Kind Dine

กางร่มเล่าอาหารพม่า ชิมรอบจานที่ ‘Shwe Htee Burmese Cuisine’



เมฆห่มฟ้าฝนตั้งเค้ามาแต่ไกล แม้ก้าวขาฉับไวแค่ไหนก็ไม่อาจทันเม็ดฝนที่ร่วงหล่นได้ ถึงครานี้อาจต้องยกมือป้องผมให้พ้นฝน เร่งย่ำฝีเท้าให้เร็วจี๋ ชาวไคนด์ตรงดิ่งมายังตึกใจกลางอโศก แหวกผ่านผู้คนเดินตามกลิ่นเครื่องเทศหอม ๆ มาจนถึงร้านอาหารพม่า ‘Shwe Htee Burmese Cuisine’ เรามีนัดพูดคุยออกรสกับสาวร่างเล็กแต่ใจใหญ่อย่าง ‘คุณน้ำหวาน’ ถึงแรกเริ่มวันวานกับสูตรต้นตำรับจาก ‘รัฐฉาน’ ส่งตรงทุกจานให้หลากชนชาติได้ลิ้มลอง

ชะเง้อมองเวลาอีกทีก็เที่ยงวัน เสียงจอแจในร้านดังอื้ออึงไม่ขาดสาย ราวกับเร่งเสียงฟาดฟันกับเม็ดฝนอีกฝั่งของประตูก็ไม่ปาน บางโต๊ะยกมือขอสั่ง บางโต๊ะเสวนาพูดจา

เราวาดฝันไว้ว่าอยากให้คนไทยได้รู้จักอาหารพม่ามากขึ้น

คุณน้ำหวานพูดพลางยิ้มอย่างเหนียมอาย ก่อนบทสนทนาแผ่วเบาท่ามกลางเสียงเล่าของคนร่วมร้านจะเริ่มดังขึ้น…

พกฝันติดกระเป๋า

เช่นเดียวกับคนอื่น ก้าวแรกหลังเรียนจบของน้ำหวานนั้นก็เคว้งคว้างและสับสน ผนวกกับโชคชะตาหรือใครลิขิตไม่อาจรู้ได้ เธอต้องโยกย้ายถิ่นฐานมาพำนักที่เมืองไทย เริ่มต้นเรียนรู้วัฒนธรรมแปลกหน้า ใช้ชีวิตท่ามกลางภาษาที่ไม่คุ้นชิน ทว่าความพยายามไม่เคยทรยศใคร แม้ต้องจากบ้านไกลแสนไกลก็มาพร้อมกับความฝัน เธอมุ่งมั่นก่อร่างสร้างเส้นทางนี้ด้วยตนเอง เพียงหวังว่าอยากให้คนไทยได้สัมผัสรสชาติรอบจานพม่าโดยแท้จริง

“ยอมรับว่ากังวลมากถึงเราจะมีร้านอาหารที่พม่ามาก่อนแล้วแต่ก็กลัวอยู่ดีจะถูกปากคนไทยไหมจะขายได้หรือเปล่าเพราะรสชาติของอาหารพม่าค่อนข้างยูนีคเราว่าแตกต่างกับอาหารไทยพอสมควรเลยพอได้เจอพาร์ตเนอร์ที่มีแนวคิดตรงกันก็มั่นใจเราอยากให้คนไทยได้รู้จักอาหารพม่ามากขึ้น”

สิ่งถัดมาที่ยากยิ่งกว่าไม่ก็เทียบเท่า คือการเฟ้นหาชื่อร้านที่ไม่ซ้ำและยังจำง่าย ครั้นเป็นชื่อภาษาอังกฤษดีไหม หรือภาษาพม่าไปเลยจะดีกว่า คิดไม่ตกอ้อมไปวนมา สุดท้ายตกผลึกด้วยคำว่า ‘Shwe Htee’ แปลเป็นไทยได้เพราะพริ้งเสนาะหูว่า ‘ร่มสีทอง’

คำนวณหนทางใหม่

แม้จะวางแผนแน่นหนา รัดเข็มขัดลดความเสี่ยงทุกกระบวนการที่ทำได้ ทว่าขึ้นชื่อว่า ‘ปัญหา’ แล้ว ก็มักโผล่หน้าย่างกรายมาทักทายแบบไม่ทันตั้งตัว เธอหมายมั่นปั้นมือเลือกทำเลใจกลางอโศก กัดฟันสู้กับค่าเช่าสูงปรี๊ดแลกกลุ่มเป้าหมายอย่างหนุ่มสาวชาวออฟฟิศ ทึกทักลึก ๆ ว่าคนไทยต้องหลงใหลเป็นแน่ โดยหลงลืมสิ่งสำคัญครั้งใหญ่ ว่าการทดลองรสชาติแปลกใหม่อาจต้องพึ่งกาลเวลา แรกเริ่มร้านจึงไม่ลื่นไหลเท่าที่หวัง แต่เธอไม่รอช้ารีบมองหาโอกาสใหม่ เบนเข็มไปยังกลุ่มคนพม่าที่อาศัยในเมืองไทยแทน ขณะเดียวกันก็ตั้งใจเพิ่มคุณภาพให้กับอาหาร เสริมเกราะหุ้มเหล็กให้ร้านแข็งแกร่ง เพื่อยืนหยัดก้าวผ่านบททดสอบนี้ให้ได้ 

ตอนนั้นหัวหมุนเลยค่ะเปิดร้านวันแรกลูกค้าคนไทยแทบไม่เข้าเราคาดการณ์ผิดไปเยอะเลยพอเห็นปัญหาตรงนี้ก็รีบหาทิศทางใหม่จากที่เน้นขายให้คนไทยก็เปลี่ยนไปเจาะจงคนพม่าในไทยแทนทำมาร์เก็ตติ้งให้คนพม่ารู้จักเราเยอะขึ้นอย่างเช่นฟู้ดวล็อกเกอร์รีวิวร้านเราก็เลือกเป็นคนพม่าแล้วค่อยขยายไปยังลูกค้ากลุ่มอื่น” 

Shwe Htee เดินทางกว่าสองปีจึงเป็นที่รู้จัก เริ่มจากปากต่อปาก คนนั้นบอกว่าดี คนนี้บอกอร่อย ด้วยรสชาติถึงมือ ราคาจับต้องได้ ในไม่ช้าคนชนชาติต่าง ๆ ก็แวะเวียนมาลิ้มลองเยอะขึ้น คนเวสเทิร์นบ้าง อเมริกันบ้าง รวมถึงเจ้าถิ่นอย่างคนไทยด้วยเช่นกัน 

ต้นตำรับฉบับคนฉาน

ทุกภูมิภาคมีรสชาติเฉพาะตัว คุณน้ำหวานเล่าว่าทางร้านเป็นต้นตำรับฉบับคนฉาน จากเดิมทีอาหารพม่าจะมีรสชาติราบเรียบ ไม่หวือหวา ในทุกจานจะถูกปรุงให้มีรสจืดนำเค็มปลายเสมอ แต่หากเป็นฉานจะมีความจัดจ้านสไตล์จีนเข้ามาเพิ่มมิติ กลมกลืนกลายเป็นเอกลักษณ์บางอย่างที่ยากบรรยาย ไม่มีบิดให้หวานขึ้นตามไทยชอบ หรือปรับให้ลดเค็มลงตามใครสั่ง เพียงตั้งใจถ่ายทอดวิถีลงบนทุกจาน มุ่งมั่นส่งต่อประสบการณ์ทางรสชาติใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าอย่างจริงใจ

“เราตั้งใจทำรสชาติให้เหมือนที่พม่าเลยอยากให้ลูกค้าได้กินอาหารแบบต้นตำรับที่หากินจากที่อื่นไม่ได้”

ซึ่งร้อยเรียงสู่เหตุผลจำเป็น ในการสั่งทำวัตถุดิบที่หาให้ตรงใจไม่ได้ อย่างเส้นอุด้งในเมนู Nan Gyi Tote เธอสั่งผลิตจากโรงงานโดยตรงตามความต้องการ รสสัมผัสจะต้องเบาบางแต่เนื้อแน่น มีความเหนียวหนึบแต่ยังเคี้ยวง่าย ตัวเส้นซึมซับน้ำได้ดีแต่ต้องลื่นคอ เหมารวมไปถึงซอสปรุงรส เส้นก๋วยเตี๋ยวฉาน วัตถุดิบคู่ครัวพม่าอย่างเต้าหู้และถั่วลูกไก่ ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากพม่า เพื่อคงรสชาติให้ตรงตามต้นตำรับออริจินัลที่สุด

จานหลักคู่ใจ

หากหยิบสมุดเมนูมาเปิดแบบเร็วจี๋ ก็คงพลาดของดีไปอย่างเสียไม่ได้ เมนูหลากหลายรายเรียงเต็มสมุดสี่หน้าเอสี จัดจำแนกตามชนิดของกินเล่น เส้น กับข้าวและเครื่องดื่ม ทางร้านยังเผื่อสเปซใต้ชื่อเมนูแนะนำไว้บอกเล่า บรรจงอธิบายวัตถุดิบของอาหารอย่างถี่ถ้วนให้ได้คิดตาม ใครชอบสิ่งนี้ก็สั่ง ใครแพ้สิ่งไหนก็เลี่ยง ใส่ใจความสุขทุกกระเบียดนิ้วเป็นอย่างดี ก่อนเธอจะเอ่ยปากเล่าถึงเมนูขายดีว่า

“พอลูกค้าเรามีหลายชาติเลยเห็นความชอบที่แตกต่างกันชัดเจนอย่างเมนูที่คนไทยมาแล้วต้องสั่งกันแทบทุกโต๊ะคือ Monte Hin Kar หรือขนมจีนพม่าไม่ก็ Tofu Nway เต้าหู้อุ่นร้อนถ้าเป็นคนพม่าส่วนใหญ่จะสั่ง Nan Gyi Tote ยำเส้นอุด้งส่วนคนเวสเทิร์นคนอเมริกันจะกินเป็น Shan Noodle ค่ะ”

เล่าเรื่องพม่าใต้ร่มเงาคันสีทอง

ระหว่างบทสนทนาใกล้สิ้นสุด เม็ดฝนที่เทเป็นสายก็สลับบทกับแสงแดดที่แผดส่อง พริบตาเดี๋ยวสว่าง พริบตาเดี๋ยวเทกระหน่ำ ราวหยอกเหย้าให้ผู้คนมึนงง กระนั้นคุณน้ำหวานก็ชวนย้อนความหลังทิ้งทายถึงวิถีพม่าว่า ไม่ว่าจะเช้าตรู่ เที่ยงวัน หรือยามเย็น คนพม่าหลากวัยมักขลุกอยู่ในสภาชา ถือแก้วร้อนควันโขมงยกดื่มแกล้มอาหาร ชาพม่าไม่เขียวใส รสไม่คล้ายกับชาเขียวคุ้นลิ้น แต่กลับคล้ายคลึงกับชาอินเดียทั้งหน้าตาและรสชาติ อาจเข้มข้นน้อยกว่าเพียงกระจิ๋วหลิว หากถามถึงเหตุผลของชาที่ต้องร้อนเสมอ เธอบอกว่าอาจเพราะอาหารทุกจานมักมีน้ำมัน ความร้อนจะช่วยชำระล้างลำคอให้ลื่นขึ้นทันตาเห็น คนไทยอาจไม่ชินกับชาร้อนและความมันในอาหาร แต่คนพม่ามีความเชื่อนมนานว่าสิ่งเหล่านี้คือเอกลักษณ์ สะท้อนวิถีชีวิต รสนิยมชมชอบอย่างแท้จริง

Shwe Htee ตั้งปณิธานว่าจะยืนหยัดยกวิถีพม่ามาให้คนไทยลอง ขณะเดียวกันก็ช่วยลดทอนความคิดถึงบ้านของคนพม่าได้ไม่น้อย


เรื่องโดย

ภาพโดย

วิดีโอโดย