Kind Global

จากเลนินถึงเชกา: ครั้งหนึ่งที่การแสดงความคิดเห็นนำไปสู่การจองจำ


รัสเซีย ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยถูกบดบังด้วยม่านเหล็กสุดแกร่ง ประเทศสองทวีปที่น้อยคนนักจะแหวกม่านเหล็กมาล้วงความลับจากดินแดนแห่งนี้ได้ โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914-1918) ช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย และความสูญเสีย เพราะหากฝั่งหนึ่งพลาดพลั้ง อีกฝั่งก็พร้อมจะฉกฉวยโอกาสยึดครองผลประโยชน์แห่งชาติโดยทันทีทันใด ขณะที่ประชากรหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ของรัสเซียก็ถูกเกณฑ์ไปร่วมรบในมหาสงครามครั้งนี้ ทำให้คณะกรรมการพิเศษ หรือหน่วยตำรวจลับเชกา (The All-Russian Extraordinary Committee – Всероссийская Чрезвычайная Комиссия; ЧК) จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน


แม้ประชาชนจะตกอยู่ในความยากลำบาก ทั้งภัยสงครามและการปฏิวัติรัสเซียเดือนตุลาคม (October Revolution) ค.ศ. 1917 นำโดย วลาดิมีร์ เลนิน ชายผู้ออกมาป่าวประกาศเรียกร้องความเท่าเทียมทางสังคม ผ่านรูปแบบการปกครองแบบสังคมนิยม ชายผู้เป็นผู้นำนักปฏิวัติมาร์กซิสคนแรกของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย (the Union of Soviet Socialist Republics – USSR) หัวหน้าพรรคบอลเชวิค และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก และที่สำคัญเป็นเจ้าของแนวคิดลัทธิมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ (Marxist-Leninist) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักปฏิวัติสังคมนิยมทั่วโลก

ขณะที่ไฟปฏิวัติกำลังลุกฮือในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 ฤดูกาลที่หนาวเหน็บของเดือนธันวาคมก็หวนกลับมาเหมือนเช่นเคย แต่ครั้งนี้เสรีภาพที่ประชาชนถวิลหา กลับถูกเซนเซอร์โดย หน่วยตำรวจลับเชกา (Cheka) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1917 แม้หิมะที่โปรยปรายลงมาจะขาวบริสุทธิ์เพียงใด แต่ชุดเครื่องแบบสีดำทะมึนและใบหน้าบึ้งตึงของหน่วยตำรวจลับ กลับทำให้ฤดูหนาวที่หนาวเหน็บอยู่แล้วยิ่งหนาวจับใจขึ้นไปอีก


หน่วยตำรวจลับ
❘❘❘

หลายคนเมื่อนึกถึง ตำรวจ ภาพแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวก็คงไม่พ้น นายตำรวจที่คอยดูแลความปลอดภัยของประชาชน แต่เชกาไม่ใช่นายตำรวจแสนดีผู้นั้น เพราะพวกเขาพร้อมเข้ามาฉุดกระชากคุณออกจากบ้านยามวิกาล หากคุณเผลอวิจารณ์การกระทำของผู้นำการปฏิวัติในทางเสีย ๆ หาย ๆ ซึ่งขอบเขตงานของเชกา คือ การสอดส่องและควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชนโซเวียต เพื่อรักษาความเป็นระเบียบแบบแผน รวมถึงความมั่นคงในสังคม

แน่นอนว่าสิ่งที่เลนินมุ่งหวังให้เชกาทำคือ การปราบปรามอำนาจของฝ่ายตรงข้ามให้หมดสิ้นในสมัยการปกครองของเขา

เมื่อการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 ประสบความสำเร็จ เลนินก็ขึ้นมาครองอำนาจอย่างเต็มรูปแบบ และนี่ยิ่งกระตุ้นให้หน่วยตำรวจลับมีบทบาทความสำคัญขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งในเวลาเพียงแค่หนึ่งปี เชกาทำการสังหารประชาชนโซเวียตเป็นจำนวน 6,000 คน แต่นักประวัติศาสตร์บางคนมองว่า ตัวเลขที่เผยออกมานั้น ต่ำกว่าความเป็นจริงไปมาก


หากตีความอุดมการณ์ของเลนินในช่วงแรกที่ปลุกระดมชนชั้นกรรมาชีพให้ลุกฮือขึ้นมาปฏิวัติทางชนชั้นนั้น เลนินคือชายที่กล้าออกมาต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น เขาคือผู้ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะโค่นล้มสังคมที่เต็มไปด้วยชนชั้นทางสังคมลงไป นี่คือชายผู้เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ผู้นั้น

แต่เมื่อก้าวขึ้นสู่การปกครอง อำนาจ ก็กลายเป็นสิ่งเดียวที่เขายึดถือ เพราะสังคมที่เลนินวาดฝันไว้นั้น คือ ฝันที่ไกลเกินเอื้อม และไม่มีทางเป็นจริงได้เลยในสังคมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์แห่งนี้

ในช่วงแรกของการก่อตั้งเชกาขึ้นมานั้น มีผู้สนใจเข้าร่วมเพียงแค่หยิบมือ แต่หลังจากปี ค.ศ. 1918 เป็นต้นมา เมื่อเฟลิกซ์ ดเซียร์จินสกี มิตรสหายคนสนิทของ โจเซฟ สตาลิน ขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยตำรวจลับเชกาเป็นคนแรก ซึ่งเขาก็ได้ทำการยกระดับเชกาให้กลายเป็นหน่วยตำรวจสุดแกร่งที่ไม่มีผู้ใดสามารถต่อกรได้


ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนที่แร้นแค้นอยู่แล้วในช่วงหลังสงครามโลก ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เมื่อเกิดสงครามกลางเมือง และการแสดงออกทางความคิดเห็นก็ถูกจำกัดอยู่ในกรอบแคบ ๆ ห้ามวิจารณ์ ห้ามต่อต้าน ห้ามการกระทำทุกรูปแบบที่อาจนำมาสู่ภัยความมั่นคงของพรรคบอลเชวิค แม้เลนินจะบอกว่าภายหลังการปฏิวัติเขาจะโค่นล้มชนชั้นทางสังคมลงไปทั้งหมดก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าการจะบริหารประเทศยังไงก็ต้องมีชนชั้นปกครองอยู่ดี

ดเซียร์จินสกี ทำให้หน่วยเชกากลายเป็นหน่วยงานการปราบปรามชั้นนำของประเทศ เขานำมาตรการความรุนแรงทุกรูปแบบมาใช้กับประชาชนโซเวียต เพื่อให้ผลของการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 ของเลนินไม่สูญเปล่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้ผล เพราะประชาชนไม่กล้าลุกฮือขึ้นมาต่อต้านแม้แต่น้อย หากเชการับรู้ถึงความไม่ชอบมาพากล พวกเขาจะเข้าจับกุมและลงโทษบุคคลที่เป็นภัยต่อโซเวียตอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ เชกายังมีหน้าที่เป็นหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ และรับผิดชอบด้านปฏิบัติการข่าวกรองต่างประเทศ อีกทั้งยังทำหน้าที่ควบคุมดูแลค่ายกักกันแรงงานหรือกูลัก

พวกเขาคือหน่วยตำรวจลับที่แข็งแกร่ง และแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ตามแต่อำนาจที่พวกเขาได้รับ ความแข็งแกร่งของเชกาจึงได้พัฒนามาเป็นต้นกำเนิดของสายลับรัสเซียที่หาตัวจับได้ยากที่สุดในโลก นั่นคือ KGB (Комите́т госуда́рственной безопа́сности – КГБ)


เงียบไว้ดีที่สุด
❘❘❘

หนึ่งในอาวุธที่สำคัญของเชกาคือ กองกำลังพิเศษติดอาวุธ พวกเขามีอำนาจหน้าที่ในการตรวจค้น จับกุม และยึดทรัพย์ประชาชนได้อย่างเต็มที่ นี่คือสิทธิพิเศษของตำรวจที่ประชาชนโซเวียตต้องยอมรับ แม้ว่าการกระทำของเชกาจะเป็นการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของพวกเขาก็ตามที

นี่คือช่วงเวลาที่ดอกไม้แห่งเสรีภาพควรจะเบ่งบานหลังจากชนชั้นทางสังคมถูกทำลายลง แต่กลับกลายเป็นช่วงเวลาอันมืดมิดที่ประชาชนโซเวียตต้องนิ่งเฉยต่อการกระทำอันเลวร้ายของหน่วยตำรวจลับ เพราะหากคุณเริ่มแสดงความคิดเห็นต่อต้านพรรคบอลเชวิคขึ้นมาเมื่อไหร่ ชีวิตอันแสนสงบสุขในโลกที่ปราศจากชนชั้น (ตามทัศนะของเลนิน) ก็ถึงคราวต้องสิ้นสุดลง


เชกากลายเป็นหน่วยตำรวจที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์โซเวียตก็ว่าได้ ในช่วงปี ค.ศ. 1918-1921 ประชาชนถูกสังหารไม่ต่ำกว่า 60,000 ราย และอีกกว่าแสนรายถูกจับกุมไปใช้แรงงานที่ไซบีเรีย ส่งผลให้พวกเขาต้องเสียชีวิตลง จากการอดอาหารและการใช้แรงงานที่เกินกว่าร่างกายจะรับไหว

ในปลายปี ค.ศ. 1922 หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง รัฐบาลโซเวียตยกเลิกนโยบายระบอบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม (War Communism) และเปลี่ยนมาใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป (New Economic Policy – NEP) ทำให้ระบบเศรษฐกิจในโซเวียตพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ด้วยเหตุนี้เอง พรรคบอลเชวิคจึงต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างและระบบการบริหารของเชกาใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็นหน่วยบริหารการเมืองแห่งรัฐ (State Political Administration – GPU) และกลายมาเป็นคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ หรือ KGB ในเวลาต่อมา


นี่คือเรื่องราวของหน่วยตำรวจลับเชกา ที่มาพร้อมกับคำประกาศเจตนารมณ์ของเลนินว่า ชนชั้นทางสังคมต้องถูกทำลาย ชายผู้นำพาชนชั้นกรรมาชีพให้ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านความไม่เท่าเทียมทางสังคม จนนำไปสู่การโค่นล้มชนชั้นปกครองจนหมดสิ้น ซึ่งเลนินสามารถทำได้สำเร็จและเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น พวกเขาก็สามารถเอาชนะความเลวร้ายของการถูกชนชั้นปกครองกดขี่ขูดรีดได้ ซึ่งต้องแลกมาด้วยเสรีภาพทางการพูดที่ถูกจำกัด แม้ว่าในปัจจุบันเชกาจะไม่ได้มีบทบาทที่โหดร้ายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา แต่นี่คืออีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของรัสเซีย ที่แสดงให้เห็นว่า ครั้งหนึ่งเสรีภาพในการพูดของประชาชนโซเวียตถูกคุกคามมากเพียงใด


ที่มา


เรื่องโดย