จากประเด็นร้อนที่ประเทศไทยเสนอจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP นั้น ทำให้หลากหลายภาคส่วนออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน นอกจากจะมีกระแสในโลกโซเชียลแล้ว ตอนนี้ภาคประชาชนกำลังขับเคลื่อนกิจกรรมถกแถลง CPTPP เพื่อให้ยกเลิกการเข้าร่วมความตกลงนี้ จัดโดย “กลุ่มเครือข่ายประชาชนเขียนอนาคตประเทศไทย” ก่อนที่รัฐบาลจะมีการประชุมหารือเพื่อลงมติกันในครม.ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้
กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างการตื่นรู้ของประชาชนให้มาร่วมกันศึกษาการเข้าร่วม CPTPP ของรัฐบาล และร่วมกันกำหนดอนาคตของประเทศในทิศทางที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์สำหรับประชาชนโดยรวม โดยมีกำหนดการจัดกิจกรรม ดังนี้
เส้นทางการพัฒนาของประเทศเป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะเส้นทางเหล่านั้นเป็นการแสดงจุดยืนของรัฐบาลว่าเลือกจะทำให้ประเทศนี้เป็นแบบไหน จากมุมมองของกลุ่มภาคประชาชนเห็นว่า การที่รัฐบาลมีความต้องการในการเข้าสู่ความตกลงทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า CPTPP นั่นเป็นการชี้ชัดว่ารัฐบาลเลือกให้คนกลุ่มเดียวเติบโตและทำลายศักยภาพการเติบโตของคนกลุ่มใหญ่
ไม่ว่าสังคมจะถกเถียงกันในมิติใด แต่หัวใจสำคัญของเครื่องมือทางเศรษฐกิจมีแนวทางอย่างชัดเจนว่า ต้องการส่งเสริมคนกลุ่มเดียวให้เติบโตยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือกลุ่มทุนใหญ่ แม้จะมีการถกเถียงถึงประโยชน์ที่ได้ในมิติใดก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป้าหมายทางเศรษฐกิจของ CPTPP คือการทำให้กลุ่มทุนเติบโต
อย่างไรก็ตามการตกลงการค้าที่เรียกว่า CPTPP มีลักษณะแตกต่างจากการตกลงการค้าเสรีอื่นที่เคยทำมาแล้วนั่นคือ การมีข้อตกลงที่เข้มงวด และมีลักษณะการคุมสภาพปัจจัยพื้นฐานของประชากรในประเทศ แทรกแซงนโยบายสาธารณะที่รัฐพึงกำหนดให้เป็นประโยชน์กับประชาชน การเข้าร่วมกับความตกลงการค้า CPTPP จึงมีผลโดยตรงต่อประชาชนในระดับรากฐานโดย 2 ประเด็นสำคัญคือ ยาและเมล็ดพันธุ์ ที่จะนำไปสู่การควบคุม ทำให้ปัจจัยทั้ง 2 ประการ อยู่ในมือกลุ่มทุนใหญ่ในลักษณะการผูกขาด
หากเราพิจารณาสภาพของประเทศในขณะนี้ สิ่งที่รัฐต้องทำคือ การส่งเสริมการเติบโตของประชาชน ส่งเสริมนักลงทุนไทย ส่งเสริมนักประดิษฐ์ไทย เพื่อให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็งของประเทศ รัฐต้องทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน อย่างเช่น อาหารและยารักษาโรคได้อย่างเป็นธรรม แต่สิ่งที่รัฐกำลังก้าวเดินไปนั้น คือการทำลายศักยภาพของประชาชนในการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายศักยภาพในการเติบโตของประชาชน
นักลงทุนบางกลุ่มอาจจะสนับสนุน CPTPP นั่นเพราะเขามองจากจุดยืนของเขาที่คิดว่าจะมีโอกาสได้เติบโต แต่การกำหนดนโยบายสาธารณะต้องคำนึงถึงประชาชนโดยรวมของประเทศ และหากการเข้าสู่ข้อตกลงนี้มีผลเฉพาะการส่งออก ไม่ได้ส่งผลต่อปัจจัยพื้นฐานของประชาชน ปัญหาและข้อถกเถียงย่อมน้อยลงและกลายเป็นปัญหาเฉพาะ แต่ข้อตกลง CPTPP มีผลต่อรากฐานของประชาชนจึงไม่อาจใช้มุมมองทางการลงทุนมาตัดสินนโยบายที่มีผลกว้างขวางชนิดนี้ได้
ข้อมูลข้างต้นเป็นมุมมองจากฝั่งภาคประชาชนที่ออกมาคัดค้านการเข้าร่วม CPTPP โดยมีจุดยืนชัดเจนเรื่องผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนส่วนใหญ่ในหลากหลายมิติ และยังคงดำเนินหน้าต่อไปพร้อมยื่นเรื่องเสนอต่อรัฐบาลที่เราต้องติดตามกันต่อไป