Kind Journey

Old – New Chinatown ย้อนรอยดงจีนถิ่นบางกอก เยาวราช – ตลาดน้อย – ห้วยขวาง


新年快樂,身體健康
เซินเหนียนไคว่เล่อเซินถีเจี้ยนคัง
สวัสดีปีใหม่และขอให้สุขภาพแข็งแรงตลอดปี!

นักท่องเที่ยวจีนครองเมือง! วลีนี้คงไม่เกินจริงนัก เพราะหากท่องไปยังแลนด์มาร์กสุดฮิตของนักเดินทาง เรามักจะเห็นนักท่องเที่ยวจีนเป็นส่วนใหญ่ การันตีได้จากสถิติ 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยในช่วงต้นเดือนมกราคม 2567 ได้แก่ จีน มาเลเซีย รัสเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย ตามลำดับ และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น จากนโยบายการอนุมัติวีซ่าฟรีของรัฐบาล

KiNd ชวนสำรวจประวัติศาสตร์ของดินแดนชาวจีนในกรุงเทพมหานคร ย้อนรอยกันตั้งแต่ “เยาวราช” ย่านเก่าแก่ของชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนที่มีมานานนับร้อยปี ต่อด้วย “ตลาดน้อย” ย่านเก่าสุดคลาสสิกที่เต็มไปด้วยชาวจีน ซึ่งตอนนี้กลายเป็นหมุดหมายสุดฮิตของคนรักงานดีไซน์แล้ว ปิดท้ายด้วย “ห้วยขวาง” ย่านการค้าบนถนนรัชดาภิเษก ที่ทุนจีนบุกแทบจะทุกตารางเมตร ทำให้ห้วยขวางขึ้นชื่อว่าเป็น New Chinatown ปัจจุบัน

เยาวราช
ประตูสู่แหล่งค้าขายชาวจีนระดับโลก


ไม่ว่าจะยามค่ำคืนหรือกลางวัน เยาวราชไม่เคยหลับใหล ด้วยร้านรวงและสตรีตฟู้ดที่ครึกครื้นอยู่เสมอ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ จากเมื่อก่อนที่มีแต่คนไทยเชื้อสายจีนตั้งหลักปักฐานทำมาค้าขายกันมาแต่เนิ่นนาน แต่ปัจจุบันร้านค้าหลายแห่งในเยาวราชกลับมีเจ้าของเป็นกลุ่มทุนจีนที่ใช้วีซ่านักท่องเที่ยวมาเปิดธุรกิจ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่คนพื้นที่กำลังประสบ

ย้อนกลับไปถึงจุดกำเนิดของถนนเยาวราช เป็นถนนที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร มีลักษณะคดไปเคี้ยวมา หลายคนจึงบอกว่าเป็นเสมือนตัวมังกร โดยจุดเริ่มต้นของหัวมังกรอยู่ที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นจุดตัดของถนนเจริญกรุง ถนนเยาวราช และถนนมิตรภาพไทย-จีน ส่วนท้องมังกรอยู่ที่บริเวณตลาดเก่าเยาวราช และสิ้นสุดปลายหางมังกรที่บริเวณปลายสุดของถนน


คนจีนในย่านนี้คือกลุ่มคนจีนที่มาตั้งรกรากอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยา อพยพมาสมัยรัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และย้ายราชธานีมาตั้งฝั่งพระนครหรือบริเวณสำเพ็งปัจจุบัน ต่อมามีการขยับขยายสร้างถนนเส้นใหม่บริเวณใกล้เคียง ในอดีตถนนนี้ชื่อว่าถนนยุพราช ต่อมารัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าพระราชทานนามใหม่ว่าถนนเยาวราช ซึ่งใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนปัญหาการบุกเข้ามาของกลุ่มทุนจีนในย่านเยาวราชที่กำลังเป็นปัญหาตอนนี้ จะแก้ไขกันอย่างไร ความเป็นเยาวราชแบบดั้งเดิมจะฟื้นคืนตัวตนกลับมาได้ไหม ต้องติดตามกันต่อไป

ตลาดน้อย
จากย่านคนจีนสู่พื้นที่สร้างสรรค์ของคนรักดีไซน์


เมื่อพูดถึงตลาดน้อย สิ่งแรกที่ป็อปอัปขึ้นมาในหัวคือย่านสุดฮิปของนักท่องเที่ยวสายแชะและแชร์ ซึ่งปัจจุบันตลาดน้อยกลายเป็นจุดเช็กอินสุดฮิตของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติไปแล้ว 

ตลาดน้อยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวจีนที่ย้ายมาจากฝั่งกรุงธนบุรีตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เช่นเดียวกับย่านเยาวราช แต่ได้มีการขยับขยายย้ายถิ่นฐานมาจากย่านสำเพ็ง นับว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชนชาวจีน และเป็นที่รู้จักในวงกว้างว่าเป็นท่าเรือสำเภาในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเริ่มต้นมาพร้อมกับการกำเนิดของท่าเรือ “โปเส็ง” ของตระกูลโปษยจินดา ซึ่งถือเป็นท่าเรือโด่งดังเป็นที่รู้จักของพ่อค้าแม่ค้าในสมัยนั้น

ปัจจุบัน มีกิจกรรมสร้างสรรค์เกิดขึ้นมากมาย อย่างงาน Bangkok Design Week หรือ “เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ” ได้จัดขึ้นในชุมชนตลาดน้อยเช่นกัน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างย่านเยาวราชและย่านบางรัก เป็นที่ตั้งของศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ จึงเป็นย่านที่เป็นจุดเชื่อมต่อของแหล่งท่องเที่ยว ที่สามารถเชื่อมโยงย่านท่องเที่ยวในเขตกรุงเทพฯ ได้

ห้วยขวาง
New Chinatown ศูนย์รวมธุรกิจของคนจีนยุคใหม่


หากมองเข้าไปยังถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ย่านห้วยขวาง ถนนสองข้างทางตอนนี้เต็มไปด้วยร้านค้าและร้านอาหารเปิดใหม่ โดยเฉพาะร้านอาหารจีนที่ดำเนินการโดยชาวจีน เรียกว่าเป็นดงจีนดงใหม่เลยก็ว่าได้ ซึ่งแตกต่างจากถิ่นคนจีนในย่านเยาวราช เพราะพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนส่วนใหญ่ของที่นี่เพิ่งเดินทางมาจากประเทศจีนไม่นานมานี้ ไม่ใช่คนจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนที่เกิดและเติบโตในประเทศไทยแบบย่านคนจีนอื่น ๆ ของกรุงเทพฯ

จากการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยเรื่อง “การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนรุ่นใหม่:กรณีศึกษาชุมชนจีนแห่งใหม่” จากศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าจุดเริ่มต้นของ New Chinatown หรือ “ไชน่าทาวน์ห้วยขวาง” เกิดขึ้นเมื่อปี 2556 หลังนักศึกษาและครูสอนภาษาชาวจีนเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาจากมณฑลกวางสีและยูนนาน ซึ่งเป็นคนจีนรุ่นใหม่ที่เรียกว่ากลุ่มผู้ย้ายถิ่นฐานชั่วคราว เริ่มจากการมาท่องเที่ยว เรียน หรือทำงาน ประกอบกับเห็นช่องทางหาเงินในเมืองไทย โดยเฉพาะการซื้อสินค้าส่งไปเมืองจีน เช่น ผลไม้แห้งแปรรูป นมอัดเม็ด ยาหม่อง น้ำผึ้งโครงการหลวง หมอนยางพารา เมื่อได้รับความนิยมจึงชักชวนกันมาเปิดร้านทำธุรกิจเต็มตัว พอคนจีนเข้ามาเยอะ เริ่มมีการเช่าตึกแถวอาคารพาณิชย์โดยให้ค่าเช่าที่สูงกว่าราคาประเมิน ทำให้ผู้เช่ารายเก่าสู้ค่าเช่าไม่ไหวต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น คราวนี้เลยมีแต่ร้านค้าคนจีนเปิดขึ้นเต็มถนน จนถูกเรียกว่า New Chinatown

เรียกว่าหันไปทางไหนของห้วยขวาง เต็มไปด้วยธุรกิจของชาวจีน ทั้งร้านค้า ร้านนวด ร้านอาหาร โดยเฉพาะบุฟเฟต์หมาล่าสายพานที่ยังคงเป็นเมนูฮิตติดลมบนจนถึงปัจจุบัน

เยาวราช ตลาดน้อย ห้วยขวาง มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่และไลฟ์สไตล์ของคนในพื้นที่ แต่หนึ่งสิ่งที่เหมือนกันคือการพยายามรุกคืบเข้ามาของทุนจีนกลุ่มใหม่ที่อาจจะทำให้อัตลักษณ์ของชุมชนในพื้นที่เดิมหายไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องเข้ามาจัดการดูแล จะให้เพียงคนในพื้นที่รักษาไว้ก็คงจะไม่เพียงพอ


ที่มา


เรื่องโดย