Kind Global

คนข้ามเพศในรัสเซีย: พลเมืองชั้นสองที่ถูกเลือกปฏิบัติ กับการเตรียมอนุมัติกฎหมาย “ห้าม” เปลี่ยนเพศอย่างเป็นทางการ


ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังรณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศอย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันจนนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายบางส่วนเพื่อสร้างความเท่าเทียมอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นในสังคม แต่กฎหมายใหม่ของรัสเซียกลับกำลังประกาศกร้าวกลางวงว่า “ห้าม” เปลี่ยนเพศสภาพเดิมของตนโดยเด็ดขาด!

ทำให้ชีวิตของชาว LGBT ในรัสเซียต้องตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอีกครั้ง หลังจากที่ครั้งหนึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า “ตราบใดที่ผมยังเป็นประธานาธิบดี สังคมเราจะมีเพียงแค่ ‘พ่อ’ และ ‘แม่’ เท่านั้น” ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติของรัสเซียเองก็ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ครอบครัว” หมายถึงการรวมตัวของชายและหญิง เพื่อปกป้องวัฒนธรรมครอบครัวแบบดั้งเดิมเอาไว้ โดยมีรัฐธรรมนูญเข้ามาช่วยโอบอุ้มค่านิยมดังกล่าว

       
กฎหมายฉบับนี้จะได้รับการพิจารณาในสภาดูมา (The State Duma) หรือผู้แทนราษฎรของรัสเซียในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ โดยใช้ชื่อกฎหมายว่า มิซูลินา (Mizulina’s Law) ตามชื่อของนักการเมืองหญิงเยเลน่า มิซูลินา (Yelena Mizulina) ผู้เป็นหัวหอกในการออกกฎหมายต่อต้านการแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเพศทางเลือกหรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Gay propaganda law’ ในปี ค.ศ. 2013

เมื่อเออร์ม่า เวลเลอร์ (Irma Veller) หญิงข้ามเพศวัย 44 ปี ทราบเกี่ยวกับร่างกฎหมายใหม่ที่รัฐบาลกำลังพิจารณา เรื่องการห้ามไม่ให้คนข้ามเพศเปลี่ยนแปลงเพศที่ปรากฎอยู่ในใบสูติบัตร การตัดสินใจออกจากประเทศบ้านเกิดเมืองนอนจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

“หากฉันต้องอยู่ในประเทศนี้ ชีวิตต่อจากนี้ของฉันคงไม่มีความหมายอีกต่อไป” เวลเลอร์บอกกับ The Moscow Times ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเธอได้ยื่นหนังสือขอลี้ภัยทางการเมืองเป็นที่เรียบร้อย

       
“ในประเทศที่บอกว่าคนข้ามเพศคือคนป่วยทางจิต และยังออกกฎหมายห้ามแม้กระทั่งการขับรถ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติมาเป็นเวลานาน ซึ่งหากการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายครอบครัวของรัสเซียเรื่อง ‘การเสริมสร้างสถาบันครอบครัว’ ผ่านการพิจารณาจะทำให้ชีวิตของพวกเขาลำบากขึ้นเป็นแน่” นักเคลื่อนไหวและกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนกล่าว

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มิซูลินาประสบความสำเร็จอย่างมากในการผลักดันกฎหมาย “ต่อต้านการแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเพศทางเลือก” รวมถึงพยายามผลักดันเรื่องการลดทอนความรุนแรงในครอบครัว และความพยายามครั้งล่าสุดของเธอคือการสร้างบรรทัดฐานของคำว่า “ครอบครัว” โดยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม คือ ห้ามคู่รักเพศเดียวกันแต่งงาน รวมทั้งห้ามรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยง ซึ่งการผลักดันครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วันหลังจากที่รัสเซียเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยรวมถึงมาตราที่กำหนดการแต่งงานของคู่รักต่างเพศ อันเป็นรสนิยมทางเพศที่ถูกยกให้เป็นบรรทัดฐานของสังคม

       
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้กระชับวงล้อมชาว LGBT และบุคคลข้ามเพศขึ้นไปอีกขั้นด้วยการ “จำกัด” ไม่ให้คนข้ามเพศเปลี่ยนเพศสภาพของตนอย่างเป็นทางการ ทำให้นักสิทธิมนุษยชนออกมาเรียกร้องว่า ฝ่ายนิติบัญญัติกำลังนำกฎหมายมาบีบบังคับไม่ให้กลุ่มคนเพศทางเลือกสามารถแต่งงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพียงเพราะเพศสภาพของพวกเขาที่ถูกระบุอยู่ในใบสูติบัตรเท่านั้น

“ฉันคิดคำอธิบายอื่นไม่ออกเลย” ทาเทียน่า กลุชโควา (Tatiana Glushkova) ทนายความโครงการคุ้มครองทางกฎหมายแก่คนข้ามเพศกล่าวถึงกรณี ร่างกฏหมายห้ามคนข้ามเพศเปลี่ยนแปลงเพศสภาพแต่กำเนิดของตน “เจ้าหน้าที่คิดไปเองว่าผู้คนจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลในใบสูติบัตรที่ระบุเพศแต่กำเนิดเพื่อที่จะได้แต่งงานกับเพศเดียวกัน”

“การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็เปรียบเสมือนของหวานสำหรับฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายอำนาจของปูตินที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนเขา โดยในเวลานี้ก็ได้ดำรงตำแหน่งล่วงเลยมาถึงทศวรรษที่สามเข้าไปแล้ว และการสร้าง ‘คุณค่าของครอบครัวแบบดั้งเดิม’ จะเป็นการเสริมฐานอำนาจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในการดำรงตำแหน่งที่ยาวนานขึ้นของปูติน”


แต่ถ้าหากการเคลื่อนไหวดังกล่าวของฝ่ายนิติบัญญัติเป็นกลอุบายในการออกมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งกลุ่มคนข้ามเพศในรัสเซียก็เปรียบเสมือนกับกล่องแพนโดร่า ที่ไม่รู้ว่าหากรัฐบาลตัดสินใจเปิดกล่องใบนี้ออกมา นอกจากการออกกฎหมายจำกัดการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพในอนาคตแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงข้อต่อมาคือ คนข้ามเพศที่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศของตนในเอกสารใบเก่าแล้ว จะต้องส่งคืนใบสูติบัตรกลับไปที่สำนักงานทะเบียนราษฎร์เพื่อแก้ไขข้อมูลกลับไปเป็นเอกสารต้นฉบับดังเดิม

      
นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2018 กระทรวงสาธารณสุขของรัสเซียได้ยกระดับมาตรฐานของการขอเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศสภาพแต่กำเนิดของตน ซึ่งจะได้รับการพิจารณาเป็นรายกรณี โดยบุคคลนั้นจะต้องเข้ารับการตรวจทางจิตเวช ต่อมาจะต้องเดินทางไปที่สำนักงานทะเบียนราษฎร์ในพื้นที่ของตน เพื่อทำการขอเปลี่ยนแปลงข้อมูล ซึ่งไม่ใช่ทุกสำนักงานจะพร้อมเปลี่ยนแปลงข้อมูลในใบสูติบัตรของบุคคลดังกล่าวโดยทันที บางครั้งอาจต้องได้การอนุมัติจากศาลเสียก่อน

ขณะที่ Glushkova ทนายความโครงการคุ้มครองทางกฎหมายแก่คนข้ามเพศกล่าวว่า “ในช่วงก่อนเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2018 คนข้ามเพศสามารถขออนุญาตจากศาลในการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพแต่กำเนิดของตนเองได้ แต่หากร่างกฎหมายของมิซูลินาผ่านการรับรองจะทำให้เพศที่ถูกระบุในสูติบัตรฉบับใหม่ในช่วงปีนั้นถือว่าเป็นโมฆะ และบุคคลนั้นจะต้องทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูลกลับไปเป็นต้นฉบับภายในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2022”

“การออกร่างกฎหมายดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติไม่เข้าใจกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเรื่องเพศในรัสเซียด้วยซ้ำ ซึ่งการแก้ไขเหล่านี้ไม่ควรได้รับการยอมรับเพียงเพราะเป็นเหตุผลทางเทคนิค แต่ยังหมายรวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย” Glushkova กล่าว

       
ด้านกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า “ร่างกฎหมายที่เสนอไปนั้นเต็มไปด้วยข้อบกพร่องทางกฎหมายที่มีแนวโน้มจะทำให้คนข้ามเพศรู้สึกถึงความไม่แน่นอนในชีวิตด้านต่าง ๆ ของพวกเขา”

อีวา สไตเนอร์ (Eva Shteiner) ชายข้ามเพศวัย 40 ปี กล่าวถึงการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีความชัดเจน โดยเขาไม่รู้ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีผลย้อนหลังมาถึงการแต่งงานของเขากับภรรยาในปี ค.ศ. 2001 หรือไม่

แม้ว่าเพศสภาพแต่กำเนิดของเขาจะถูกระบุว่าเป็นผู้หญิง แต่ตัวเขาเองก็เชื่อมาโดยตลอดว่าเขาคือผู้ชายคนหนึ่ง ดังนั้นในปี ค.ศ. 2013 จึงได้ทำการแก้ไขข้อมูลในเอกสารให้ตรงกับเพศปัจจุบันของตน และหากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาเอกสารดังกล่าวจะต้องถูกส่งกลับไปแก้ไขให้ตรงตามต้นฉบับอีกครั้ง ซึ่งในตอนนี้เขาและภรรยาก็ได้มีบุตรบุญธรรมอยู่ในความอุปถัมภ์ด้วยกันอีก 4 คน

ขณะที่กฎหมายของรัสเซียเองก็ไม่ได้ให้การยอมรับการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันแต่อย่างใด แต่คู่รักบางคู่ก็อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายไปแต่งงานที่ต่างประเทศ ซึ่งหากร่างกฎหมายมิซูลินาผ่านการรับรอง ช่องโหว่ทางกฎหมายนี้ก็จะถูกปิดตายลงอย่างถาวร

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะไม่มีกฎหมายมาตราใดระบุอย่างชัดเจนว่าห้ามคู่รักเพศเดียวกันรับอุปการะบุตรบุญธรรม ซึ่งหากร่างกฎหมายมิซูลินาผ่านการพิจารณาจะทำให้บุตรบุญธรรมที่อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของคู่รักเพศเดียวกันถือว่าเป็นการกระทำความผิดโดยประมาททางอาญาภายใต้กฎหมาย Gay propaganda ซึ่งตอนนี้มีความเป็นไปได้ว่าบุตรบุญธรรมที่คู่รักเพศเดียวกันรับอุปการะจะถูกระงับสิทธิดังกล่าว รวมถึงครอบครัวสไตเนอร์ด้วยเช่นกัน

       
เยคาเตรีนา เมสโซรอส (Yekaterina Messorosh) นักรณรงค์เคลื่อนไหวข้ามเพศของกลุ่มสิทธิบุคคลข้ามเพศ T-Action ในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กกล่าว “มีคนโทรไปยังสายด่วนให้คำปรึกษาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมาย”

“จุดประสงค์ของกฎหมายนี้คือ การออกมาป่าวประกาศตัวตนของชาว LGBT ให้คนภายนอกรับรู้และทำให้คนข้ามเพศรู้สึกแปลกแยกจากคนในสังคม และอาจทำให้เราถูกเลือกปฏิบัติไม่ต่างอะไรกับพลเมืองชั้นสอง” เธอกล่าว


แม้ว่าร่างกฎหมายนี้จะยังไม่ได้รับการอนุมัติ อีกทั้งยังต้องผ่านการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาดูมาอีก 3 วาระ จากนั้นสภาสูงหรือสภาสหพันธรัฐจะเป็นผู้ทำการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ และขั้นตอนสุดท้ายคือ การเสนอร่างกฎหมายต่อประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เพื่อเซ็นรับรอง แล้วจึงประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป แต่อลัน เลออนการ์ด (Alan Leongard)
ชาวมอสโกแต่กำเนิด วัย 25 ปี กำลังเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด นั่นคือการประกาศใช้กฎหมายมิซูลินา

“หากรัฐบาลจำกัดสิทธิของคนข้ามเพศ คนในประเทศก็จะเห็นดีเห็นงามในการเลือกปฏิบัติต่อพวกเขา และสิ่งที่ทำให้ผมโกรธสุด ๆ คือ ผมเองก็จ่ายภาษีเหมือนกับคนอื่น ๆ แต่กลับไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมในฐานะพลเมืองของประเทศคนหนึ่ง” เขากล่าว


ที่มา


เรื่องโดย