Kind Global

ไปต่อ หรือ พอแค่นี้? กับการเข้าร่วม CPTPP ของไทย

มองสองมุม เปิดโอกาส-เสียประโยชน์ เมื่อไทยเข้าร่วม CPTPP

เรียกได้ว่ากำลังเป็นประเด็นร้อนในสังคมเลยก็ว่าได้ เมื่อไทยกำลังจะยื่นข้อเสนอเข้าร่วมกลุ่ม “CPTPP” แต่กลับมีความเห็นต่างเกิดขึ้นจากหลากหลายภาคส่วน วันนี้ KiNd ชวนมองสองมุม หากประเทศไทยเข้าร่วมความตกลงครั้งนี้จะเปิดโอกาสด้านใดบ้างให้กับประเทศ หรือในทางกลับกันไทยจะเสียผลประโยชน์ในมิติด้านใดบ้าง เพราะอนาคตของเศรษฐกิจไทยไม่ใช่เรื่องไกลตัว…

CPTPP คืออะไรสำหรับใครที่ยังไม่รู้? 

CPTPP หรือ (Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership) เป็นความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการ และการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งในประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

โดยความตกลงดังกล่าวได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2006 ภายใต้ชื่อว่า TPP (Trans-Pacific Partnership) มีสมาชิกทั้งหมด 12 ประเทศ ต่อมาในปี 2017 สหรัฐอเมริกาได้ขอถอนตัวออกไป ทำให้เหลือสมาชิกเพียง 11 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่นแคนาดาเม็กซิโกเปรูชิลีออสเตรเลียนิวซีแลนด์สิงคโปร์มาเลเซียบรูไนและเวียดนาม พร้อมใช้ชื่อใหม่ว่า “CPTPP”

นอกจากนี้ข่าวความคืบหน้าของ CPTPP ยังทำให้อีกหลายประเทศต่างสนใจเข้าร่วมความตกลงนี้ ไม่ว่าจะเป็น ไทย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา ไต้หวัน ไปจนถึงสหราชอาณาจักร 

มองข้อดี-เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจของไทย

1. เพิ่มโอกาสการส่งออก ประเทศไทยสามารถขยายการส่งออกไปสู่ตลาดแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย จากสถิติในปี 2017 มูลค่าส่งออกไทยไปยังกลุ่มประเทศ CPTPP มีสัดส่วน 30% ของการส่งออกทั้งหมดจากไทย และมีอัตราการเติบโต 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

สำหรับแคนาดากับเม็กซิโกมีสัดส่วนการส่งออกรวมกัน 2% สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปแคนาดา ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ข้าว และผลิตภัณฑ์ยาง

ส่วนสินค้าหลักที่ส่งออกไปเม็กซิโกคือ รถยนต์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าในหมวดดังกล่าวมีโอกาสไปได้ดีถ้าไทยเข้าร่วม CPTPP ได้สำเร็จ

2. เพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศ ช่วยดึงดูดการลงทุนที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศสมาชิก CPTPP เป็นการยกระดับความสัมพันธ์ของกระบวนการผลิตในไทยในห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งหากไทยไม่เข้าร่วม เราอาจจะเสียโอกาสตรงนี้ให้มาเลเซียกับเวียดนามไป

3. เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย จากการปรับปรุงกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ CPTPP ที่ได้ชื่อว่าเป็นความตกลงทางการค้าคุณภาพสูง ตัวอย่างกฎเกณฑ์ที่ CPTPP สนับสนุน ได้แก่ กฎหมายสิทธิแรงงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการแข่งขันอย่างเท่าเทียมระหว่างธุรกิจชาวท้องถิ่นและชาวต่างชาติ เป็นต้น ซึ่งการปฏิรูปกฎหมายเหล่านี้จะเป็นผลบวกกับไทยในระยะยาว

นอกจากนี้ ผลการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ สรุปว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว โดย GDP จะขยายตัว 0.12% (คิดเป็นมูลค่า 13.32 พันล้านบาท) การลงทุนขยายตัว 5.14% (คิดเป็นมูลค่า 148.24 พันล้านบาท)แต่หากไม่เข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบ GDP ไทยลดลง 0.25% (คิดเป็นมูลค่า 26.6 พันล้านบาท) และกระทบการลงทุน 0.49% (คิดเป็นมูลค่า 14,270 ล้านบาท) 

มองข้อเสีย-ผลกระทบในมิติต่างๆ

1. กระทบต่อภาคบริการ CPTPP ใช้เงื่อนไขการเจรจาแบบ Negative List หรือการระบุรายการที่ไม่เปิดเสรี หมายความว่าประเทศสมาชิกสามารถระบุหมวดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องการเปิดเสรีได้ ส่วนหมวดธุรกิจบริการอื่น ๆ ที่ไม่ได้เลือกไว้ในข้อตกลงจะต้องเปิดเสรีต่อนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด ดังนั้น สำหรับไทยที่เป็นประเทศที่ค่อนข้างปิดในหมวดบริการ การเปิดเสรีนี้อาจทำให้ธุรกิจบริการภายในประเทศเสียประโยชน์ให้นักลงทุนต่างชาติไป

2. กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมเกษตร ทำให้เผชิญกับการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากแคนาดา เช่น ปุ๋ย และถั่วเหลือง ที่จะเข้ามาตีตลาดไทยหลังการเปิดเสรีด้านการค้า นอกจากนี้ CPTPP ยังมีข้อบัญญัติให้ประเทศสมาชิกต้องเข้าร่วมในอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV1991 (International Union for the Protection of New Varieties of Plants) ที่จะเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถนำพันธุ์พืชพื้นเมืองไทยไปทำการวิจัยเพื่อสร้างพันธุ์พืชใหม่แล้วจดสิทธิบัตรได้

ข้อนี้ส่งผลเสียต่อเกษตรกรไทยโดยตรง เพราะถ้านำพันธุ์พืชใหม่นี้มาปลูกแล้วจะไม่สามารถเก็บเมล็ดไปปลูกต่อได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องซื้อเมล็ดใหม่เท่านั้น ทำให้ต้นทุนการเกษตรยิ่งสูงขึ้น ทำให้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืช และกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

3. กระทบต่ออุตสาหกรรมยาและสุขภาพ การผูกโยงการขึ้นทะเบียนตำรับยากับระบบสิทธิบัตร (Patent Linkage) ข้อผูกมัดในบทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจาก CPTPP ระบุให้รัฐวิสาหกิจที่ทำกิจการซื้อขายสินค้าจะต้องถูกปฏิบัติเสมอหน้ากับเอกชน ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมของไทยใช้วิธีประกาศบังคับใช้สิทธิซีแอล (Compulsory Licensing) เพื่อนำเข้ายาต้านไวรัสเอชไอวี เอดส์ หากถูกบังคับด้วยข้อตกลงตรงนี้หลายฝ่ายจึงเกรงว่าการเข้าถึงยาสำหรับผู้มีรายได้น้อยจะทำได้ยากกว่าเดิม

4. กระทบธุรกิจอื่นๆ ในไทยเองก็ต้องเตรียมรับมือกับการรุกตลาดของต่างชาติ เนื่องจาก CPTPP จะเปิดโอกาสทางการแข่งขันให้นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น ทั้งจากการลดภาษีสินค้านำเข้า การเปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล รวมถึงการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อกิจการท้องถิ่นได้

จากข้อมูลข้างต้นเป็นการมองภาพรวมในสองแง่มุมทั้งข้อดี และข้อเสียของการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP โดยต้องมองในทุกแง่มุมจากทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องขบคิดกันอย่างรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจระดับประเทศว่าทางออกไหนจะเหมาะสมที่สุด โดยตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการส่งเรื่องเข้าครม. เพื่อพิจารณาหามติในที่ประชุม พร้อมติดตามความคืบหน้ากันต่อไป 


อ้างอิง

  • เปิดข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP. waymagazine.org
  • กัลยรักษ์ นัยรักษ์เสรี. ไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วม CPTPP?. www.scbeic.com
  • รติมา คชนันทน์. CPTPP โอกาสและความท้าทายของไทย. library2.parliament.go.th/ebook