นมเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่ผู้คนทั่วโลกนิยมดื่มกันมาอย่างยาวนาน แต่ในประเทศรวันดา ประเทศเล็ก ๆ ตั้งอยู่ระหว่างตอนกลางและตะวันออกของทวีปแอฟริกา ซึ่งมีขนาดเพียงแค่ 26,338 ตร.กม. และมีประชากรอาศัยอยู่ราว 12 ล้านราย กลับยกย่องให้ “นม” คือเครื่องดื่มชั้นเลิศที่ไม่มีเครื่องดื่มชนิดใดเทียบชั้นได้อีกแล้ว
อะไรคือความพิเศษที่ซุกซ่อนอยู่ในนมของประเทศรวันดา KiNd จะพาคุณไปหาคำตอบ
บาร์นม
“เมื่อคุณดื่มนม คุณจะมีความคิดที่ตรงไปตรงมาเสมอ” หนึ่งในคำพูดของเหล่าคอนมที่มักจะแวะพักดื่มนมสด ๆ ที่บาร์ในเมืองคิกาลี (Kigali) อยู่เป็นประจำ ซึ่งบาร์แทบทั้งหมดในเมืองนี้ มีเมนูยอดฮิตก็คือ “นม” ไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมือนอย่างผับ บาร์ทั่วไป
“ผมรักการดื่มนม” Jean Bosco Nshimyemukiza คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างกล่าว พลางจิบนมในแก้วเป็นระยะ พร้อมฉีกยิ้มที่มีคราบขาวของนมติดอยู่เหนือริมฝีปาก เป็นร่องรอยว่าเขาเพลิดเพลินกับการดื่มนมมากเพียงใด “นมสด ๆ มันทำให้คุณสงบ มีสติ และยังช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย มันช่วยรักษาสุขภาพของคุณให้แข็งแรง” Nshimyemukiza กล่าวเสริม
ในประเทศรวันดา โดยเฉพาะในเมืองคิกาลีผู้คนนิยมดื่มนมอย่างมาก ทั้งนมที่เพิ่งคั้นออกมาสด ๆ และนมที่ถูกนำไปผ่านกระบวนการหมัก ไม่ว่าจะเป็นแบบร้อนหรือแบบเย็น นมทุกชนิดล้วนได้รับกระแสตอบรับที่ดี เพราะนี่คือวัฒนธรรมการดื่มที่ชาวรวันดารักและหวงแหน
Photo Credit: Jacques Nkinzingabo/ The New York Times
และไม่ว่าคุณจะมีอายุ เพศ อาชีพ หรือสถานะทางสังคมแบบไหน เมื่ออยู่ในบาร์นม ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน เด็ก ๆ สามารถร่วมพูดคุยกับผู้ใหญ่ในบาร์ได้อย่างอิสระ ทุกคนผ่อนคลายที่บาร์นมได้อย่างเต็มที่ หรือจะจิบอินซูซูร้อน ๆ (Inshyushyu – นมสดที่ผ่านการต้ม) จากแก้วพลาสติกตลอดทั้งวันก็ยังได้ นมอีกชนิดที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือนมหมักที่รู้จักกันในชื่อ อิคิวูกูโต (Ikivuguto) เสิร์ฟในแก้วโลหะเย็น ๆ ราดด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำตาลสด ส่วนตัวนมหมักจะมีรสชาติคล้ายกับโยเกิร์ตรสเปรี้ยวที่อุดมไปด้วยโปรไบโอติก
Photo Credit: Jacques Nkinzingabo/ The New York Times
ขณะที่บางคนชอบดื่มนมรวดเดียวหมดแก้ว บางคนชอบจิบทีละนิด ค่อย ๆ ละเลียดรสชาติหวานมันของนมที่เพิ่งคั้นออกมาสด ๆ คู่กับเครื่องเคียงอย่าง จาปาตี (Chapati) ซาโมซ่า (Samosa) มัฟฟิน ไข่ลวก เค้ก และกล้วย จากความนิยมในการดื่มนม บาร์นมจึงสามารถพบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเดินทางไปเมืองไหนของประเทศ ก็มักจะเห็นบาร์นมอยู่ริมถนนเสมอ ช่วงเวลาที่ชาวบ้านมักจะมาดื่มนมมากที่สุดคงหนีไม่พ้นช่วงเช้าตรู่ เพราะนมอุ่น ๆ ยามเช้าจะทำให้ร่างกายตื่นตัว สมองทำงานได้อย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมตัวรับมือกับเช้าวันใหม่อันแสนสับสนวุ่นวาย ส่วนตอนสาย ผู้คนก็จะมารวมตัวกันที่บาร์ เพื่อรับประทานอาหารกลางวัน เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ที่ใช้ทั้งพบปะสังสรรค์เพื่อนฝูง พูดคุยกับผู้คนที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน และผู้คนจากทุกอาชีพสามารถแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างกันได้อย่างอิสระ
สมบัติล้ำค่า
กว่า 70% ของจำนวนประชากรรวันดาประกอบอาชีพเกษตรกรรม วัวจึงเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและเป็นสิ่งที่ใช้แสดงออกถึงสถานะทางสังคมในชนบท ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาได้เป็นข้อพิสูจน์ชั้นดีกว่า “วัว” คือของมีค่าสูงสุดที่ชาวรวันดามักจะมอบให้เป็นของขวัญแก่เพื่อนหรือครอบครัวที่เพิ่งแต่งงาน เพื่อให้พวกเขาสามารถก่อร่างสร้างตัวจากวัวต่อไปได้
Photo Credit: Jacques Nkinzingabo/ The New York Times
ในรวันดา หากคุณต้องการทำให้ใครสักคนแก้มเปลี่ยนเป็นสีชมพูระเรื่อ เพราะเขินอาย วิธีกล่าวคำชมง่าย ๆ เพียงแค่บอกเธอว่า “นัยน์ตาของเธอช่างเปล่งประกายเหมือนกับลูกวัว” (ufite amaso nk’ay’inyana) เพียงเท่านี้ คุณผู้หญิงที่ได้รับคำชมก็ตัวบิดกันไปเป็นแถว ๆ นอกจากนี้บริบทของคำว่า วัว ยังถูกนำไปตั้งชื่อลูกหลาน เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้กับเด็กเกิดใหม่อีกด้วย
แล้วทำไม “วัว” ถึงมีความสำคัญกับทุกช่วงชีวิตของชาวรวันดาขนาดนั้น รายงานของ ดร. Maurice Mugabowagahunde นักวิจัยด้านประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาที่ Rwanda Cultural Heritage Academy มีคำตอบ โดย ดร. Mugabowagahunde ระบุว่า ชาวรวันดามีประเพณีมอบวัวเป็นค่าสินสอดให้แก่ครอบครัวฝ่ายหญิง เพื่อแสดงถึงความพร้อมที่จะดูแลหญิงสาวคนนี้ไปตลอดชีวิต และเมื่อวัวตัวใดตัวหนึ่งมีลูก ลูกวัวจะถูกมอบเป็นของขวัญให้แก่คู่บ่าวสาวต่อไป แม้ว่าประเพณีดังกล่าวจะปฏิบัติกันเฉพาะในบางส่วนของรวันดาเท่านั้น แต่ครอบครัวของเจ้าบ่าวมักจะมอบวัวเป็นสินสอดทองหมั้นให้แก่ครอบครัวฝ่ายหญิงเสมอ
นอกจากวัวจะเป็นสินสอดแล้ว วัวยังทำหน้าที่เป็นสกุลเงินอีกหนึ่งรูปแบบที่สามารถนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกับสินค้าต่าง ๆ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 จนกระทั่งปี ค.ศ. 1954 กษัตริย์ Mutara III Rudahigwa ยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติที่ให้บ่าวรับใช้ (Abagaragu – อาบาการากู) และสาวรับใช้ (Abaja – อาบาจา) ทำหน้าที่ดูแลวัว สินทรัพย์ที่มีค่าในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย ทั้งการรีดนมวัว หมักนม รวมถึงหน้าที่อื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าตอบแทนที่จะได้รับ
Photo Credit: Jacques Nkinzingabo/ The New York Times
ในขณะที่ ชาวรวันดาส่วนใหญ่นิยมบริโภคนมวัวมาโดยตลอด ดร. Mugabowagahunde เล่าว่า การซื้อนมวัวในอดีตถือเป็นเรื่องต้องห้าม ใครที่คิดจะขายนมวัวให้ผู้อื่นบริโภค ถือว่าเป็นการกระทำที่น่าละอาย เพราะนมวัวมีค่าเกินกว่าจะนำไปขายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ “โดยปกติแล้ว วัวหนึ่งตัวในรวันดา สามารถผลิตนมได้ถึง 1-2 ลิตรต่อวัน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อครอบครัวอยู่ดี สาเหตุหลัก ๆ มาจากวัวขาดสารอาหาร บางครอบครัวไม่มีหญ้าให้พวกมันกิน ไม่มีอาหารเสริมบำรุงสุขภาพ เพื่อให้วัวผลิตน้ำนมออกมาได้ในปริมาณที่ต้องการ ซึ่งไม่ต่างกับปัจจุบันนี้เท่าไรนัก”
จากปัญหาดังกล่าว ในรายงานของ ดร. Mugabowagahunde ได้ระบุเพิ่มเติมอีกว่า ในช่วงทศวรรษที่ 1600 กษัตริย์ Mibambwe Gisanura จึงได้ออกคำสั่งให้ครอบครัวชนชั้นสูง ที่มีวัวและนมอยู่ในความครอบครองจำนวนมาก ต้องบริจาค แบ่งปัน และช่วยเหลือครอบครัวที่ยากไร้ เพื่อให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและช่วยขจัดปัญหาผู้คนล้มตายจากการขาดสารอาหาร
Photo Credit: Jacques Nkinzingabo/ The New York Times
ด้วยเหตุนี้ ชาวรวันดาจึงเริ่มขายนมในช่วงต้นทศวรรษที่ 1900 แต่ชาวรวันดาบางส่วนก็ยังเคยชินกับกรอบธรรมเนียมปฏิบัติเดิม ๆ ว่า ห้ามซื้อขายนมวัวเด็ดขาด จนกระทั่งรวันดาตกเป็นประเทศอาณานิคมของจักรวรรดิเยอรมัน ชาวรวันดาถูกเกณฑ์ไปสร้างถนน โรงเรียน และโบสถ์ การเดินทางไกลจากบ้านเกิดและครอบครัว ทำให้พวกเขาไม่มีนมวัวดื่มระหว่างทำงาน ในเวลาเดียวกันนั้นเอง พ่อค้าชาวซูดานใต้ ยูกันดา และแทนซาเนีย ที่ร่วมเดินทางไปกับชาวเยอรมัน ได้เล็งเห็นถึงความต้องการของแรงงานชาวรวันดา
พ่อค้าหลายรายเริ่มนำนมวัวมาขายให้แรงงานเหล่านี้ แน่นอนว่าช่วงแรกยังไม่มีใครกล้าซื้อ แต่จนแล้วจนรอด ชาวรวันดาที่รักการดื่มนมวัวมาตลอดทั้งชีวิตก็ต้องยอมก้าวออกจากกรอบเดิม ๆ และจ่ายเงินซื้อนมวัวมาดื่มในที่สุด และนี่ทำให้ชาวรวันดาหลายคนเริ่มมองว่า การซื้อขายนมวัวไม่ใช่เรื่องที่ผิด ไม่มีอะไรที่ต้องละอายใจ พวกเขาจึงเริ่มหันมาขายนมวัวเพิ่มขึ้น นมวัวถูกวางขายในตลาดเปิดท้ายครั้งแรกราว ๆ ปี ค.ศ. 1907
“ธุรกิจขายนมเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในปี ค.ศ. 1937 เมื่อกษัตริย์ Rudahigwa ทรงเปิดโรงงานผลิตนมแห่งแรกของประเทศชื่อว่า Nyabisindu พระองค์ทรงให้เหล่าข้าทาสบริวารออกไปซื้อนมจากชาวบ้าน จากนั้นก็นำมาเก็บไว้ในคลังสินค้า และขายควบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์นมชนิดอื่น ๆ เช่น ชีสและโยเกิร์ต” ดร. Mugabowagahunde กล่าว
ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ในปี ค.ศ. 1994 กลุ่มหัวรุนแรงเชื้อสายฮูตูได้สังหารผู้คนไปราว 8 แสนราย ภายในเวลาเพียงแค่ 100 วัน โดยมุ่งเป้าไปที่ชาวทุตซี ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรวันดา ครอบครัวเกษตรกรที่เลี้ยงโคและวัว รวมถึงศัตรูทางการเมือง
เมื่อเหตุการณ์สงบลง ภายในเมืองคิกาลีเริ่มมีร้านบาร์นมเฉพาะทางเปิดขึ้นมาหลายร้าน เนื่องจากผู้ที่รอดชีวิตส่วนใหญ่ ไม่เหลือวัวอยู่ในความครอบครองอีกแล้ว วัวส่วนใหญ่ถูกฆ่าตาย และบาร์นมที่เพิ่งเปิดตัวก็ไม่มีนมวัวสด ๆ เหลืออยู่เช่นกัน พวกเขาต้องปรับเปลี่ยนวิธีการขายนมวัวมาเป็นการขายนมผงหรือนมพาสเจอร์ไรส์แทน
Photo Credit: Jacques Nkinzingabo/ The New York Times
แต่ถ้ามีนมวัวหลงเหลืออยู่ ก็จะถูกแยกไปเก็บไว้ต่างหาก จะไม่มีการนำนมวัวมาปะปนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะ นม คือของมีค่า ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประเภทหนึ่งก็ว่าได้ แต่บาร์นมก็ต้องประสบปัญหาอีกครั้ง เมื่อชาวบ้านนิยมซื้อนมผงจากซูเปอร์มาร์เก็ตแทน เนื่องจากมีราคาที่ถูกและเก็บรักษาไว้ได้นานกว่านมที่ชงจากบาร์
ดร. Mugabowagahunde กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยุติลง พบว่าวัวกว่า 90% ถูกฆ่าตาย รัฐบาลต้องเร่งหาทางเพิ่มประชากรวัวขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและต่อสู้กับภาวะทุพโภชนาการ ในปี ค.ศ. 2006 ประธานาธิบดี Paul Kagame ได้ริเริ่มโครงการ Girinka เพื่อมอบวัวหนึ่งตัวให้แก่ทุกครอบครัวที่ยากจน เป็นการต่อสู้กับภาวะทุพโภชนาการในเด็กที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ด้านกระทรวงเกษตรและทรัพยากรสัตว์เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวได้ทำการแจกจ่ายวัวไปแล้วกว่า 380,000 ตัวทั่วประเทศ โดยได้รับความช่วยเหลือในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากหน่วยงานเอกชนและผู้นำต่างประเทศ รวมถึงนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีแห่งอินเดีย
ปัจจุบัน รัฐบาลสนับสนุนให้ชาวรวันดาทำปศุสัตว์ในพื้นที่ปิดล้อม หรือในฟาร์มขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างจากพื้นที่อยู่อาศัย เพื่อลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และนี่เองจึงทำให้ต้นทุนการขายนมสดเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เกษตรกรผู้เลี้ยงโคและวัวจึงเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะบาร์นมจะประสบปัญหามาหลายครั้งหลายครา ทั้งจากการขาดแคลนนมวัว ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ต้นทุนการเลี้ยงวัวก็เพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้วัวขาดแคลนอาหาร และล่าสุดคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ชาวบ้านต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน แต่เจ้าของบาร์นมหลายแห่ง ที่ยังคงเปิดทำการอยู่ ก็ยังคงยืนยันว่า พวกเขามีความสุขที่ได้เปิดร้าน ไม่มีอะไรช่วยเติมเต็มช่วงชีวิตของพวกเขาได้เท่านี้อีกแล้ว
“ฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้อยู่ในธุรกิจนม เพราะนมคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับผลกำไรมากนัก แต่ฉันก็รักที่จะทำมัน”
ที่มา
- At Rwanda’s Favorite Bars, Forget the Beer: Milk Is What’s on Tap. www.nytimes.com/2021/10/09/world/africa/rwanda-milk-bars
- Rwanda Brought to Life the Childhood Fantasy of Milk Bars. https://theculturetrip.com/africa/rwanda/articles/rwanda-brought-to-life-the-childhood-fantasy-of-milk-bars/
- Where people go to bars to drink milk. www.bbc.com/travel/article/20210323-where-people-go-to-bars-to-drink-milk
- ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์รวันดา: ครบรอบ 25 ปี เหตุสังหาร 8 แสนชีวิตภายใน 100 วัน. www.bbc.com/thai/international