“Paint by Numbers” กิจกรรมสุดโปรดของใครหลาย ๆ คน แต่ทำไมกลับเป็นที่เกลียดชังของเหล่าศิลปินเสียได้ จะด้วยเหตุผลใดนั้น KiNd ขอรับหน้าที่ไขความจริงให้กระจ่างแจ่มแจ้ง
“จะดีเพียงใดหากทุกคนสามารถหยิบพู่กันและวาดภาพบนผืนผ้าใบได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะทางศิลป์เพื่อที่จะได้งานศิลปะที่สวยงามแต่สิ่งที่ต้องมีคือความคิดสร้างสรรค์จินตนาการและความอดทน”
Dan Robbins ผู้สร้าง Paint by Numbers
เมื่อย้อนกลับไปในอดีต ราวปี 1949 นับเป็นช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายธุรกิจสรรหาแนวคิดและการตลาดใหม่ ๆ เพื่อให้องค์กรนั้นอยู่รอดต่อไป บริษัทศิลปะเล็ก ๆ ในเมืองดีทรอยต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่าง Palmer Paint ก็เช่นเดียวกัน “แดน ร็อบบินส์” ผู้ทำงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้รับมอบหมายให้จัดทำชุดอุปกรณ์ศิลปะสำหรับงานอดิเรกขึ้นมา ภายใต้ข้อกำหนดที่ว่า จะต้องสามารถเพิ่มยอดขายให้ได้มากขึ้น และด้วยเหตุนี้ ร็อบบินส์จึงค้นคว้าและได้พบกับเทคนิคการฝึกฝนนักเรียนของเลโอนาร์โด ดา วินชี ที่ใช้การกำหนดรูปแบบตัวเลขและรูปทรงบนผืนผ้าใบก่อนลงสี รูปแบบเหล่านี้จะช่วยระบุว่าสีใดควรใส่ในแต่ละส่วนของภาพ ซึ่งเป็นเทคนิคในการกำหนดสัดส่วนของสีให้ชัดเจนสำหรับการฝึกวาดภาพในเบื้องต้น เขาได้นำเทคนิคนี้เป็นแรงบันดาลใจ และสร้างสรรค์ “Paint by Numbers” ขึ้นมา ภายใต้แบรนด์ Craft Master
Paint by Numbers หรือชุดระบายสีตามตัวเลข ประกอบไปด้วยผืนผ้าใบพร้อมตัวเลข พู่กัน และกระปุกสีที่มีตัวเลขกำกับ โดยราคาเริ่มต้นที่ 2.50 เหรียญ ในขณะนั้น ภาพวาดมีตั้งแต่ทิวทัศน์ นักสู้วัวกระทิง นักบัลเล่ต์ ตลอดจนภาพสัตว์เลี้ยง ทว่าในช่วงแรกประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อันเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ผนวกกับความเชื่อที่ว่างานศิลปะเป็นของสูง ไม่ควรถูกแตะต้อง ผู้คนจึงไม่ให้ความสนใจ
เมื่อผลตอบรับไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าที่ควร ในปี 1952 แม็กซ์ ไคลน์ เจ้าของบริษัท ได้งัดกลยุทธ์ทางการตลาดสุดแกมโกงขึ้นมา โดยสั่งให้จัดละครฉากใหญ่เพื่อสร้างกระแส ด้วยการให้เงินแก่พนักงานราว 250 เหรียญ และว่าจ้างผู้คนเพื่อแสดงตัวเป็นผู้ซื้อในระหว่างการโปรโมตผลิตภัณฑ์ที่ห้างสรรพสินค้าสัญชาติอเมริกันอย่าง Macy’s แน่นอนว่ากลวิธีนี้ได้ผล ลูกค้าหลั่งไหลเข้ามาซื้อโดยไม่รู้ว่าใครคือลูกค้าตัวจริง หรือใครคือผู้ถูกจ้าง ซึ่งช่วยให้ยอดขายชุดระบายสีพุ่งสูงขึ้นทันตา เนื่องจากความต้องการชุดอุปกรณ์ถล่มทลาย บริษัทจึงเพิ่มจำนวนพนักงานเป็น 800 คน เพื่อเพิ่มกำลังผลิตให้ทันกับความต้องการ ในปี 1954 บริษัททำเงินได้กว่า 20 ล้านเหรียญ จากชุดระบายสี Paint by Numbers และในปี 1955 มียอดการขายมากกว่า 12 ล้านชุดเลยทีเดียว โดยชุดระบายสีที่มียอดสั่งซื้อสูงสุดของบริษัทคือ ภาพผลงาน The Last ของเลโอนาร์โด ดา วินชี นั่นเอง
Photo Credit: Paint By Number Museum
กระแสตีกลับจากเหล่านักวิจารณ์
✎
ความนิยมที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดนี้ ได้ดึงดูดความสนใจจากผู้คนหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักวิจารณ์ และเหล่าศิลปินเจ้าของผลงาน โดยผลตอบรับกลับเป็นลบ
นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่า ชุดระบายสีนี้จะทำให้ผู้คนลดคุณค่าของศิลปะลง เนื่องจากพวกเขาสามารถสร้างภาพวาดของตนเองโดยไร้ซึ่งความรู้และเทคนิคด้านศิลปะ มีบางคนคิดว่าการผลิตซ้ำผลงานเป็นจำนวนมากนั้นสร้างความเสียหายแก่ศิลปินเจ้าของผลงานที่แท้จริง มันไม่ต่างกับการลอกเลียนแบบ บ้างกล่าวว่านักวิจารณ์หลายคนรู้สึกไม่สบายใจ ที่ชุดระบายสีตามตัวเลขมีจำนวนมากกว่าผลงานศิลปะดั้งเดิมที่แขวนอยู่ในบ้านของชาวอเมริกัน และบางคนถึงกับวิพากษ์วิจารณ์ว่า ชุดภาพระบายสีตามตัวเลขนี้ไม่ควรถือว่าเป็นงานศิลปะเสียด้วยซ้ำ
Photo Credit: Oleksandr Pidvalnyi / Pexels
แน่นอนว่าร็อบบินส์รับรู้ถึงกระแสที่เกิดขึ้น และได้ตอบกลับเพียงสั้น ๆ ว่า “ฉันไม่เคยอ้างว่าชุดระบายสีตามตัวเลขเป็นงานศิลปะ แต่มันคือการนำประสบการณ์ทางศิลปะมาสู่บุคคลที่ปกติจะไม่หยิบพู่กัน ไม่จุ่มสีเพียงเท่านั้น”
กระทั่งในปี 2001 ชุดระบายสีตามตัวเลขได้ถูกจัดแสดงที่ National Museum of American History และนั่นแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของร็อบบินส์ได้เป็นอย่างดี แม้โลกศิลปะไม่ให้การต้อนรับสิ่งประดิษฐ์นี้ แต่ชุดระบายสีตามตัวเลขจะยังคงอยู่ในใจผู้คนตราบนานเท่านาน…
อ้างอิง
- Content Time. Paint-by-Numbers Kit.
- BBC News. Dan Robbins: Paint-by-numbers inventor dies at 93.
- ABC News. Artist who created first paint-by-numbers pictures dies.
- Paint by Number Museum. Craft Master: The History Of Paint By Numbers.