Kind Places

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเกาหลี ชวนค้นหาความลับที่หลับใหลผ่านภาพเอกซเรย์


“อย่าเชื่อทุกสิ่งที่คุณเห็น จนกว่าคุณจะเห็นมันผ่านเครื่องเอกซเรย์” 

นี่คือคำพูดที่ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงบ่อย ๆ ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกาหลี ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มนำเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาตรวจสอบความสมบูรณ์ของวัตถุโบราณที่เริ่มเสื่อมโทรมลงไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา แม้จะมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างดีก็ตาม

ปัจจุบันความก้าวหน้าทางแพทย์ไม่ได้จำกัดกลุ่มอยู่เพียงแค่ที่โรงพยาบาลเท่านั้น หากแต่ยังขยายมาถึงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อีกด้วย โดยอุปกรณ์ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญคือ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือที่รู้จักมักคุ้นกันในชื่อ CT Scan และเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI

หลายคนอาจแปลกใจว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ทำไมถึงได้กลายมาเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกาหลี เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ได้ลงความเห็นว่า “หากลองตรวจสิ่งที่อยู่ด้านในของสมบัติแห่งชาติเกาหลีดู อาจจะเจอความลับอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ภายในก็เป็นได้” นับจากนั้น เครื่องฉายรังสีเหล่านี้จึงได้เข้ามาเฉิดฉายในวงการพิพิธภัณฑ์อย่างเต็มรูปแบบ  

ในปี ค.ศ. 2017 เป็นครั้งแรกที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ตัดสินใจนำพระพุทธรูปพระศากยมุนีสลักไม้ที่ค้นพบในช่วงราชวงศ์โชซอน (ค.ศ. 1392-1910) สมบัติของชาติชิ้นสำคัญเข้าเครื่อง CT Scan ซึ่งค่อนข้างเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก เนื่องจากพระพุทธรูปพระศากยมุนีสลักไม้มีความบอบบาง ดังนั้นจึงต้องใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ และจากการสแกนทำให้นักวิทยาศาสตร์พบว่า มีภาชนะขนาดเล็กที่บรรจุเศษผ้าและเศษกระดาษซ่อนอยู่ภายในรูปปั้น ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่หนึ่งตัวอย่างของการค้นพบเท่านั้น


การนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมวินิจฉัยความสมบูรณ์ของโบราณวัตถุ ทางทีมนักวิทยาศาสตร์มองว่า หากนำมาเปรียบกับร่างกายมนุษย์ก็คงเป็นการตรวจหาความผิดปกติที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน และวัตถุโบราณเหล่านี้ก็เช่นกัน ทุกชิ้นล้วนมีความลับภายในที่แอบซ่อนเอาไว้ ทางพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกาหลี จึงได้จัดนิทรรศการออนไลน์พิเศษขึ้นในหัวข้อ The Science of Light: Revealing the Secrets of Cultural Properties ในระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม – 15 พฤศจิกายน 2020 

แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ทางพิพิธภัณฑ์ไม่สามารถเปิดทำการได้ตามปกติ จึงต้องจัดการแสดงในรูปแบบออนไลน์จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ซึ่งในนิทรรศการครั้งนี้จะมีการจัดแสดงมรดกทางวัฒนธรรมทั้งสิ้น 57 รายการ ควบคู่ไปกับการแสดงภาพเอกซ์เรย์และวิดีโอบรรยายประกอบ เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมเข้าใจว่าเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถทำงานร่วมกับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติได้อย่างไร

อีกหนึ่งความลับที่ถูกเปิดเผยออกมา หลังจากทีมนักวิทยาศาสตร์ได้นำวัตถุโบราณเหล่านี้เข้าเครื่องสแกนคือ สมบัติประจำชาติลำดับที่ 91 ของเกาหลี เครื่องปั้นดินเผารูปนักรบบนหลังม้าชนิดเอิร์ทเทนแวร์ที่ไม่ผ่านการเคลือบผิววัสดุ ซึ่งวัตถุโบราณชิ้นนี้มักถูกฝังไว้ในหลุมฝังศพเพื่อเป็นของที่ระลึกหลังความตาย

เครื่องปั้นดินเผารูปนักรบบนหลังม้าถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1924 ที่สุสานโบราณของอาณาจักรซิลลา (ค.ศ. 668 – 935)  ในจังหวัดคยองซังเหนือ และได้ทำการบูรณะอย่างคร่าว ๆ ไปในปี ค.ศ. 1977 โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ของพิพิธภัณฑ์ แต่หลังจากทางพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกาหลีได้นำเครื่อง CT Scan เข้ามาตรวจสอบอีกครั้งกลับพบว่า เครื่องปั้นดินเผาชิ้นนี้เป็นกาต้มน้ำที่บรรจุของเหลวได้ 240 มิลลิลิตรเท่านั้น

“เราไม่รู้ว่าบรรพบุรุษของเราใช้สิ่งนี้สำหรับรินน้ำหรือรินแอลกอฮอล์ หรืออาจจะใช้ทั้งสองอย่าง” เจ้าหน้าที่จากทีมวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์กล่าว “แต่จากการใช้เครื่อง CT Scan ครั้งล่าสุด ทำให้เราสามารถยืนยันได้ว่า นี่คือกาต้มน้ำ”

Photo Credit: Earthenware Funerary Object in the Shape of a Warrior on Horseback


นิทรรศการยังแสดงให้เห็นว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบและวิเคราะห์คุณสมบัติของมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งช่วยให้คนรุ่นหลังสามารถเรียนรู้ความลึกลับซับซ้อนที่บรรพบุรุษสร้างไว้ แม้เราจะไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่าเบื้องหลังของสมบัติแต่ละชิ้นมีความเป็นมาอย่างไร แต่เมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาร่วมในการวิเคราะห์ จึงเป็นเหมือนกับการช่วยปลดล็อควัตถุโบราณที่กำลังหลับใหลอยู่ ให้ออกมาโลดแล่นอยู่ในโลกปัจจุบันอีกครั้ง

อีกหนึ่งตัวอย่างการค้นพบที่สำคัญคือ ภาพวาดของ Choe Chiwon นักปรัชญาและกวีในสมัยราชวงศ์โชซอน หลังจากทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์สังเกตเห็นว่าบริเวณด้านขวาล่างของภาพวาดมีการทาสีทับซ้ำ ๆ อยู่ จึงได้นำมาเอกซเรย์และทำการวิเคราะห์โดยวิธีเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ในปี ค.ศ. 2009 และได้พบว่า บริเวณขวาล่างของภาพวาดเคยมีภาพพระภิกษุหนุ่มอยู่ใต้ภาพ 

Photo Credit:The Wooden Shakyamuni Buddha of the Joseon Dynasty


ด้าน ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงการค้นพบครั้งนี้ว่า “เราสันนิษฐานว่าภาพวาดพระถูกวาดทับซ้ำ ๆ เนื่องจากศาสนาพุทธในสมัยราชวงศ์โชซอนเริ่มไม่ค่อยได้รับความนิยม” นอกจากนี้ยังสามารถทราบเพิ่มเติมได้ว่าภาพนี้ถูกวาดขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ และถูกวาดโดยใคร ถึงแม้จะถูกทาสีทับลงไปก็ตาม 

ในปี ค.ศ. 2015 ทางพิพิธภัณฑ์เร่งบูรณะภาพวาดให้กลับมาสู่สภาพเดิมมากที่สุด โดยได้ทำการทดสอบที่หลากหลาย รวมทั้งนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ครั้งนี้ด้วย ซึ่งสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าพวกเขาก็สร้างความตกใจไม่น้อย เพราะเบื้องหลังภาพวาดที่ถูกทาสีทับซ้ำ ๆ ปรากฏรูปร่างของแฮแต (Haetae, 해태) หรือสิงโตยูนิคอร์นในตำนานที่ช่วยปกป้องพระราชวังจากการถูกไฟไหม้ นับว่าเป็นการค้นพบครั้งใหม่ที่ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ตื่นเต้นไปตาม ๆ กัน

Lee Young-beom ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการกล่าวว่า เทคโนโลยีขั้นสูงยังมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมที่เสียหาย “มันคล้ายกับกระบวนการทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย” เขากล่าว

“ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เราสามารถเลือกวิธีที่ดีที่สุดในการดูแลมรดกทางวัฒนธรรมที่เสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา เราสามารถระบุวัสดุที่เหมือนต้นแบบและสามารถทราบถึงความรุนแรงจากความเสียหายของวัตถุแต่ละชิ้นได้”


หากสนใจชมนิทรรศการ The Science of Light สามารถลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ museum.go.kr ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2020


ที่มา


เรื่องโดย