Kind Global

บังกาลอร์ อินเดียที่ยิ่งกว่า Incredible เพราะพัฒนาไปไกลกว่า กรุงเทพฯ!



บังกาลอร์ หรือ เบงกาลูรู เมืองหลวงของรัฐกรณาฏกะ ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย เมืองที่ได้รับฉายาว่า ซิลิคอนวัลเลย์แห่งอินเดีย (Silicon Valley of India) ได้รับความสนใจอีกครั้งหลังจาก The White Tiger ภาพยนตร์อินเดียที่ฉายผ่าน Netflix เล่าเรื่องราวของ พลราม เด็กหนุ่มวรรณะต่ำ ที่เปลี่ยนชีวิตตัวเองจากคนขับรถกลายเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพในเมืองบังกาลอร์ เมืองที่คนหัวคิดก้าวหน้าอย่าง อโศก หนุ่มนักเรียนนอกเจ้านายของพลรามใฝ่ฝันอยากจะไป

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนวรรณะต่ำอย่างพลราม จะก้าวกระโดดเป็นเจ้าของสตาร์ทอัพได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้เป็นเรื่องน่าสนใจว่าเขาทำอย่างไรถึงทะยานตัวเองจากรากเหง้าเดิม ที่เป็นชนชั้นถูกกดขี่ ไร้การศึกษา ขึ้นมาเป็นซีอีโอสร้างเงินได้เป็นพัน ๆ ล้าน


วันนี้ KiNd Global ไม่ได้จะมาเล่าเรื่องราวของภาพยนตร์แห่งแดนภารตะเรื่องนี้ แต่กำลังชวนผู้อ่านมาร่วมขบคิดว่า กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย จะมีโอกาสเติบโตก้าวกระโดดในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เช่นเดียวกับบังกาลอร์หรือไม่ เพราะด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทั้งสภาพทางภูมิศาสตร์ สภาพบ้านเมือง และการจราจร ที่นับว่าใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ

Bangalore VS Bangkok

บังกาลอร์ ใช้เวลาเติบโตเพียง 30 ปี ในการก้าวกระโดดมาเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีและนวัตกรรม เรียกว่า ณ เวลานี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไอทีและซอฟต์แวร์ต้องเข้าไปสร้างสำนักงานในเมืองบังกาลอร์ เช่น TCS, Infosys, Wipro, Polaris, HCL, Apple, Microsoft, IBM และ Oracle Sap เป็นต้น และยังเป็นเมืองที่ดึงดูดบุคลากรด้านไอทีจำนวนมาก คาดว่าในปี 2023 อินเดียจะเป็นประเทศที่มีประชากรในสายงานด้านเทคโนโลยีมากที่สุดในโลก โดยปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัพที่ยังดำเนินการอยู่กว่า 4,900 บริษัทตั้งอยู่ในเมืองบังกาลอร์ สร้างเงินลงทุนหมุนเวียนกว่า 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อเราเปรียบเทียบระหว่างกรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทย กับบังกาลอร์ เมืองใหญ่อันดับ 3 ของอินเดีย พบว่ามีความเหมือนที่อยู่ในความแตกต่างนั้นมากมาย ทำให้น่าคิดว่า โอกาสที่กรุงเทพฯ จะกลายเป็นซิลิคอนวัลเลย์ของเมืองไทย หรืออย่างน้อยก็เป็นศูนย์รวมนวัตกรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นไปได้หรือไม่


ด้านสภาพภูมิศาสตร์: ด้วยความที่บังกาลอร์และกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนเส้นละติจูดแนวเดียวกัน ทำให้สภาพอากาศของทั้ง 2 เมืองใกล้เคียงกัน เมืองบังกาลอร์ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย อุณหภูมิในหน้าร้อนจึงจะไม่สูงเกินกว่า 35 องศาเซียลเซียส ซึ่งนับว่าอากาศใกล้เคียงกับเมืองไทย และอาจดีกว่าด้วยซ้ำ เนื่องจากช่วงเช้าอุณหภูมิจะอยู่ในช่วง 18-19 องศาเซลเซียส อากาศเย็นสบายเหมาะแก่การอยู่อาศัย และถ้าเทียบกับทั้งประเทศของอินเดีย บังกาลอร์นับว่ามีคุณภาพอากาศดีเลยทีเดียว


ด้านเศรษฐกิจ: บังกาลอร์ ติด 1 ใน 5 เมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของอินเดีย รองจากนิวเดลี มุมไบ กัลกัตตา และเชนไน ส่วนกรุงเทพฯ นอกจากจะเป็นเมืองหลวงของไทยแล้ว ทุกสิ่งอย่างยังมารวมศูนย์อยู่ที่นี่ด้วย ปัจจุบันบังกาลอร์มี GDP ต่อหัว (GDP per capita) อยู่ที่ 5,051 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 155,520 บาท ส่วนกรุงเทพฯ อยู่ที่ 573,907 บาท นับว่าสูงกว่าบังกาลอร์กว่า 3 เท่าตัว


ด้านการศึกษา: เนื่องด้วยบังกาลอร์เป็นเมืองเกิดใหม่ มีสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงอยู่มากมาย เน้นการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งอินเดีย (Indian Institute of Science: IISc) ที่ถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยระดับโลกด้านชื่อเสียงทางวิชาการ และ สถาบันเทคโนโลยีแห่งอินเดีย  (Indian Institute of Technology: IIT) ซึ่งไม่เพียงดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจด้านไอทีเท่านั้น แต่ยังเป็นสถาบันที่ชักชวนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาทำวิจัยและเรียนรู้การบริหารงานด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ

ด้านประชากร: สิ่งที่บังกาลอร์มีความใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ คือจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ (นับเฉพาะสำมะโนครัว) โดยคนกรุงเทพฯ มีประมาณ 5.7 ล้านคน ส่วนบังกาลอร์ประมาณ 6.6 ล้านคน ถ้าเทียบกับจำนวนเนื้อที่แล้วบังกาลอร์อาจจะแออัดกว่ากรุงเทพฯ สักหน่อย แต่อย่าลืมว่าถ้ารวมจำนวนประชากรแฝงในกรุงเทพฯ  แล้วนับว่ามีกว่า 10 ล้านคนเลยทีเดียว

ด้านคมนาคม: แม้วันนี้บังกาลอร์จะมีบริการรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังนิยมใช้บริการรถเมล์ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากเรายังเห็นผู้คนในบังกาลอร์เบียดเสียดกันอยู่บนรถเมล์ ขณะเดียวกันบริการแท็กซี่และตุ๊กตุ๊ก ก็วิ่งกันเกลื่อนถนนเช่นเดียวกับเมืองหลวงของไทย  


ด้านสภาพการจราจร: แน่นอนว่าเสียงแตรยังคงเป็นเอกลักษณ์ของอินเดียไม่ว่าจะอยู่ในเมืองใดก็ตาม รวมถึงบังกาลอร์ด้วย ดังนั้นเมื่อเทียบเรื่องเสียงแตรบนท้องถนนเราคงสู้เสียงแตรของบังกาลอร์ไม่ได้ แต่ถ้าสู้ด้วยสภาพการจราจรติดขัดก็น่าจะสูสี เพราะทั้งกรุงเทพฯ และบังกาลอร์ยังคงเผชิญรถติดอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งรีบอย่างช่วงเช้าและช่วงค่ำในย่านสำนักงานใจกลางเมือง


ด้านสภาพบ้านเมือง: อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องกล่าวถึงคือ ต้นไม้ แม้บังกาลอร์จะมีสภาพการจราจรแออัด มีตึกสูงมากมายตั้งอยู่ใจกลางเมือง แต่ต้นไม้ก็มีมากเช่นเดียวกัน หากมองออกไประหว่างทางมีต้นไม้สูงตั้งขนาบสองข้างทาง บางมุมถนนเห็นเป็นอุโมงค์ต้นไม้ และหากมองจากภาพมุมสูงก็จะพบว่า บนพื้นที่ของบังกาลอร์มีสีเขียวอยู่จำนวนมากเลยทีเดียว แม้บังกาลอร์จะเป็นเมืองที่เติบโตเร็วแต่ยังคงรักษาความเขียวขจีไว้ นับเป็นเมืองที่มีความเขียวมากเป็นอันดับ 3 ของอินเดีย และยังได้รับการยกย่องให้เป็น The Garden City Of India

แม้ปัจจุบันบังกาลอร์จะขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรมด้านไอที ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจเข้ามาพัฒนาศักยภาพของตัวเองในเมืองนี้ แต่เมื่อมองกลับมายังบ้านเมือง พิจารณาอย่างถี่ถ้วนก็จะพบว่า ยังมีอีกหลายมุมเมืองของบังกาลอร์ที่ถูกทอดทิ้ง ทั้งพื้นที่อยู่อาศัย สภาพการจราจรติดขัด มลพิษและของเสียที่ถูกปล่อยออกมา เนื่องด้วยไม่ได้รับการพัฒนาจากภาครัฐอย่างแท้จริง แม้จะมีงบประมาณประจำปี แต่ก็ไม่ได้ถูกจัดแจงให้พัฒนาโครงสร้างเมืองเต็มรูปแบบ

จึงไม่น่าใช่เรื่องยากเกินไปนัก หากกรุงเทพฯ จะพัฒนาเมืองให้ก้าวทันบังกาลอร์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะด้วยศักยภาพบุคลากรในประเทศไทยเองก็ไม่น้อยหน้าไปกว่าประเทศอื่น ๆ เพียงแค่ต้องเริ่มจากวิสัยทัศน์ของผู้นำที่มุ่งหวังให้ไทยก้าวไปได้ไกลแค่ไหนและตั้งใจลงมือทำอย่างแท้จริง


ที่มา


เรื่องโดย