“ประเทศฮอนดูรัส” (Honduras) หรือชื่อทางการคือ สาธารณรัฐฮอนดูรัส (Republic of Honduras) เป็นประเทศเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ทางตอนกลางของทวีปอเมริกา มีพื้นที่ประมาณ 112,482 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 10 ล้านคน จุดสนใจของประเทศนี้ที่เราหยิบยกมาก็คือ “สะพานโชลูเตกา” (Choluteca Bridge) ซึ่งเป็นหน้าเป็นตาของฮอนดูรัสมาอย่างยาวนานกว่า 80 ปี ทั้งยังนำมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอีกด้วย โดยสะพานแห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1935 – 1937 เพื่อให้ผู้คนสัญจรไปมาข้ามแม่น้ำโชลูเตกา (ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับสะพาน รวมถึงชื่อเมืองด้วย)
สะพานโซลูเตกา เป็นสะพานแขวนที่มีโครงสร้างเลียนแบบมาจากสะพาน Golden Gate อันมีชื่อเสียงในเมือง San Francisco ซึ่งถือว่าล้ำหน้ามาก เพราะสะพานที่สร้างในยุคเดียวกันนั้นอย่าง สะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือสะพาน Sydney Harbour ล้วนเป็นสะพานโครงสร้างเหล็ก นอกจากนี้ยังออกแบบโดยสถาปนิกและวิศวกรชั้นนำของโลก และสร้างโดยองค์กรวิศวกรของภาครัฐในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีชื่อเรียกว่า U.S. Army Corps of Engineer (USACE)
หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1996 จึงได้มีการบูรณะสะพาน เพราะตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภัยธรรมชาติอย่าง “พายุเฮอริเคน” ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากประเทศญี่ปุ่น และเมื่อเปิดใช้งานในปี ค.ศ. 1998
กระทั่งเดือนตุลาคมในปีเดียวกันนี้ เฮอริเคนมิทช์ (Mitch) ได้พัดถล่มฮอนดูรัส ทำให้มีฝนตกหนักขนาด 75 นิ้ว/ ตรม. ในเวลา 4 วัน ซึ่งเท่ากับปริมาณน้ำฝนที่เมืองนี้เคยได้รับในเวลา 6 เดือน สะพานแห่งนี้จึงต้องต่อสู้กับพายุเฮอริเคนที่โหมกระหน่ำอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายครั้งใหญ่ น้ำท่วมหนักพัดทำลายบ้านเรือนทั่วทั้งภูมิภาค ประชาชนกว่า 7,000 คนเสียชีวิต และสะพานทุกแห่งในประเทศฮอนดูรัสถูกทำลาย ยกเว้นเพียงแต่สะพานโชลูเตกา ที่สามารถสู้ได้โดยไม่เกิดความเสียหายใด ๆ และยังคงยืนหยัดอย่างมั่นคง ไม่สะทกสะท้าน
อย่างไรก็ดี ชัยชนะครั้งนี้กลับทำให้สะพานแห่งนี้กลายเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ เพราะพลังของธรรมชาติทำให้ “สายน้ำ” เปลี่ยนทิศทางไป (เปลี่ยนไปอยู่บริเวณด้านข้างของสะพานแทน) กล่าวคือ แม่น้ำไม่ได้ไหลลอดผ่านใต้สะพานแห่งนี้อีกต่อไป แม้สะพานจะมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะอยู่รอดจากภัยพิบัติขั้นรุนแรง แต่มันกลับกลายเป็นสะพานที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร และเป็นสะพานที่ไม่สามารถข้ามไปที่ใดได้ – A bridge to nowhere.
สะพานโชลูเตกา จึงกลายเป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์ที่กล่าวขานถึงกันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา ทำให้นักคิดนักเขียนระดับโลก นำเอามาเปรียบเปรยได้เป็นอย่างดี เช่น เรื่องการศึกษา ธุรกิจ เทคโนโลยี และการดำเนินชีวิตในครอบครัว เป็นต้น
ถึงแม้จะได้ผู้ออกแบบและผู้ก่อสร้างในระดับแนวหน้าของโลก และไม่ว่าจะสร้างสะพานได้สวยงามและแข็งแรงเพียงใด แต่ก็ถูกสร้างอยู่บนสมมติฐานที่ว่า “สายน้ำจะไม่เปลี่ยนเส้นทาง” ลักษณะของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นอุทาหรณ์ชั้นดี ถึงการมองสภาพแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาอย่างรอบรู้และรอบคอบ
ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของทุก ๆ ประเทศ ถึงแม้ว่าจะมีระบบสร้างการเรียนรู้ที่เป็นเลิศแก่ทรัพยากรมนุษย์ของตนเองในปัจจุบัน (เปรียบเปรยดั่ง การสร้างสะพาน) แต่หากไม่เหลือบมองการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของโลกที่รวดเร็วและรุนแรงแล้ว (เปรียบเรยกับสายน้ำที่เปลี่ยนทิศทางไป) ระบบการศึกษาที่ว่ายอดเยี่ยมนั้นก็อาจจะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง
การยึดติดอยู่กับ “สะพานเดิม” ที่สร้างขึ้นบนสมมติฐานที่ว่า “สายน้ำไม่เปลี่ยนทิศทาง” จึงเป็นความเสี่ยงประการหนึ่ง การปรับและสร้างทักษะความรู้ให้ตนเองอย่างสอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังโควิดเป็นสิ่งจำเป็น เพราะโลกใบนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่พวกเราไม่อาจจินตนาการถึง ความท้าทายรูปแบบใหม่ ๆ อาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง
สะพานโชลูเตกานี้ถือเป็นอุปมาที่ยอดเยี่ยม เพราะสามารถกล่าวถึงสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นกับพวกเราได้ บางครั้งพวกเราทั้งหมดกำลังโฟกัสไปที่การสร้างสินค้าหรือบริการที่แข็งแกร่งที่สุด ฉลาดล้ำที่สุด โดยลืมคิดถึงความเป็นไปได้ที่ความต้องการนั้นอาจจะกำลังหายไป ตลาดอาจแปรเปลี่ยนไปแล้ว พวกเรากำลังโฟกัสที่สะพานและเพิกเฉยต่อความเป็นไปได้ที่ว่า แม่น้ำที่อยู่ด้านล่างอาจไหลเปลี่ยนทิศ ลองคิดแบบนี้ดูบ้าง ว่าการ “สร้างเพื่อความคงทน” อาจเป็นค่านิยมยอดฮิตเดิม ๆ แต่การ “สร้างเพื่อการปรับตัว” อาจเป็นทางรอดใหม่ก็ได้
ไม่เช่นนั้นแล้ว คุณอาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังเช่นเดียวกับ “สะพานโชลูเตกา”
ที่มา
- บทความเรื่อง “สะพาน Honduras” เป็นครู จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2563
- Prakash lyer. The Bridge On The River Choluteca. www.businessworld.in
- Khongsak Hiranprueck. สะพานโชลูเตกา. www.blockdit.com