Kind Places

ห้องสมุด (ไม่) ไร้เสียง เมื่อแผ่นเสียงก้องกังวานอีกครั้งที่ “Vinyl Museum”

“ กว่าจะหาเพลง เปิดเครื่องเล่น

บรรจงเอาเข็มลง

ระหว่างทางเหล่านี้ทำให้การฟังเพลงเพราะขึ้น ”

KiNd ชวนมาสดับรับเสียง ฟังแผ่นเพลงวันวานเมื่อก่อนเก่า พร้อมเงี่ยหูฟัง ‘พี่ม่อน-สุวรรณี ฉายะรถี’ นักประชาสัมพันธ์ประจำพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ มาบอกเล่าเก้าสิบถึงห้องสมุดไม่ไร้เสียงแห่งนี้

แผ่นเสียงนี้ไม่ยาวเฟื้อย เพียงแต่เต็มไปด้วยความตั้งใจของผู้เขียนที่เต็มเปี่ยม

แต่เดิมก่อนเก่า

นอกจากเป็นหน่วยกรองข่าวบ้านข่าวเมืองแล้ว หนึ่งในภารกิจของกรมประชาสัมพันธ์คือการจัดเก็บรักษาอุปกรณ์ประกอบสื่อจากทั่วประเทศ รวมถึงแผ่นเสียงปลดประจำการที่หมดยุคการใช้งาน พี่ม่อนเล่าว่า “เราต้องนำเครื่องมือเครื่องใช้จากยุคแอนะล็อกมาจัดเก็บรักษาไว้ อย่างพวกกล้องตัวใหญ่ ๆ ทีวีจอนูน เครื่องเล่นไขลาน พอมาถึงยุคหนึ่ง แผ่นเสียงถูกแทนที่ด้วยเทปแคสเซ็ตและแผ่นซีดี หลายสถานีเริ่มทยอยส่งให้เรานำมาเก็บรวมกับของชิ้นอื่น”

แผ่นเสียงเป็นร้อยเป็นพันถูกเก็บลงกล่อง เบียดเสียดอัดแน่นซ่อนฝุ่นในห้องเก็บทึบแสง ว่ากันว่าจังหวะชีวิตก็สำคัญไม่เว้นแม้แต่แผ่นเสียง ปากกล่องถูกเปิดอีกครั้งพร้อมภารกิจใหม่ที่เหมือนเก่า ถึงเวลาแล้วที่แผ่นเสียงจะถูกปัดฝุ่นและเฉิดฉายอีกครั้ง “ต้องบอกว่าแผ่นเสียงมีเยอะมาก เพราะส่วนใหญ่ค่ายเพลงจะส่งให้ทางสถานีเพื่อโพรโมตศิลปิน พอมาถึงยุคผู้บริหารปัจจุบัน ท่านเล็งเห็นว่าถ้าเก็บไว้เฉย ๆ อยู่ในห้อง หรืออยู่ในกล่องธรรมดาแบบนี้มันเสียของ จึงมองหาแนวทางที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เลยได้จัดตั้งเป็นห้องสมุดแผ่นเสียงขึ้นมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ กรมประชาสัมพันธ์ค่ะ”

ชำแหละแผ่น

แผ่นเสียงเรียงรายเต็มห้องโถงชั้นสอง พี่ม่อนชี้แจงแถลงไขให้ฟังว่า แผ่นเสียงที่ทางกรมจัดเก็บมี 2 ชนิด คือแบบครั่งและไวนิล แผ่นครั่งผลิตมาจากยางของตัวครั่ง หากใครเป็นคนของอดีตจะดีดนิ้วคิดออกทันทีว่าสมัยก่อนใช้ในการปิดผนึกกล่องและประทับตราไปรษณีย์ แผ่นเสียงครั่งขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแรง ไม่มีบิดไม่มีงอตามแรงดึง แต่ข้อเสียคือหากตกปุ๊บก็แตกปั๊บซ่อมไม่ได้ วิวัฒนาการต่อมาจึงหันมาใช้พลาสติกแทน อย่างที่เราคุ้นหูกันในชื่อแผ่นไวนิล คราวนี้ตกก็ไม่แตกไม่มีเสียรูปทรง หากหักขาดร่องส่วนนอกไป เพลงจากร่องส่วนในที่เหลือก็ยังคงเล่นได้เช่นเดิม การเก็บรักษาก็ไม่ยาก สามารถวางไว้ในอุณหภูมิห้องปกติได้เลย แผ่นครั่งและไวนิลไม่กลัวฝุ่น ไม่ขยาดความชื้น เพียงเก็บให้ห่างจากความร้อนระอุเป็นพอ

ร่องเสียง สำเนียงแผ่น

แอบกระซิบเบา ๆ รู้กันแค่เราสอง ว่าในห้องสมุดแผ่นเสียงแห่งนี้สามารถเลือกแผ่นที่อยากฟังเปิดได้ตามใจ ทางกรมถือว่าแผ่นเสียงเป็นทรัพยากรที่ไม่ถูกนับว่าเป็นของใครเพียงหนึ่ง หรือมีใครสักคนเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ประชาชนทุกคนจึงมีสิทธิ์ในการเข้ามาใช้ร่วมกัน ทั้งคนที่มีประสบการณ์ร่วมกับแผ่นเสียง ทั้งคนที่อยากมีประสบการณ์แปลกใหม่ก็ลองฟังดู แม้จะไม่ใช่เพลงที่ฟังประจำแต่เชื่อว่าต้องคุ้นหู ไม่ใช่ศิลปินที่คลั่งไคล้แต่เชื่อว่าต้องรู้หน้า เก่าสุดคงเป็นเพลงชาติเวอร์ชันแรก ใหม่สุดไม่เกินยุค ’90s คงเป็นมอส ปฏิภาณ และทาทา ยัง เอาเป็นว่าถ้าลองหยิบมาเปิดสักเพลงจะหยุดเดินหาเพลงที่สองสามสี่ไม่ได้ พี่ม่อนยังบอกอีกว่า

“ส่วนใหญ่มักเป็นแผนเสียงที่ใช้งานในการจัดรายการของสถานีวิทยุจริง ๆ คนใจดีรู้ข่าวก็มีเอามาบริจาคบ้างเหมือนกัน เรามีแผ่นไวนิลในไว้ให้บริการกว่า 105,000 แผ่น มีหลากหลายแนวเพลงให้ได้เลือก ตั้งแต่เพลงสากล เพลงสตริง เพลงลูกกรุง ลูกทุ่ง เพื่อชีวิต โฟล์คซอง แม้แต่เพลงการ์ตูนในตำนานอย่างโดราเอมอนก็มี”

เสน่หาวันเก่า

“เราเพิ่งเปิดปีที่แล้วค่ะ ผลตอบรับดีมาก หลายคนคิดว่าเราเป็นห้องเก็บแผ่นเสียงเพลงเก่า จะเป็นคนรุ่นเก่าที่เขาจะมาดูมาย้อนความหลัง กลับกลายเป็นว่าคนที่มาเป็นวัยรุ่นไปประมาณ 95% ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เขาตามมาจากโซเชียลกัน” พี่ม่อนพูดแล้วยิ้ม

ไม่ใช่แค่คนรุ่นเก๋าที่โหยหาอดีต ทว่าคนรุ่นใหม่ก็แสวงหายุคแอนะล็อกเช่นกัน ได้สนุกตั้งแต่หยิบแผ่นออกจากซอง ใช้นิ้วค่อย ๆ ไล่ลงดูชื่อเพลงที่อยากฟัง กว่าจะเจอเพลง เปิดเครื่องเล่น บรรจงเอาเข็มลง ระหว่างทางเหล่านี้ทำให้เขามีส่วนร่วมกับการฟังเพลงสักเพลง มีขั้นตอนให้ละเมียดละไม ไม่รวดเร็ว ไม่รีบเร่ง ต่างจากเดิมที่เข้าไปฟังในยูทูบเมื่อไรก็ได้

การฟังเพลงด้วยแผ่นเสียงให้ความรู้สึกที่ต่าง ไม่ใช่เสียงอึกทึกแบบฟังจากลำโพง ไม่ใช่เสียงแหลมเปี๊ยบแบบฟังจากโทรศัพท์ แต่เป็นเสียงที่มีเทกซ์เจอร์ นุ่มทุ้ม ขรุขระและเคล้าไปด้วยความคลาสสิก ใครได้มาที่นี่ก็จะอยู่เป็นหลักชั่วโมงขึ้น ราวกับติดอยู่ในบ้านขนมหวานที่หาทางออกไม่เจอล่ะ

ปักพิกัด

พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ
กรมประชาสัมพันธ์ ชั้นสอง
เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์

เวลา 10.00-15.00 น.
ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์


เรื่องโดย

ภาพโดย