ.ศ. 2531 “ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก” สามารถคว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สคนที่ 2 ของไทย (คนแรกคือ อาภัสรา หงสกุล นางสาวไทย ปี พ.ศ. 2507 ทว่าไม่ได้รับรางวัลชุดประจำชาติ) พร้อมรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมมาครองได้
ลักษณะชุดที่ใส่ขึ้นประกวดครั้งนี้คือ “ชุดไทยประยุกต์” แนวคิดในการออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจากฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่ทรงพระราชทานให้สตรีได้นำมาตัดสวมใส่ได้ โดยดีไซเนอร์ได้นำชุดไทยจักรีมาประยุกต์ตัดเย็บเป็นสไบ ชุดนี้เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในด้านแฟชันและผ้าไทยที่ดูสวยสง่า
หลังจากการประกวดครั้งนี้ ทำให้เกิดกระแสความนิยมในการนำเสนอความเป็นไทยผ่านเวทีนางงามปะทุขึ้นอีกครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ.2535 ประเทศไทยจึงได้ขอเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งแรก โดยมุ่งหวังเรื่องการเผยแพร่วัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก
คว้ารางวัลยอดเยี่ยมต่อในปี พ.ศ. 2548 พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2553
♛
ในปี พ.ศ. 2548 ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประกวดมิสยูนิเวิร์สเป็นครั้งที่ 2 โดยในปีนี้ “ชนันภรณ์ รสจันทน์” สามารถชนะรางวัลในสาขาชุดประจำชาติยอดเยี่ยมได้ในที่สุด โดยสวมใส่ชุดสตรีไทยในสมัยอยุธยาโบราณ ชื่อชุด “ไทยรัชสมัย” มีความวิจิตรและงดงาม ไม่ฟู่ฟ่าแต่สง่างาม ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องแต่งกายของสตรีสูงศักดิ์สมัยอยุธยา สวมใส่ศิราภรณ์ทองถักบนศีรษะ เป็นชุดที่เน้นเพียงจุดสำคัญบางจุด แต่แสดงออกถึงรากเหง้าของไทยได้อย่างชัดเจน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 “กวินตรา โพธิจักร” กับชุดประจำชาติที่ชื่อ “สปิริตออฟไฟติ้ง” สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ จากแนวคิดการออกแบบที่มองว่า ใต้อาภรณ์อันอ่อนหวานของหญิงงามแห่งสยามจักแฝงไปด้วยความเข้มแข็งแกร่งกล้าในยามที่ต้องปกปักษ์คุ้มภัยสิ่งอันเป็นที่รัก ซึ่งเป็นส่วนผสมที่สามารถนำเสนอตัวตนของอิสตรีไทยได้เป็นอย่างดี ชุดท่อนบนเป็นเกาะอกสีแดงเชือกม้วนคล้องคอ ผ้าคลุมใช้ผ้าไทยผืนใหญ่ ส่วนท่อนล่างสวมกางเกงแบบกางเกงมวยสีแดงทับ มีระบายสีดำบนขอบเอว และสวมมงคลมวยสีดำสลับทองเป็นเครื่องประดับศีรษะ สำหรับการออกแบบชุดนี้เรียกว่าฉีกขนบเดิมอย่างสิ้นเชิง ด้วยการนำวิถีพื้นถิ่นมาประยุกต์ใช้อย่างสร้างสรรค์
ส่วนในปี พ.ศ. 2553 ชุด “สยามไอยรา” ซึ่งสวมใส่โดย “ฝนทิพย์ วัชรตระกูล” ได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยม สำหรับแรงบันดาลใจในการออกแบบชุดมาจากช้างต้น ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทย โดยการนำเครื่องทรงของช้างต้นมาเป็นแนวทางหลักในการออกแบบเครื่องประดับ ส่วนโครงของชุดประยุกต์มาจากการแต่งกายของสตรีในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นชุดไทยสร้างสรรค์ที่ออกแบบอย่างทันสมัย
สร้างสรรค์มากที่สุดชุดหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์
ชุดประจำชาติยอดเยี่ยมในปี พ.ศ. 2558
♛
รางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมรางวัลล่าสุดของประเทศไทย ยังคงอยู่ที่ปี พ.ศ. 2558 โดย “อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์” กับการใส่ชุดที่เก๋แปลกแหวกแนว นั่นคือชุด “ตุ๊กตุ๊ก ไทยแลนด์” แรงบันดาลใจมาจากงานป๊อปอาร์ตซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ในช่วงนั้น ดีไซเนอร์จึงนำรถตุ๊กตุ๊กมาตีความว่าจะทำอย่างไรให้สวมใส่ได้จริง ซึ่งรถตุ๊กตุ๊กเองก็เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ สามารถสื่อถึงประเทศไทยได้เป็นอย่างดี การออกแบบจึงได้จับหลาย ๆ ศาสตร์มาผสมผสานกันจนออกมาเป็นชิ้นงานที่เหมือนรถตุ๊กตุ๊กจริง ๆ ถือเป็นผลงานที่มีความแปลกใหม่อย่างมากในเวทีประกวดครั้งนี้
การประกวดชุดประจำชาติยอดเยี่ยมบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส สามารถเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการนำเสนอภาพความเป็นไทยเพื่อให้ทั่วโลกรับรู้ถึงเอกลักษณ์ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ต้องมาติดตามกันต่อไปว่า เวทีมิสยูนิเวิร์สครั้งหน้า ประเทศใดจะสามารถคว้าชัยชนะไปครอง
อ้างอิง
- จากนางละครถึงรถตุ๊กตุ๊ก! 6 ชุดประจำชาติไทย คว้ารางวัล Best National Costume เวทีมิสยูนิเวิร์ส. https://bit.ly/3uORadL
- นางงามกับ “ความเป็นไทย” ในเวทีประกวดความงาม ฤๅต้อง “สวยแบบไทยๆ” ? https://www.silpa-mag.com/history/article_56716
- พัฒนาการชุดประจำชาติของนางงามไทยในการประกวดนางงามจักรวาล. http://ithesis-ir.su.ac.th/dspace/bitstream/123456789/1146/1/56107309.pdf
- โว้กลิสต์ 10 ชุดประจำชาติไทย คว้ารางวัลใหญ่บนเวทีมิสยูนิเวิร์ส. https://www.vogue.co.th/watches-jewellery/article/nationalcodtumemu2019