เชื่อว่าทุกคนต้องเคยไปเยือนย่ำสถานที่แห่งประวัติศาสตร์กันมาบ้างแล้วอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นวัด หรือโบราณสถานอันเก่าแก่ แล้วเคยสังเกตกันมั้ยว่า.. ส่วนประกอบสำคัญของสิ่งก่อสร้างในอดีตกาลเหล่านั้นคืออะไร? ร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์อันเป็นรากฐานของสถาปัตยกรรมเหล่านี้มีประวัติความเป็นมาอย่างไร?
วันนี้ KiNd ขอรับบทเป็นนักโบราณคดี ชวนทุกคนออกไปขุดสำรวจที่มาของเจ้า “อิฐ” ก้อนเล็ก ๆ นี้กัน!
อิฐ is…
“อิฐ” หนึ่งในวัสดุก่อสร้างที่หลายคนรู้จักกันดีในปัจจุบัน แต่รู้หรือไม่ว่าอิฐนิยมนำมาใช้ก่อสร้างในงานสถาปัตยกรรมตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว โดยอิฐที่เป็นที่รู้จักและนิยมนำมาใช้คือ “อิฐแดง” หรือหลายคนมักเรียกกันอีกชื่อว่า “อิฐมอญ” จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ามีการใช้อิฐแดงสำหรับการก่อสร้างจากทั่วทุกมุมโลก ตัวอย่างเช่นทางตะวันออกกลาง พบว่ามีการทำอิฐมาตั้งแต่สมัยอียิปต์ โดยนำดินจากแม่น้ำไนล์มาปั้นเป็นก้อน แล้วนำไปตากแห้งโดยไม่เผา แต่ในแถบอารยะธรรมไทกรีสยูเฟรตีส กลับใช้ดินดิบที่ตากแดดจนแห้งสนิทแล้วนำไปเผาไฟ ส่วนในประเทศจีน อิฐดินเผาในสถาปัตยกรรมถูกใช้ในสมัยราชวงศ์ฉิน ส่วนอิฐในทวีปยุโรปเกิดในช่วงปลายศตวรรษที่ 13 ซึ่งการทำอิฐเกิดขึ้นเนื่องจากขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง เช่น ไม้ที่มีคุณภาพ และหินธรรมชาตินั่นเอง
It’s old
อิฐเก่าเล่าตำนานประวัติศาสตร์ไทย
จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า การใช้อิฐมีมาตั้งแต่อาณาจักรละโว้และทวาราวดีแล้ว และนิยมใช้ต่อกันเรื่อยมาในสมัยสุโขทัย ซากสิ่งก่อสร้างที่พบในสมัยสุโขทัยบางส่วนมีการใช้อิฐเป็นส่วนประกอบร่วมกับการใช้ศิลาแลง จากซากปรักหักพังของอาคาร วัดวาอารามในสมัยสุโขทัย พบว่าอิฐที่ผลิตในสมัยนั้นความคงทนมาเกือบ 1,000 ปี ซึ่งนับว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก และพบว่ารูปทรงของอิฐไม่ต่างกับของขอมและทวาราวดี แต่การนำมาใช้ค่อนข้างแตกต่างกันไป เช่น การนำอิฐมาก่อเป็นพระพุทธรูป เป็นต้น
ส่วนอิฐในสมัยอยุธยานั้นถูกนำมาใช้ในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เนื่องจากการรุกรานของพม่าที่ใช้ปืนใหญ่ระดมยิงกำแพงเมือง ซึ่งขณะนั้นกำแพงเมืองทำมาจากไม้จึงไม่มีความคงทนแข็งแรงมากพอ พระมหากษัตริย์จึงสั่งให้ไปรื้ออิฐจากเมืองสุพรรณบุรี ลพบุรี และนครนายก มาก่อสร้างกำแพงเมือง ปราสาท พระราชวัง และวัด ด้วยเหตุนี้เอง การใช้อิฐจึงเริ่มแผ่กระจายไปสู่ชาวบ้าน จนเกิดเป็นอาชีพการทำอิฐมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยส่วนใหญ่อิฐที่ใช้ในสมัยอยุธยานั้น จะใช้อิฐ 2 รูปแบบ คือใช้ปูพื้นและสร้างอาคาร โดยอิฐที่ใช้ปูพื้นจะมีขนาด 15x30x5 ซม.และอิฐที่ใช้เป็นโครงสร้างอาคารจะมีขนาด 20x20x5 ซม.
สถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาทั้งหมดจะใช้อิฐในการก่อสร้างหรือมีศิลาแลงปะปนอยู่บ้าง โดยการใช้อิฐในสมัยนี้จะใช้อิฐเป็นทั้งโครงสร้างอาคารและเป็นผิวอาคารแต่จะมีการฉาบผิวอิฐอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันการกร่อนของโครงสร้างอิฐ โดยโครงสร้างหลักคือ สร้างเป็นผนังรับน้ำหนักฐานราก ฐานอุโบสถหรือใช้อิฐรูปแบบพิเศษ คืออิฐโค้งที่ก่อขึ้นมาเพื่อเป็นเสาอาคาร และการเรียงอิฐในสมัยอยุธยาจะเป็นการเรียงอิฐแบบตกท้องช้าง ผนังอาคารที่มีความเอียงแบบลาดเข้าหากัน และการเรียงอิฐที่มีลักษณะการย่อมุม สมัยอยุธยาการใช้อิฐเป็นที่นิยมเพราะมีการพัฒนาสิ่งก่อสร้าง เช่น พระบรมมหาราชวัง วัด พระปรางค์ สถาปัตยกรรมต่าง ๆ จึงทำให้ชาวกรุงศรีอยุธยาจำนวนไม่น้อยรู้จักการทำอิฐ การเผาอิฐ และมีการการอนุรักษ์สืบสานอาชีพช่างอิฐโบราณมาจนถึงทุกวันนี้
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น อิฐขาดแคลนอย่างมาก เมื่อมีการย้ายพระนครมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากการกอบกู้อิสรภาพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ด้วยเหตุนี้จึงต้องขนย้ายอิฐจากวัดเก่าแก่ที่หักพังเพราะสงครามในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาบรรทุกลงเรือล่องมา เพื่อใช้ในการก่อสร้างพระนครใหม่
สำหรับลักษณะของอิฐแดงแบบดั้งเดิม หรืออิฐโบราณนั้น มักจะทำด้วยมือ มีลักษณะตัน มีเอกลักษณ์ด้วยสีที่ไม่สม่ำเสมอ และผิวสัมผัสที่แตกต่างกัน ซึ่งอิฐโบราณสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. อิฐโบราณเผาแกลบ มีผิวสัมผัสค่อนข้างหยาบ ไม่เรียบเนียน ด้วยการผลิตที่ต้องผสมแกลบลงไปในดินเหนียว และโรยหน้าด้วยขี้เถ้าแกลบ อิฐที่ได้จึงมีความดิบ 2. อิฐโบราณเผาฟืน มีผิวสัมผัสค่อนข้างเรียบ หนาแน่น และแข็งแกร่งกว่าอิฐโบราณเผาแกลบ เพราะผลิตจากดินเหนียวปนทรายเนื้อเนียนละเอียด เหมาะกับงานตกแต่งทั้งภายนอกและภายใน ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งผนัง สร้างสถาปัตยกรรม หรือนำไปปูพื้นด้านนอก
It’s Now
อิฐในปัจจุบัน วัสดุที่สร้างอัตลักษณ์ให้งานสถาปัตย์
ปัจจุบันอิฐแดงยังคงอยู่คู่กับงานสถาปัตยกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างภายนอกอาคารหรือภายในอาคาร และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงมีการดัดแปลงกระบวนการทำอิฐที่แตกต่างจากเดิมตามความเหมาะสม ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสไตล์การออกแบบในโลกปัจจุบันได้อย่างไร้ขีดจำกัด ตัวอย่างการออกแบบโดยใช้อิฐผ่านรูปแบบงานดีไซน์ทั้งภายในและภายนอกอาคาร มีดังนี้
Photo Credit: Brick Tower & Elephant Museum/itdang 2009
- Brick Tower และ Elephant Museum โครงการออกแบบโลกของช้าง ผลงานสถาปัตยกรรมสุดยิ่งใหญ่ ของผู้ช่วยศาสตราจารย์บุญเสริม เปรมธาดา แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดสุรินทร์ สถานที่ที่เชื่อมโยงคนกับช้างและธรรมชาติเข้าหากัน ผ่านสถาปัตยกรรม และการถ่ายทอดเรื่องราวของชาวพื้นถิ่นในอดีต ให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมได้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์
- Sala Ayutthaya (ศาลาอยุธยา) และ Baan Pomphet (บ้านป้อมเพชร) สายท่องเที่ยว และสายถ่ายรูปคงรู้จักกันดีกับที่พักและร้านอาหารสุดคลาสสิกในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการออกแบบสถานที่โดยใช้อิฐแดงเป็นผนังอาคาร ซึ่งถือเป็นวัสดุที่สามารถหาได้ในพื้นที่ และกลมกลืนได้ดีกับสถาปัตยกรรมรอบข้าง เนื่องจากอยุธยานั้นเป็นเมืองเก่าที่มีโบราณสถานก่อสร้างจากอิฐแดงมากมาย สะท้อนกลิ่นอายของความเป็นกรุงเก่าเคล้าความโมเดิร์นแบบสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี
- Laekhonnonbai (แลคอน นอนบาย) เป็นโรงแรมที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนเอกลักษณ์พื้นถิ่น หลอมรวมเข้ากับวิถีชีวิตได้อย่างลงตัว ความโดดเด่นอยู่ที่การนำก้อนอิฐมาจัดเรียงด้วยการเว้นระยะให้เกิดช่องลม ไม่เพียงช่วยเพิ่มลูกเล่นให้อาคารเท่านั้น แต่ยังตอบโจทย์เรื่องสภาพอากาศของภาคใต้ ทั้งฝนและแดด ในขณะเดียวกันแสงและลมก็สามารถผ่านเข้าออกได้สะดวกด้วยเช่นกัน
- Studiology สตูดิโอ ย่านลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร เป็นอาคารกรุผนังอิฐแดง การออกแบบถือว่ามีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากสตูดิโอทั่วไป ภายใต้แนวคิดที่ว่าอิฐแดงจะทำให้อาคารโดดเด่น พอเห็นตัวอาคารสีส้มก็ช่วยให้มองเห็นได้ง่าย ทั้งนี้ยังสะท้อนถึงความเก่าที่ยิ่งนับวันก็ยิ่งดูสวยอีกด้วย
Photo Credit: ศาลาอยุธยา/Ayutthayastion.com
Photo Credit: Laekhonnonbat/homedeedee.com
Photo Credit: Studiology/itdang 2009
ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานของ “อิฐ” ทำให้อิฐมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างอย่างโดดเด่น นั่นก็คือภาพลักษณ์ของความเก่าและความคลาสสิกนั่นเอง เอาล่ะ! ตอนนี้มีใครกำลังตกหลุมรักเสน่ห์ของเจ้าอิฐแดงก้อนเล็ก ๆ เหล่านี้แล้วบ้าง ถ้าอย่างนั้นก็อย่ารอช้า ลองนำไอเดียการตกแต่งไปเพิ่มลูกเล่นให้บ้านของคุณสวยคลาสสิกแบบไม่ซ้ำใครกันเลย
อ้างอิง
- PLAY WITH IT: สัมผัสถึงความหลากหลายของอิฐนานาชนิด และความเป็นไปได้ของการดีไซน์ที่เกิดจากอิฐ ที่ “อิฐแดง2009”. www.designerhub.in.th
- “อิฐมอญ” วัสดุก่อสร้างที่อยู่คู่กับสถาปัตยกรรมไทย. https://bit.ly/2UnVrWb
- ธนพงศ์ ณ นคร. อิฐ: โครงสร้างศูนย์ศึกษาและพัฒนาอิฐมอญ. https://bit.ly/3vJRSGS
- รวม 12 บริษัทสถาปนิกไทย เนรมิตอิฐให้เป็นมากกว่างานก่อสร้าง. https://bit.ly/3xA7ePt