Kind Global

สกอตแลนด์ผ่านร่างกฎหมายแก้ไข “ความยากจนช่วงมีประจำเดือน” แจกผ้าอนามัยฟรีแก่ผู้หญิงทุกคนในประเทศ

มาตรการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อยุติ  “ความยากจนช่วงมีประจำเดือน”  (Period Poverty)  หรือสถานการณ์ที่เด็กสาวในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร มีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อผ้าอนามัยในช่วงมีประจำเดือน

รัฐสภาสกอตแลนด์ผ่านร่างกฎหมายให้ผู้หญิงสามารถใช้ผ้าอนามัยได้ฟรี หลังจากผ่านการอนุมัติเมื่อวันอังคาร (24 พฤศจิกายน  ค.ศ.  2020) ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้สกอตแลนด์กลายเป็นประเทศแรกของโลก ที่ผู้หญิงทุกคนในประเทศไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อผ้าอนามัย

มาตรการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อยุติ  “ความยากจนช่วงมีประจำเดือน”  (Period Poverty)  หรือสถานการณ์ที่เด็กสาวในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร มีเงินไม่เพียงพอที่จะซื้อผ้าอนามัยในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งหลังจากที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านร่างอนุมัติ นิโคลา สเตอร์เจียน (Nicola Sturgeon) มุขมนตรีแห่งสกอตแลนด์ได้โพสต์ข้อความผ่านทาง  Twitter  ว่า  “ดิฉันภาคภูมิใจที่ได้โหวตสนับสนุนร่างกฎหมายที่ก้าวล้ำฉบับนี้เป็นอย่างมาก”  ซึ่งเธอได้กล่าวยกย่องกฎหมายฉบับนี้เพิ่มเติมว่าเป็น  “นโยบายที่สำคัญสำหรับผู้หญิงและเด็กสาว”  อย่างแท้จริง 

โดยร่างกฎหมายผลิตภัณฑ์ฟรีสำหรับผู้มีประจำเดือน ได้รับการโหวตความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียง 112  เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่มีผู้ใดโหวตค้านเลยแม้แต่คนเดียว แม้ว่าในช่วงเสนอร่างกฎหมาย รัฐบาลสกอตแลนด์มองว่า จะมีอุปสรรคเล็กน้อยในการผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวก็ตาม เนื่องจากหากร่างกฎหมายมีการประกาศใช้จริง รัฐบาลจะต้องใช้เงิน  31  ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี หรือประมาณ  900 ล้านบาท สำหรับอุดหนุนในส่วนนี้

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.  2018  สกอตแลนด์ได้สร้างหน้าประวัติศาสตร์ของตัวเองขึ้นมาอีกครั้ง โดยการแจกผ้าอนามัยฟรีตามพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย ร้านขายยา ศูนย์เยาวชน ฯลฯ ผ่านโครงการของรัฐบาล ต่อมาประเทศในเครือสหราชอาณาจักรอย่าง เวลส์และอังกฤษจึงได้จัดโครงการที่ใกล้เคียงกัน โดยเริ่มแจกผ้าอนามัยฟรีที่โรงเรียนเป็นหลัก


กฎหมายใหม่ของสกอตแลนด์เกิดขึ้นหลังจากได้รับข้อเรียกร้องว่า ผ้าอนามัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิง และไม่ควรถูกเก็บภาษีในอัตราเดียวกับสินค้าฟุ่มเฟือย  จากข้อเรียกร้องดังกล่าว ทำให้รัฐบาลสกอตแลนด์ส่งเรื่องเข้าที่ประชุม แม้จะใช้ระยะเวลานานในการดำเนินการ แต่ในวันอังคาร (24  พฤศจิกายน ค.ศ.  2020) กฎหมายผลิตภัณฑ์ฟรีสำหรับผู้มีประจำเดือน ก็ได้รับความเห็นชอบอย่างท่วมท้น

เนื่องจากรัฐบาลมองว่า การเข้าถึงผ้าอนามัย ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่ว่าผ้าอนามัยชนิดนั้นจะเป็นแบบสอดหรือแบบแผ่นก็ตาม รัฐบาลจึงได้จัดวางสถานที่สำหรับแจกผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย อาคารสาธารณะอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน

โมนิกา เลนนอน (Monica Lennon) ผู้ผลักดันกฎหมาย ได้ออกมาขอบคุณกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ กลุ่มเนตรนารีแห่งสกอตแลนด์ที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งเธอได้กล่าวเสริมว่า ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลมาจากความพยายาม และความร่วมมือกันระหว่างประชาชนและภาครัฐ

“เราได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า รัฐสภาแห่งนี้ สามารถเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ถูกต้อง หากเราทุกคนร่วมมือกัน โดยรางวัลของเราคือ  ‘โอกาส’  ที่จะยุติความยากจนช่วงมีประจำเดือน เราจะเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ พลิกฟื้นหน้าประวัติศาสตร์ที่มืดมน ให้ก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์ และนำความหวังมาสู่โลกใบนี้ได้อีกครั้ง” เธอกล่าวผ่านการปราศรัยในที่ประชุมเมื่อวันอังคารที่  24  พฤศจิกายน ค.ศ.  2020

ไอลีน แคมป์เบล (Aileen Campbell) เลขาธิการคณะรัฐมนตรีของชุมชนและรัฐบาลท้องถิ่น ได้กล่าวชื่นชมกฎหมายฉบับใหม่นี้ว่า  “กฎหมายฉบับใหม่นี้ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เราอยากให้สกอตแลนด์เป็นแบบไหน ซึ่งนี่คือคำตอบ นี่คือสกอตแลนด์ที่เราอยากจะเห็น และอยากจะเป็น”



ผ้าอนามัยควรเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนสมควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสิ่งนี้คือ  ‘สิ่งจำเป็น’  และจะต้องไม่ลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คนในสังคม



เธอกล่าวเสริมว่า  “ชัดเจนว่าทุกคนในที่ประชุมนี้ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่ควรมีใครแม้แต่คนเดียวในสังคม ที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับความขุ่นเคือง จากการที่รัฐบาลไม่มีนโยบายใด ๆ มาตอบสนองสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขา ขณะที่ผ้าอนามัยควรเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนสมควรได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสิ่งนี้คือ  ‘สิ่งจำเป็น’  และจะต้องไม่ลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้คนในสังคม”

นอกจากปัญหาเรื่องผ้าอนามัยที่มีราคาแพงแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการนำร่างกฎหมายฉบับนี้มาพิจารณาคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19  จากรายงานของ Plan International UK องค์กรสิทธิเด็กระดับโลกที่ไม่แสวงหาผลกำไรแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิง 1 ใน 3 ที่มีอายุระหว่าง 14 ถึง 21 ปีประสบปัญหาการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยในช่วงการปิดประเทศ อีกทั้งได้เผยว่า เกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ของเด็กผู้หญิงในสหราชอาณาจักร ไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ และ 19 เปอร์เซ็นต์ หันไปใช้สิ่งทดแทน เช่น ผ้าขี้ริ้ว หนังสือพิมพ์ และกระดาษชำระ เนื่องจากผ้าอนามัยในประเทศมีราคาสูงเกินไป

ที่ผ่านมาสกอตแลนด์ให้ความสำคัญเรื่องสุขอนามัยของผู้หญิงอย่างมาก โดย โมนิกา เลนนอน ได้กล่าวปิดท้ายว่า  “เมื่อประชาชนทุกคนภายในประเทศของเรา สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์สุขอนามัยได้อย่างเท่าเทียมกันแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่เราจะเร่งดำเนินการคือ เราจะหยิบยกประเด็นสุขอนามัยของผู้หญิงขึ้นมาเป็นหลักสำคัญทางการเมือง และเราพร้อมจะยุติความอัปยศทั้งหมดที่ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ต้องเผชิญมาทั้งชีวิต”


ที่มา

  • Tackling ‘Period Poverty,’ Scotland Is 1st Nation to Make Sanitary Products Free. www.nytimes.com
  • Scotland Set to Be First Country to Provide Free Pads and Tampons. www.nytimes.com
  • Scotland to make tampons and pads free to end ‘period poverty’. nypost.com

เรื่องโดย