เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้ออกมาเคลื่อนไหวทวงถามลายเซ็นนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีความคืบหน้าของ ร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ (ฉบับประชาชน) และนาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ออกมารับหนังสือ ร่าง พ.ร.บ. บำนาญฯ เป็นที่เรียบร้อย เพื่อส่งต่อให้สำนักนายกฯ พิจารณา นับเป็นการขับเคลื่อนของภาคประชาชนท่ามกลางสภาพสังคมที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)
ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีจำนวนตัวเลขผู้สูงอายุมากถึง 11.1 ล้านคน และในปี พ.ศ. 2568 หรืออีกเพียงแค่ 5 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรผู้สูงอายุจะมีมากถึง 13.9 ล้านคน เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 66.5 ล้านคนทั้งประเทศ นับว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยเลยทีเดียว วันนี้ KINDNOMICS จะขอเล่าย้อนความหลังกันสักเล็กน้อยถึงที่มาที่ไปก่อนที่จะมาเป็นร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ (ฉบับประชาชน)
ประเทศไทยมีการมอบเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุในรูปแบบของสวัสดิการเฉพาะกลุ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ซึ่งอยู่ในสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ผู้สูงอายุจะได้รับเบี้ยยังชีพเดือนละ 200 บาทต่อคน แต่เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี พ.ศ. 2542 จึงได้ปรับจำนวนเบี้ยยังชีพขึ้นมาเป็น 300 บาทต่อคนต่อเดือน และเมื่อเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ปรับจำนวนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 500 บาทต่อเดือน
ต่อมาในสมัยรัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ.ศ. 2544 เบี้ยยังชีพก็ได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดตามเงื่อนไขของค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน จึงเป็นที่มาของการปรับจำนวนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นการให้ตามช่วงอายุ คือ หากมีอายุ 60 ปี ได้รับ 600 บาท อายุ 70 ปี ได้รับ 700 บาท อายุ 80 ปี ได้รับ 800 บาท และเมื่ออายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท และเกณฑ์การมอบเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุตามช่วงอายุนี้ก็ยังคงใช้มาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน
หากดูตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติประจำปี 2561 พบว่าแรงงานนอกระบบที่เป็นผู้สูงอายุมีจำนวนมากถึง 3.5 ล้านคน ทำให้เกิดเป็นคำถามตามมาว่าหากแก่ตัวไปโดยไม่ได้เป็นแรงงานในระบบ ชีวิตวัยเกษียณจะมีความเป็นอยู่อย่างไร จึงเป็นที่มาของการยื่นร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการมอบเงินโดยรัฐสงเคราะห์มาเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า และจะทำให้ผู้สูงอายุทุกคน ทุกอาชีพ ไม่ว่าจะมีรายได้มากหรือน้อย สามารถได้รับเงินตรงนี้อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยก
1.1 สมัยรัฐบาลนายชวนหลีกภัย พ.ศ. 2535-2538 (สมัยที่ 1) และ พ.ศ. 2540-2544 (สมัยที่ 2) เริ่มจัดตั้งโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยมอบหมายให้กรมประชาสงเคราะห์ เป็นองค์กรหลักในการดำเนินงาน ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ. 2536 ให้เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน อายุ 60 ปีขึ้นไป ให้เงินแก่ผู้สูงอายุเดือนละ 200 บาท ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นในประเทศไทย รัฐบาลจึงได้ปรับจำนวนเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้นอีก 100 บาท เป็น 300 บาทต่อคนต่อเดือน
1.2 สมัยรัฐบาลทักษิณชินวัตร พ.ศ. 2544-2549 กำหนดเงื่อนไขในการรับเบี้ยยังชีพเพิ่มเข้ามา 2 ข้อด้วยกัน คือ
1. ผู้สูงอายุ มีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 2. มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ หรือถูกทอดทิ้ง หรือขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูหรือไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ แต่หากผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ทางรัฐจะนำมาพิจารณาก่อน ขณะที่ในปี พ.ศ. 2547 มีเส้นความยากจนอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาทต่อคนต่อเดือน และยังคงมอบเบี้ยยังชีพ 300 บาทเช่นเดิม
1.3 เกิดการรัฐประการนำโดยพลเอกสนธิบุญยรัตกลิน พ.ศ. 2549 ต่อมารัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 – 29 มกราคม พ.ศ. 2551 ได้ปรับเพิ่มจำนวนเงินเบี้ยยังชีพจากเดิม 300 บาท เป็น 500 บาทต่อคนต่อเดือน และหากแต่ละท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการการคลังให้มีศักยภาพ สามารถเพิ่มจำนวนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้แต่ต้องไม่เกินคนละ 1,000 บาทต่อเดือน
1.4 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ พ.ศ. 2551-2554 รัฐบาลได้เริ่มดำเนินนโยบายขยายเบี้ยยังชีพเพื่อให้ครอบคลุมแก่ผู้สูงอายุทุกคนอย่างถ้วนหน้า โดยมอบให้แก่ผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาทต่อคน และไม่กำหนดเงื่อนไขในการรับเงิน นับว่าเป็นก้าวแรกของการก้าวเข้าสู่ระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้าที่มอบให้แก่ผู้สูงอายุทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
1.5 สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ชินวัตร พ.ศ. 2554-2557 เปลี่ยนแปลงเกณฑ์จำนวนเงินเบี้ยยังชีพจากแต่เดิมรัฐบาลมอบเงินให้คนละ 500 บาท เปลี่ยนเป็นการให้เงินตามช่วงอายุแบบขั้นบันได คือ เมื่ออายุ 60 ปี ได้รับเงิน 600 บาท อายุ 70 ปี ได้รับเงิน 700 บาท อายุ 80 ได้รับเงิน 800 บาท และเมื่ออายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเงิน 1,000 บาท
1.6 รัฐบาลปัจจุบันพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา พ.ศ. 2557-ปัจจุบัน นโยบายเบี้ยยังชีพยังคงใช้เกณฑ์การให้เงินแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุเช่นเดิม คือ ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุระหว่าง 600-1,000 บาทต่อเดือน และหากพิจารณาตามเส้นความยากจน ของปี พ.ศ. 2561 พบว่ารายได้ต่อคนต้องมี 2,710 บาทต่อเดือน จึงดูเหมือนว่าเบี้ยยังชีพที่รัฐบาลสงเคราะห์แก่ผู้สูงอายุนั้นจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในแต่ละเดือน
อ่านภาคต่อของบทความนี้ ภาคประชาชนเคลื่อนไหว