Kind Circular

เมื่อของคู่กันอย่างเบียร์และมันฝรั่งทอด ร่วมมือกันปกป้องโลกร้อน


การผลิตเบียร์มักก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับสูง แต่เทคนิคใหม่จะควบคุมการผลิตเพื่อให้นำของเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่กลายเป็นอาหารจากพืช ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีได้หาวิธีควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียจากกระบวนการผลิต เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนไปพร้อม ๆ กัน

เบียร์-มันฝรั่งทอด อาวุธลับต่อสู้กับภาวะโลกร้อน

ขั้นตอนการปล่อยก๊าซจากการหมักเบียร์ในโรงเบียร์ มักก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง ซึ่งก๊าซเหล่านี้เมื่อจับตัวกันและผสมกับกากมันฝรั่งจะสามารถเปลี่ยนเป็นปุ๋ยได้ ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการพัฒนาโดยบริษัท CCm Technologies ในสหราชอาณาจักร โดยทดลองใช้ปุ๋ยบนกระบะเมล็ดมันฝรั่งเมื่อต้นปี ค.ศ. 2020 และได้รับการนำมาใช้โดย Walkers แบรนด์มันฝรั่งทอดกรอบที่มีชื่อเสียง


Walkers บริษัทมันฝรั่งทอดที่ตั้งอยู่ในเมืองเลสเตอร์ จะติดตั้งอุปกรณ์ดักจับคาร์บอนที่โรงงานก่อนการเพาะปลูกปี ค.ศ. 2022 โดยผู้ผลิตกำลังมองหาวิธีการจัดหาก๊าซจากภายในบริษัท โดยคาดว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนลงถึง 70% ซึ่งเมื่อโครงการนี้เปิดตัวและขยายวงกว้างมากขึ้น Walkers อาจกลายเป็นผู้ผลิตมันฝรั่งที่มีการปล่อยคาร์บอนเป็นลบภายในปี ค.ศ. 2030


เดวิด วิลคินสัน จาก PepsiCo กลุ่มบริษัทขนมขบเคี้ยวของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าของมันฝรั่ง Walkers กล่าวว่า “ตั้งแต่การผลิตมันฝรั่งไปจนถึงข้าวที่ผลิตแบบหมุนเวียนนี้ นวัตกรรมของ CCm ก่อให้เกิดการเรียนรู้ทั้งระบบอาหาร ทำให้ภาคเกษตรกรรมมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการเดินทางที่ทะเยอทะยานของพวกเรา”


“เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้ทดลองใช้ปุ๋ยในปริมาณที่มากขึ้นและค้นพบศักยภาพทั้งหมด ความคิดริเริ่มนี้เป็นขั้นตอนในทิศทางที่ถูกต้อง และเราจะทำงานอย่างหนักต่อไปเพื่อลดผลกระทบของคาร์บอนที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ นั่นก็คือผู้บริโภค” วิลคินสัน กล่าว

ด้าน พาเวล คีซีลูสกี จาก CCm Technologies กล่าวทิ้งท้ายว่า “CCm รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ PepsiCo ได้เลือกใช้เทคโนโลยีของเราเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่กับแนวทางใหม่ ๆ ในการส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนทั่วสหราชอาณาจักร ด้วยการนำทรัพยากรเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่อย่างยั่งยืน และกักเก็บคาร์บอนที่ดักจับได้กลับคืนสู่ดิน ความร่วมมือของเราถือเป็นก้าวสำคัญในการพิสูจน์ว่า เกษตรกรรมสามารถมีบทบาทในการลดคาร์บอนและสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนได้”


ที่มา


เรื่องโดย