Kind Creations

ท้าทาย ‘ความจริง’ ในนิทรรศการ ‘Photography Never Lies – ภาพถ่ายไม่โกหก’

ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7 หอศิลปกรุงเทพฯ


เราหยุดยืนดูรูปนี้มาสักพักหนึ่งแล้ว ภาพพอร์เทรตของหญิงสาวสองคนยืนซ้อนไหล่กัน ในโทนฟิล์มเก่า ๆ ดูคลาสสิก พยายามเพ่งพิจารณาถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ว่าภาพถ่ายนี้จริงแท้แค่ไหน

และใช่ค่ะ…

ถ้าเราบอกว่าภาพนี้ไม่ใช่ภาพถ่ายจริง ๆ
คุณจะเชื่อไหม?


ภาพที่เราพูดถึงข้างต้นมีชื่อว่า ‘The Electrician’ เป็นหนึ่งในผลงานที่ถูกพูดถึงกันในวงกว้างของ Boris Eldagsen ศิลปินและช่างภาพชาวเยอรมัน เพราะภาพนี้ไม่ใช่ภาพถ่ายที่สร้างสรรค์ผ่านเลนส์กล้อง แต่ถูกสร้างขึ้นผ่านเทคโนโลยี AI และที่เซอร์ไพรส์กว่านั้น ภาพนี้ของเขากลับชนะเลิศการประกวดงานภาพถ่ายระดับโลกงานหนึ่งเสียได้! (แต่เขาสละสิทธิ์ไป) 

และนี่เป็นเพียงผลงานหนึ่งที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ ‘Photography Never Lies – ภาพถ่ายไม่โกหก’ ที่เราอยากจะเชื้อเชิญคุณมาตั้งคำถามกับ ‘ความจริง’ ตรงหน้า ว่าด้วยเรื่อง ‘ภาพถ่าย’ และ ‘เทคโนโลยี AI’ กับการนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะของเหล่าศิลปิน

เพราะอย่างที่รู้ ๆ กันว่า ภาพถ่ายคือหนึ่งในเครื่องมือบันทึกเหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนแง่มุมต่าง ๆ ของสังคมอย่างตรงไปตรงมา แต่จะเป็นอย่างไรหากความเชื่อนั้นถูกสั่นคลอนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่นับวันจะยิ่งอัจฉริยะขึ้นทุกที จนมนุษย์ไม่อาจแยกออกได้ด้วยตาเปล่าว่า 

นี่คือรูปจริงหรือรูปที่ AI สร้างขึ้นกันแน่?

หากคุณเป็นคนช่างสงสัยและอยากเพ่งพิศภาพถ่ายที่ท้าทายความเชื่อเดิม ๆ ลองมาเดินสำรวจกันเพลิน ๆ กับผลงานจากมุมมองของ 13 ศิลปินชาวไทยและต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น Boris Eldagsen, Leslie Shang Zhefeng, Ioanna Sakellaraki, Maria Mavropoulou, Patrik Budenz and Birte Zellentin, Robert Zhao Renhui, Sai ▇▇, ธนพล แก้วพริ้ง, นภัสรพี อภัยวงศ์, ปิยทัต เหมทัต, ภูมิภัทร อุษาประทุมบาน, มานิต ศรีวานิชภูมิ และ มิติ เรืองกฤตยา

ครั้งนี้ เรามีภัณฑารักษ์รับเชิญพิเศษอย่าง อัครา นักทำนา ซึ่งยังพ่วงอาชีพช่างภาพสตรีตและวิศวกรซอฟต์แวร์มาอีกต่อ พาเดินทัวร์นิทรรศการ โดยการจัดวางการแสดงผลงานของศิลปินแต่ละคนล้วนผ่านการร้อยเรียงเรื่องราวให้เชื่อมโยงกันอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าเดินชมไปเรื่อย ๆ คุณจะสังเกตได้ถึงนัยแฝงที่ซ่อนอยู่แน่นอน ทั้งผลงานภาพถ่ายของศิลปินที่หยิบเอาความสามารถของเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ และศิลปินที่ยังใช้กระบวนการการทำงานศิลปะภาพถ่ายแบบดั้งเดิม เพื่อให้ผู้ชมได้ฉุกคิดตรึกตรองถึงสิ่งที่ภาพถ่ายกำลังนำเสนอ พร้อมกับมีอารมณ์ร่วมอย่างลุ่มลึกไปกับการเล่าเรื่องของศิลปิน

โชคดีของเรา หลังจบการพาทัวร์ของภัณฑารักษ์ สบโอกาสได้พูดคุยกับศิลปินเจ้าของผลงานอีก 2 ท่าน คือ Ioanna Sakellaraki ศิลปินชาวกรีกที่เติบโตในแผ่นดินออสเตรเลีย กับผลงาน ‘The Seven Circuits of a Pearl’ ด้วยการนำเสนอภาพถ่ายที่ใช้เทคนิคการทำคอลลาจและการเย็บปักลงบนภาพ ผ่านการเชื่อมโยงเรื่องราวชีวิตส่วนตัวและประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย โดยใช้ไข่มุก(แท้)เป็นส่วนประกอบหลักของภาพ 

และ นภัสรพี อภัยวงศ์ ช่างภาพชาวไทย กับผลงาน ‘Resonances of the Concealed’ ที่ได้นำ AI มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายในหลากหลายมิติ ทำให้เราได้เห็นมุมมองภาพจากทั้งสองรูปแบบ และแน่นอนว่าเราไม่สามารถเอาไม้บรรทัดมาวัดได้ว่าภาพใดมีคุณค่ามากกว่ากัน เพราะทั้งสองผลงานนั้นมีคุณค่าที่แตกต่างกันออกไปตามจุดประสงค์ของศิลปิน  (ปล. ถ้าอยากลงลึกอีกนิดเกี่ยวกับผลงานศิลปิน ต้องรอติดตามอ่านบทความถัดไปของเรา รับรองว่าไม่นานเกินรอไหว)

เราว่านิทรรศการครั้งนี้ ไม่ได้จะยัดเยียดเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือมุ่งยืนหยัดยึดมั่นเพียงทฤษฎีเก่าก่อน แต่ค่อย ๆ ละเลียดเปิดมุมมองผู้ชมให้ได้รับรู้ว่า ศิลปะภาพถ่ายมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกยุคสมัย(และแน่นอนว่าต้องมีต่อไป) ซึ่งมันก็คือความงดงามในแบบฉบับของมัน

⌑ 

หลายคนอาจมีคำถามค้างคาอยู่ในใจ KiNd ชวนมาหาคำตอบของความจริงกันได้ ในนิทรรศการ ‘Photography Never Lies – ภาพถ่ายไม่โกหก’ เปิดให้ชมแล้วตั้งแต่วันนี้ – 8 กันยายน 2567 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7 หอศิลปกรุงเทพฯ เวลา 10.00 – 20.00 น. (หยุดวันจันทร์) ติดต่อสอบถามได้ที่ www.facebook.com/baccpage

ท้าพิสูจน์ความจริงด้วยตาของคุณเอง!
แล้วคุณจะพบว่า… สิ่งที่คุณคิดว่าจริง มันอาจจะไม่จริงก็ได้



เรื่องโดย

ภาพโดย

วิดิโอโดย