Kind Global

จาก 1940 ถึง 2020 ญี่ปุ่น – สงคราม – โควิด – และโอลิมปิกเกมส์


เส้นทางประวัติศาสตร์ของดินแดนอาทิตย์อุทัยนั้นอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้ใน ปี 1940 ภาวะสงครามจะพรากโอกาสแห่งความรุ่งเรืองของการจัดกีฬาโอลิมปิกไป แต่ต่อมาใน ปี 1964 ญี่ปุ่นก็กลับมายืดหยัดอย่างมั่นคงอีกครั้ง พร้อมประกาศศักดาในฐานะเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกอย่างสมภาคภูมิ และเมื่อโอกาสแห่งความเฉิดฉายกำลังจะกลับมาเยือนอีกครั้งใน ปี 2020 ที่ญี่ปุ่นได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ แต่! เจ้าโควิด-19 วิกฤตการณ์โรคระบาดร้ายแรงระดับโลกกลับมาพรากความฝันอันยิ่งใหญ่ไปอีกรอบ! ทำให้ทางโอลิมปิกต้องประกาศเลื่อนการจัดงานไปอีกเป็นปี 2021


ระหว่างที่ทุกคนต่างตั้งหน้าตั้งตารอ “โอลิมปิกเกมส์” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2021 ที่กรุงโตเกียวนั้น KiNd อยากชวนไปเปิดหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศถิ่นฐานแห่งซามูไรนี้กันก่อน ถือว่าเป็นการอุ่นเครื่องให้พร้อมก่อนจะลงสนามจริง!

ปี 1940 เมื่อสงครามมาเยือน
○○○○○

ย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ญี่ปุ่นถูกจับตามองอย่างมากในฐานะมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมและการทหาร จากการใช้นโยบาย “ประเทศมั่งคั่ง การทหารเข้มแข็ง” ทำให้ประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และเข้ามามีบทบาทในเอเชียอย่างมาก

แต่นอกเหนือจากการไล่ล่าอาณานิคมมาอยู่ภายใต้ร่มธงอาทิตย์อุทัย อีกหนึ่งในสิ่งที่จักรวรรดิญี่ปุ่นมุ่งหวังด้วยก็คือ สิทธิ์ในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยในปี 1936 ญี่ปุ่นได้ยื่นสมัครขอเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งก็คือการแข่งโอลิมปิกในปี 1940 นั่นเอง

และจากการประชุมสภาคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ได้มีมติเลือก “กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ในปี 1940” พร้อมกับเลือกเมืองซัปโปโรของญี่ปุ่น ให้เป็นสถานที่จัดโอลิมปิกฤดูหนาวด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติแรกของเอเชีย และครั้งแรกของโลก ที่มีการจัดโอลิมปิกทั้งสองฤดูในปีเดียวกัน แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นพร้อมจะประกาศศักดาในฐานะมหาอำนาจจักรวรรดินิยม

ข่าวดีนั้นทำให้ดินแดนอาทิตย์อุทัยฉลองใหญ่ และเตรียมนำไฟโอลิมปิกจากเทือกเขาโอลิมเปียอันศักดิ์สิทธิ์ในเอเธนส์ ขึ้นเครื่องบินรบมิตซูบิชิ เคไอ-15 หรือคามิคาเซ่ กลับมาญี่ปุ่น และเริ่มต้นการวิ่งคบเพลิงที่ภูเขาเฮียวงะในคิวชู แต่สุดท้ายทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจ!


เพราะถัดมาในปี 1937 สงครามที่ยืดเยื้อระหว่างญี่ปุ่นที่กำลังเข้ารุกรานจีนในเหตุการณ์ “อุบัติการณ์มุกเดน” (Mukden Incident) หรือในญี่ปุ่นเรียก “อุบัติการณ์แมนจูเรีย” (Manchurian Incident) นั้น ญี่ปุ่นใช้งบประมาณในสงครามไปจนหมดสิ้น ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบและอุปกรณ์เพื่อการจัดงานโอลิมปิก นอกจากปัญหาภายในแล้ว ญี่ปุ่นยังต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรจากสหราชอาณาจักร เพราะปมปัญหาดังกล่าวจึงทำให้ในปี 1938 คณะกรรมการจัดการแข่งขันของญี่ปุ่นตัดสินใจแจ้งต่อไอโอซีว่า  พวกเขาขอถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ก่อนที่ไอโอซีจะมอบสิทธิ์ให้เฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ รับหน้าที่จัดการแข่งขันโอลิมปิกต่อไป

แม้จะจัดเจ้าภาพใหม่อย่างลงตัวแล้ว แต่สุดท้ายโอลิมปิกปี 1940 ก็ไม่ได้เกิดขึ้น เนื่องจากสงครามฤดูหนาวระหว่างฟินแลนด์และรัสเซียทำให้การแข่งขันถูกยกเลิก และโอลิมปิกปี 1944 เองก็ไม่เกิดขึ้นอีกเช่นกันเนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2


ปี 1964 เมื่อสปอร์ตไลท์ฉายลงโตเกียว
○○○○○

หลังพ่ายแพ้จากสงคราม และทันทีที่ญี่ปุ่นได้รับเอกราช รัฐบาลเมืองโตเกียวก็เดินหน้าสมัครขอจัดโอลิมปิกในปี 1960 แต่ความพยายามของพวกเขาต้องจบลง เนื่องจากความกังวลต่อสภาพร่างกายของประชาชนที่อาจจะยังไม่พร้อม เพราะเพิ่งจะผ่านพ้นภาวะสงครามมาได้ไม่นาน อีกทั้งยังมีเสียงต่อต้านในการจัดโอลิมปิกในฝั่งตะวันออก 2 ครั้งติดต่อกัน (เนื่องจากเมืองเมลเบิร์นของออสเตรเลียได้เป็นเจ้าภาพไปแล้วในปี 1956)

หลังจากแผนแรกล้มเลิกไป ต่อมาในปี 1964 โตเกียวจึงขอสมัครเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง และในการประชุมครั้งที่ 55 ของไอโอซีที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่นก็สามารถเอาชนะการโหวตอย่างถล่มทลายถึง 34-10 เสียง ชนะเมืองดีทรอยต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นชาติแรกในประวัติศาสตร์ของเอเชียที่จะได้จัดทัวร์นาเมนต์นี้อาจกล่าวได้ว่าญี่ปุ่นใช้เวลาฟื้นฟูประเทศเป็นเวลา 24 ปี และ

ในที่สุดในปี 1964 ญี่ปุ่นก็ได้กลับมาเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้ง โดยโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นที่โตเกียวครั้งนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นไปตลอดกาล ด้วยการลงทุนมหาศาลในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬามาตรฐาน 30 สนาม (ที่ยังคงอยู่และทำให้ญี่ปุ่นไม่ต้องสร้างสนามเพิ่มมากนักในอีก 56 ปีให้หลัง)


การสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และสร้างระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุม อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน รถไฟชินคันเซน สนามบินฮาเนดะ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าสมบูรณ์แบบที่สุดในโลก

“มันคือรถไฟที่เร็วที่สุดในโลก และแสดงให้โลกได้เห็นว่าญี่ปุ่นคือผู้นำทางเทคโนโลยี นอกจากชิงคันเซ็นแล้ว พวกเขายังพัฒนาเครื่องบินขนส่งของตัวเองที่ชื่อว่า YS-11 ที่ใช้ขนส่งเปลวเพลิงโอลิมปิกอีกด้วย”  Paul Droubie กล่าวในบทความ Japan’s Rebirth at the 1964 Tokyo Summer Olympics


นอกจากนี้พฤติกรรมของประชากรในญี่ปุ่นเองก็ปรับเปลี่ยนไป จนญี่ปุ่นกลายเป็นชาติที่มีระเบียบวินัยที่สุด ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ถูกนำเข้ามาใช้มากขึ้น เช่น การใช้นาฬิกาจับเวลาอย่างไซโก (Seiko) การใช้การเก็บสถิติด้วยคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการถ่ายทอดสดด้วยภาพสี และการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกผ่านดาวเทียมเป็นครั้งแรก (ซึ่งมีผลทำให้ทีวีสีขายดีอย่างเทน้ำเทท่าในช่วงนั้น)

สำหรับโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกนอกทวีปยุโรป-อเมริกาครั้งนี้ ทัพซามูไรคว้าไปถึง 16 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน และ 8 เหรียญทองแดง รั้งอันดับ 3 เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต การแข่งขันโอลิมปิกในปี 1964 นี้ จึงทำให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนมาตรฐานของตัวเองไปอยู่ในระดับสูงในทุก ๆ ด้านนอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นในหลาย ๆ ด้านแล้ว

โอลิมปิกยังเป็นเหมือนเวทีที่บอกชาวโลกว่า ญี่ปุ่นที่ล้มลงอย่างสิ้นเนื้อประดาตัวเมื่อครั้งสงครามกำลังกลับมาแล้ว ในขณะเดียวกันยังเป็นการแสดงถึงความเชื่อมั่นต่อคนในชาติว่า เรากำลังจะก้าวต่อไปข้างหน้าไปด้วยกัน ทำให้ญี่ปุ่นพลิกโฉมจากประเทศผู้พ่ายแพ้สงครามขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจได้อย่างปัจจุบัน


ปี 2020 เมื่อโควิด-19 สร้างวิกฤตทั่วโลก
○○○○○

ในปี 2020 ญี่ปุ่นก็ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้ง ทว่าคราวนี้พวกเขาต้องเจอกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังถาโถมทั่วโลก แม้ว่าการจัดโอลิมปิกครั้งนี้จะมีสงครามของโรคระบาดเข้ามาเป็นอุปสรรค แต่นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เห็นพ้องร่วมกับนายโทมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ว่า การแข่งขันกีฬาโตเกียวโอลิมปิกจะถูกจัดขึ้นในช่วงฤดูร้อนปีหน้าตามแผน แม้ว่าไวรัสโควิด-19 จะยังคงแพร่ระบาดทั่วโลกก็ตาม โดยเลื่อนไปจัดขึ้นในช่วง 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคม 2021 แทน

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว นายซูงะได้ให้คำมั่นกับนายบาคว่า ญี่ปุ่นตั้งใจจะจัดการแข่งโอลิมปิกเพื่อเป็นข้อพิสูจน์ว่า “มนุษยชาติเอาชนะโควิด-19 ได้”


“การแพร่ระบาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและคาดการณ์ไม่ได้นี้ ทำให้สถานการณ์ทั่วโลกเลวร้ายกว่าเดิม แม้แต่องค์การอนามัยโลกยังระบุว่าอัตราระบาดกำลังพุ่งสูงขึ้นอีก เมื่อคิดถึงสถานการณ์ปัจจุบัน และพิจารณาจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกแล้ว ประธานไอโอซีและนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นจึงได้ข้อสรุปว่าโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงโตเกียวจะต้องเลื่อนไปเกินกว่าปี 2020 เพื่อปกป้องสุขภาพของทุกคน”  ทางโตเกียว 2020 ออกแถลงการณ์ และยืนยันจะใช้ชื่อเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนชื่อเป็น โตเกียว 2021 แต่อย่างใด

เมื่อสงครามระหว่างโรคระบาดและมนุษยชาติกำลังต่อสู้กัน สิ่งที่เราทำได้คือ การร่วมมือเพื่อป้องกัน และการพัฒนาวิธีการจัดการกับโรคระบาด เพื่อให้เราก้าวผ่านเหตุการณ์เลวร้ายนี้ไปด้วยกัน พร้อมนับถอยหลังสู่การแข่งขันโอลิมปิกที่หลายคนต่างเฝ้ารอได้อย่างสบายใจ…


อ้างอิง

  • ญี่ปุ่นกับการสละสิทธิ์เจ้าภาพโอลิมปิก 1940. https://stadiumth.com/columns
  • โอลิมปิก 1964 : มหกรรมกีฬาครั้งเดียว ที่เปลี่ยนประเทศญี่ปุ่นไปตลอดกาล. www.mainstand.co.th
  • “สงคราม-โควิด-19” 2 อุปสรรค 2 ช่วงเวลาที่พราก โอลิมปิก จากญี่ปุ่น. www.khaosod.co.th/sports
  • TOKYO 1964 – JAPAN SHOWCASES REBIRTH AND RESILIENCE. www.olympic.org/news



เรื่องโดย