Kind National

โรคปฏิวัติโลก: ถึงเวลาขับเคลื่อนแนวคิด “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” (Blue Economy) สู่การพัฒนาการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน

  • “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” (Blue Economy) คือ แนวทางการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน 
  • แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน เกิดขึ้นครั้งแรกที่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Conference on Sustainable Development – UNCSD) ในปี ค.ศ. 2012 ณ กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล หรือที่รู้จักกันในนาม ‘RIO+20’ โดยหลังการประชุม แนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินก็ได้รับการขานรับจากชุมชนโยบายทั่วโลกเป็นอย่างดี
  • ธนาคารโลก (World Bank) เชื่อว่า เศรษฐกิจสีน้ำเงินจะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในประเทศที่เป็นชายฝั่งและเกาะขนาดเล็ก ซึ่งมักเป็นประเทศรายได้ต่ำหรือรายได้ปานกลางค่อนมาทางต่ำ ส่วนประเทศที่มีเศรษฐกิจบนแผ่นดิน (Land-Based Economy) เข้มแข็งอยู่แล้ว เศรษฐกิจสีน้ำเงินจะเป็นฐานสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน


เกาะสมุยพบ “เต่าตนุ” ขึ้นมาวางไข่ในรอบ 6 ปี และมีลูกเต่าฟักไข่ลงสู่ทะเลกว่า 200 ตัว

อุทยานแห่งชาติสิมิลัน พบ “ฝูงปลาฉลามหูดำ” เกือบ 20 ตัว และฝูง “โลมาปากขวด’”ราว 100 ตัว

แหลมจูโหย เกาะลิบง พบฝูง “พะยูน” ออกมาหากินประมาณ 30 ตัว 



ท่ามกลางความตกต่ำทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 เพราะการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และกิจกรรมต่าง ๆ ทางทะเลและชายฝั่ง แต่ขณะเดียวกันผลกระทบเหล่านั้นกลับเป็นข้อดีที่ทำให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟูตัวเองอีกครั้ง 

การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวส่งผลให้ทรัพยากรฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของกิจกรรมทางทะเลภายหลังที่ประเทศไทยประกาศล็อกดาวน์ 1-2 เดือน ตามรายงานของสื่อต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่า ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2563 มีรายงานการฟื้นฟูของธรรมชาติ และพบสัตว์ทะเลหายากในปริมาณที่มากขึ้น เช่น หาดทรายบริเวณหาดป่าตองคุณภาพน้ำทะเลสะอาดขึ้น บริเวณแหลมจูโหย เกาะลิบง จังหวัดตรัง พบฝูงพะยูนออกมาหากินจำนวน 30 ตัว และเกาะสมุย พบเต่าตนุขึ้นมาวางไข่ในรอบ 6 ปี และมีลูกเต่าฟักไข่ลงสู่ทะเล 202 ตัว ส่วนที่อุทยานแห่งชาติสิมิลัน จังหวัดพังงา พบฝูงปลาฉลามหูดำเกือบ 20 ตัว และฝูงโลมาปากขวดราว 100 ตัว 

“กรณีการฟื้นตัวโดยธรรมชาติในช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 นับเป็นโอกาสประการหนึ่งที่ธรรมชาติได้รับ โดยในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลก็มีโอกาสฟื้นตัวได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ การฟื้นตัวของปะการังและหญ้าทะเล ซึ่งมีสาเหตุจากการปล่อยน้ำเสียของแหล่งชุมชนและโรงแรมที่พักตลอดแนวชายฝั่งลดลงส่งผลให้คุณภาพน้ำทะเลดีขึ้น ทำให้การฟื้นตัวและการเติบโตของปะการังและหญ้าทะเลดีขึ้น”

– นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าว-


การฟื้นตัวของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นอีกกรณีที่แสดงให้เห็นว่า หากมีการควบคุมกิจกรรมการท่องเที่ยวให้อยู่ในขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ สามารถทำให้ทรัพยากรทางธรรมชาติฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่น และสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ในระยะยาว หากแต่เพียงประเทศไทยต้องใช้โอกาสนี้ในการควบคุมกิจกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลไม่ให้กลับไปสู่รูปแบบเดิมที่เกินศักยภาพแต่แนวคิดนี้ยังไม่ได้นำมาปรับใช้อย่างกว้างขวางสักเท่าไร ทว่าจากบทเรียนของโควิด-19 ครั้งนี้ “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” (Blue Economy) ควรเป็นแนวนโยบายเร่งให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติเร็วขึ้นและขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม

จากสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศของไทยมีอาณาเขตทางทะเลกว่า 320,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 60 ของอาณาเขตทางบก และมีความยาวของชายฝั่งทะเลกว่า 3,100 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 23 จังหวัด ทำให้ทรัพยากรทางทะเลสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างมาก คณะอนุกรรมการการจัดการองค์ความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีมูลค่าแห่งชาติทางทะเลไม่น้อยกว่า 24 ล้านล้านบาท โดยเกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยว การทำประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเป็นแหล่งเชื้อเพลิงและพลังงาน ทรัพยากรแร่ธาตุ และการพาณิชยนาวี



ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การนำแนวคิดการกำหนดเขตเศรษฐกิจสีน้ำเงิน สามารถนำไปสู่การจัดการที่มีประสิทธิภาพด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น การกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวให้อยู่ในระดับที่ไม่เกินขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ (Carrying Capacity) การจัดระเบียบการค้าขายหน้าชายหาดหรือกำหนดโซนของกิจกรรมต่าง ๆ ให้ชัดเจน อาทิ ระเบียบของพื้นที่ทำการเกษตรชายฝั่ง พื้นที่ขายอาหาร พื้นที่โรงแรมและที่พัก มีการกำหนดเปิด-ปิดสถานที่ท่องเที่ยวตามฤดูกาล รวมถึงมีการกำหนดค่าธรรมเนียมในการเข้าสถานที่ท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ  เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถสร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนให้กับฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 

การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจและการสูญเสียรายได้อย่างมหาศาลสืบเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ต้องไม่เป็นการสูญเปล่า แต่ต้องนำไปสู่การสร้างสังคมแบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศให้มีความยั่งยืน และเพื่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว

ในวันที่ผู้คนเริ่มตระหนักถึงภัยที่มนุษย์สร้างแก่สิ่งมีชีวิตและท้องทะเล สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เพียงกระแสแนวความคิด หากแต่ต้องถามหาการลงมือทำอย่างจริงจัง



ที่มา

  • หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2563 หน้า 6
  • ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทย จะหันมาสนใจ “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน”. https://researchcafe.org
  • รายงาน: เศรษฐกิจสีน้ำเงิน: พื้นที่ใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจ. http://www.knowledgefarm.in.th/report-blue-economy
  • “ภายใต้วิกฤติย่อมมีโอกาส” ปล่อยทรัพยากรธรรมชาติให้ฟื้นสมดุล. https://www.ryt9.com

เรื่องโดย