“ครอบครัวที่ลัก” หรือ “Shoplifters” ครั้งแรกที่ได้อ่านชื่อเรื่องภาษาไทยของภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็แอบสงสัยอยู่ในใจว่า เอ๊ะ!? พิมพ์ชื่อผิดหรือเปล่านะ ตั้งใจจะเขียนว่าครอบครัว “ที่รัก” หรือเปล่า แต่พอเหลือบมองชื่อเรื่องภาษาอังกฤษดูอีกที แปลว่าอ่านไม่ผิดแน่นอน นอกจากชื่อเรื่องจะชวนสะดุดตาแล้ว เนื้อหากลับยิ่งสะดุดใจมากกว่า กับเรื่องราวความสัมพันธ์ (อันบิดเบี้ยว) ในครอบครัวของคนชนชั้นล่างที่สะท้อนถึงสังคมญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี
แต่ก่อนจะไปหาคำตอบให้หายข้องใจในเรื่องความสัมพันธ์ KiNd ชวนไปทำความรู้จักกับผู้กำกับของเรื่อง “ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ” ซึ่งเคยมีผลงานภาพยนตร์ขึ้นชื่อมาแล้วหลายเรื่อง เช่น Nobody Knows (2004), Like Father, Like Son (2013), The Third Murder (2017) และเรื่องล่าสุดคือ Shoplifters (2018) ที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำในปี 2018 จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 71 ไปครอง ถือเป็นอีกหนึ่งผู้กำกับชาวญี่ปุ่นมากฝีมือที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกเลยทีเดียว ต่อมาในปี 2019 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถูกนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือนิยาย โดยสำนักพิมพ์ Maxx Publishing ให้นักอ่านได้รับอรรถรสด้วยเช่นกัน
อย่ามัวรอช้า… ไปสำรวจเรื่องราวความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อน กับเรื่องรัก ๆ ของครอบครัวที่ลัก พร้อมกันเลย!
*เนื้อหามีการเปิดเผยเรื่องราวบางส่วนในเรื่อง
จากการ “ลัก” กลายเป็นความ “รัก”
ถ้าถามว่าครอบครัวนี้ “ลัก” อะไรไปบ้าง อาจจะตอบแบบกว้าง ๆ ได้ว่า ลักของ กับ ลักคน! แม้จุดเริ่มต้นของเรื่องจะมาจากการลักขโมย แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นความรักไปในที่สุด
ฉากแรกของเรื่องนั้น เป็นการเปิดฉากด้วยการขโมยของในซูเปอร์มาเก็ตของสองตัวละครหลักคือ “โอซามุ” และ “โชตะ” หลังจากนั้นทั้งคู่ก็เดินคุยกันไปตามประสาจนไปพบกับ “ยูริ” เด็กผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในบ้านเพียงลำพัง ที่เขามักจะเห็นเธอนั่งอยู่ตรงนี้คนเดียวเป็นประจำด้วยสีหน้าเศร้าสร้อย โอซามุเข้าไปพูดคุยถามไถ่ว่าเธอโอเคไหม? แม่อยู่ไหนล่ะ? แต่เธอตอบกลับมาด้วยการส่ายหน้าเพียงอย่างเดียว หลังจากนั้นฉากก็ตัดไปยังบ้านของโอซามุ ที่มีครอบครัวของเขานั่งกันอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ทั้งคุณย่า “ฮัตสึเอะ” “โนบุโยะ” “อากิ” และที่สำคัญมียูริตามกลับมาด้วย! (หากจะเรียกว่าการลักพาตัวก็ดูจะไม่ผิดแผกอะไร แม้ว่าเด็กจะยอมมาเองก็ตามที แต่โอซามุมองว่าไม่ใช่การลักพาตัว เพราะไม่ได้เรียกค่าไถ่สักหน่อย)
Photo Credit: www.womjapan.com
แม้ว่าจะมียูริที่เป็นคนแปลกหน้าเข้ามาร่วมวงครอบครัวด้วย แต่ทุกคนกลับต้อนรับเธออย่างดี แม้ตอนแรกโนบุโยะจะไม่เห็นด้วยกับการพายูริมา และตั้งใจจะพายูริไปกลับไปคืนที่บ้านของเธอ ซึ่งระหว่างเดินทางไปพวกเขาได้ยินเสียงพ่อแม่ของยูริทะเลาะกัน เนื้อความประมาณว่าไม่มีใครต้องการให้เธอเกิดมาบนโลกใบนี้ (แถมที่ตัวยูริยังมีร่องรอยของการถูกทำร้ายอีก) ท้ายที่สุดพวกเขาก็ตัดสินใจพาเธอมาอยู่ด้วย และแน่นอนว่าพวกเขานั้นรักยูริเหมือนกับคนในครอบครัว ในช่วงแรกของเนื้อเรื่องจะเห็นแค่ว่า ยูริเป็นตัวละครตัวเดียวที่เป็นคนนอกของครอบครัวนี้ แต่ที่ไหนได้! พอประเด็นของเรื่องเริ่มเผยให้ชัดเจนมากขึ้น เราจะพบว่า ครอบครัวที่มีสมาชิกทั้งหมด 6 คนนี้ เป็นครอบครัวที่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางสายเลือดแต่อย่างใด และต่างคนต่างมีความลับและปมในใจที่กำลังรอการเปิดเผยเข้าสักวัน
ความสัมพันธ์อันซับซ้อนซ่อนเงื่อน
Photo Credit: www.kidjapak.com
มาล้วงลึกความสัมพันธ์ของครอบครัวนี้กันอีกสักหน่อย “โอซามุ” กับบทบาทพ่อ (ไม่แท้) เขาประกอบอาชีพแรงงานก่อสร้างรายวัน และมีงานเสริมคือการลักเล็กขโมยน้อย ส่วน “โนบุโยะ” ภรรยาของเขา รับบทบาทแม่ (ไม่แท้) ด้วยเช่นกัน ทำงานในโรงงานซักรีดผ้า และมักขโมยของที่ลูกค้าลืมไว้ในกระเป๋ากลับบ้าน “โชตะ” เด็กหนุ่มกำพร้าที่ถูกเก็บมาเลี้ยงตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ และโอซามุฝึกให้เป็นนักลักนักล้วงไปพร้อมกับเขา “ฮัตสึเอะ” คุณย่าที่ได้รับเงินบำนาญจากสามีที่เสียชีวิตไปแล้ว และพยายามขอค่าเลี้ยงดูจากครอบครัวภรรยาใหม่ของสามี เพื่อมาเลี้ยงดูครอบครัว “อากิ” เด็กสาววัยรุ่นที่ช่วยหาเงินเข้าบ้านด้วยอาชีพการเต้นอนาจาร และเป็นลูกของครอบครัวภรรยาใหม่ของสามีเก่าของฮัตสึเอะ และ “ยูริ” หรือหลิน ชื่อใหม่ที่โนบุโยะตั้งให้ เพื่อให้คนอื่นจำตัวตนของยูริไม่ได้ เด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่ออกจากบ้านมาเพราะขาดความรักความอบอุ่น
Photo Credit: www.womjapan.com
สำหรับความสัมพันธ์อันบิดเบี้ยวของแต่ละตัวละครที่ประกอบสร้าง จนกลายมาเป็นความสัมพันธ์แบบครอบครัวนี้ มีประเด็นการนำเสนอที่น่าสนใจฉีกขนบไปจากวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่น ที่มักให้ความสำคัญกับสายเลือดของครอบครัวเป็นหลัก โดยตัวละครพยายามตอกย้ำเรื่อง “เราเลือกเกิดไม่ได้ แล้วเราจะเลือกครอบครัวด้วยตัวเองได้หรือไม่” ทำให้กระตุกต่อมคิดคนดูในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสายเลือดและสายใยได้ดีทีเดียว แม้ว่าตัวละครแต่ละตัวจะมีปมปัญหาและเบื้องหลังที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งเดียวที่พวกเขามีเหมือนกันนั่นคือ “การถูกทอดทิ้ง” จากอะไรบางอย่าง เช่น ภาครัฐ คนรัก พ่อแม่ และสภาพสังคม
Photo Credit: www.womjapan.com
สะท้อนปัญหาสังคมญี่ปุ่นอย่างแยบยล
ฉากบ้านของครอบครัวโอซามุ ซึ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่มีข้าวของวางระเกะระกะเต็มไปหมด สมาชิกในครอบครัวนั่งเบียดเสียดกันที่มองดูแล้วช่างแออัดซะเหลือเกิน สะท้อนภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนชายขอบในประเทศญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี รวมถึงสะท้อนประเด็นทางสังคมด้านอื่น ๆ อาทิ รัฐกับสวัสดิการที่พลเมืองพึงได้ เรื่องเงินบำนาญ การคุ้มครองแรงงาน การประกันการว่างงาน การศึกษาที่เข้าไม่ถึงผู้คน ปัญหาการลักพาตัว และปัญหาการลักขโมย นอกจากนี้ ยังแฝงไปด้วยปัญหาภายในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูลูกในทางที่ผิด หรือความไม่เอาใจใส่ลูกจากพ่อแม่ที่แท้จริง
Photo Credit: theworldofjot29.blogspot.com
ภาพยนตร์ยังคงดำเนินเรื่องไปอย่างช้า ๆ ภาพความรักความอบอุ่นแบบธรรมชาติยังคงสอดแทรกมาให้เห็นตลอดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการกินข้าวแบบพร้อมหน้าพร้อมตา การพูดคุยให้คำปรึกษากันและกัน และการไปเที่ยวทะเลอย่างสนุกสนานทั้งครอบครัว แม้ตอนจบจะแอบเศร้า ด้วยการจากไปของตัวละครบางตัว และการสารภาพความจริงจากปากของตัวละครเองที่ย้อนแย้งกับความรู้สึก จนถึงขั้นต้องหลั่งน้ำตา
ภาพยนตร์เรื่อง “ครอบครัวที่ลัก” ได้เปลี่ยนมุมมองบางอย่างให้กับคำนิยามของครอบครัวในสังคมสมัยใหม่ พร้อมตั้งคำถามว่า อะไรคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ระหว่างความสัมพันธ์ทางใจ กับความสัมพันธ์ทางสายเลือด
หากใครได้ดูภาพยนตร์หรือได้อ่านนิยายเรื่องนี้ แม้จะมีหดหู่ไปบ้าง แต่ก็ยังมีความอิ่มอกอิ่มใจแฝงอยู่ให้ได้อบอุ่นหัวใจไม่น้อย
อ้างอิง
- Netflix. ภาพยนตร์เรื่อง ครอบครัวที่ลัก (Shoplifters) (2018)
- Sahamongkol Film. “มองชีวิตด้วยหัวใจ” กับ “ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ” ผู้กำกับภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องเยี่ยม “Shoplifters”. https://sahamongkolfilm.com/saha-news/shoplifters-hirokazu-koreeda-filmography/