จากการการระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งส่งผล กระทบทั่วโลกโดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจที่เรียกได้ว่า “อ่วม” ระดับ global scale แต่อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนและรุนแรง คือ การท่องเที่ยว ซึ่งปกติก็เป็นอุตสาหกรรรมที่อ่อนไหวต่อ ภาวการณ์ต่าง ๆ มากที่สุดอยู่แล้ว
มาตรการปิดประเทศและยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศถูกนำมาใช้เพื่อสกัดกั้นการระบาดของโรค ทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงักโดยสิ้นเชิง หลายโรงแรมรีสอร์ททั่วโลกทั้งแบรนด์ใหญ่ แบรนด์เล็ก หรือแบรนด์ท้องถิ่นต้องหยุดดำเนินกิจการอย่างไม่มีกำหนด และมีการใช้มาตรการ Leave Without Pay (ให้หยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้าง) จึงทำให้แรงงานไม่มีรายได้ และไม่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้เหมือนเดิม ซึ่งเป็นผลพวงทำให้วงจรเศรษฐกิจภายในประเทศบอบช้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ขับเคลื่อนโดยการท่องเที่ยวเป็นหัวใจหลัก
ด้วยเหตุนี้ “Travel Bubble/ ทราเวล บับเบิ้ล” จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นทางออกที่ช่วยพลิกฟื้นการท่องเที่ยวระหว่างประเทศให้ค่อย ๆกลับมาดี เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ “Travel Bubble/ ทราเวล บับเบิ้ล” ซึ่งเป็นศัพท์บัญญัติใหม่ในช่วงโควิด-19 และเป็นมาตรฐานใหม่ในยุค New Normal ว่าจะช่วยพวกเราได้อย่างไรและมีระเบียบวิธีจัดการร่วมกันอย่างไร
Travel Bubble คืออะไร?
“Travel Bubble/ ทราเวล บับเบิ้ล” คือการรวมกลุ่มระหว่างสองประเทศเพื่อสร้างข้อตกลงให้มีการเดินทางไปมาหาสู่กัน โดยไม่ต้องมีการกักตัว 14 วัน แต่ผู้เดินทางยังคงต้องอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันโรคระบาดอย่างเข้มงวด (แต่หากเป็นผู้เดินทางสัญชาติอื่นที่ไม่อยู่ในการตกลงของ Travel Bubble ก็ต้องถูกกักตัวตามปกติ)
ทั้งนี้ Travel Bubble จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศคู่ตกลงนั้นมีอัตราผู้ติดเชื้อเท่ากับศูนย์หรือมีจำนวนผู้ติดเชื้อใกล้เคียงกัน มีความสามารถในการจัดการ Covid-19 ดีพอกัน ภายใต้ความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน โดยการเดินทางภายใน Bubble ที่ตกลงกันนั้นยังคงจำเป็นต้องมีการตรวจหาเชื้อและป้องกันอย่างเข้มงวดก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทาง (Test on Departure) และตรวจอีกครั้งเมื่อเดินทางเข้าสู่ประเทศปลายทาง (Test on Arrival)
ประเทศไหนบ้างที่จะทำ Travel Bubble
ประเทศนำร่องคู่แรกที่ถือเป็นต้นแบบของโมเดล Travel Bubble คือ “นิวซีแลนด์” และ “ออสเตรเลีย” ซึ่งบรรลุข้อตกลงชื่อว่า “Tran-Tasman Travel Bubble” ทั้งสองประเทศยินยอมให้มีการเดินทางระหว่างกันโดยไม่ต้องมีการกักตัว แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการตรวจที่เข้มงวด ณ สนามบินของแต่ละประเทศ
นอกจากนี้ยังมีประเทศที่จะทำ Travel Bubble เพิ่มอีก ได้แก่ จีน (บางเมือง), สิงคโปร์, กรีซ/ ไซปรัส, อิสราเอล, จอร์เจีย กลุ่มประเทศแถบทะเลบอลติกอย่างเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย
แนวทาง Travel Bubble ของไทยเป็นอย่างไร
สำหรับประเทศไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 ได้เห็นชอบในหลักการและเสนอทางรัฐบาลเพื่อการพิจารณาแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงศึกษารายละเอียด โดยเบื้องต้นประเทศไทยได้แบ่ง Travel Bubble ออกเป็น 3 เฟส ดังนี้
เฟส 1 : Medical and Wellness Program
ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2563 เป็นต้นไทย จะเปิดให้มีการเดินทางเข้าประเทศในรูปแบบ Medical and Wellness Program โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นลูกค้าของโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่มีชื่อเสียงที่เข้ามาใช้บริการรักษาเฉพาะด้าน เช่น ศัลยกรรมความงาม หรือการรักษาภาวะมีบุตรยาก โดยเมื่อการรักษาทางแพทย์สิ้นสุดแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้จะต้องถูกกักตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งเรียกว่า Alternative Hospital Quarantine หรือ สถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก ทั้งนี้มีโรงพยาบาลและคลินิกที่สมัครเป็น Alternative Hospital Quarantine แล้ว 62 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ก.ค. 2563)
เงื่อนไขของผู้เดินทาง : จะต้องผ่านการตรวจร่างกาย และทำเรื่องขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศกับกระทรวงการต่างประเทศ โดยระบุวัตถุประสงค์การเดินทาง และมีการนัดหมายกับทางโรงพยาบาลในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ผู้เดินทางจะได้รับ COE หรือ Certificated of Entry ซึ่งออกโดยสถานทูตประกอบการเดินทาง และจะต้องเดินทางโดยเครื่องบินเท่านั้น ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งยอดผู้ลงทะเบียน Medical and Wellness Program ที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในเดือนกรกฎาคมนี้รวม 1,700 คน จาก 17 ประเทศ
เฟส 2 : การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพต่อยอดจากเฟส 1
หากเฟส 1 ผ่านไปได้ด้วยดี ก็จะเริ่มดำเนินการ “เฟส 2″ในวันที่ 1 ส.ค. 63 ผ่านโปรแกรมที่เรียกว่า “การท่องเที่ยวสุขภาพดีวิถีใหม่” ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่ขยายต่อยอดจาก Medical and Wellness Program สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางมารักษาพยาบาลและท่องเที่ยวควบคู่กัน โดยเมื่อได้รับบริการทางการแพทย์และกักตัวครบ 14 วันแล้ว สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั่วประเทศไทย (ข้อมูลเกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการท่องเที่ยวหลังกักตัวครบ 14 วัน รอประกาศเพิ่มเติม)
เฟส 3 : Travel Bubble
และท้ายสุดหากเฟส 1 และ เฟส 2 ผ่านไปอย่างราบรื่น เฟสสุดท้าย คือ Travel Bubble (ทราเวล บับเบิ้ล) จะเริ่มในวันที่ 1 ก.ย. 2563 โดยมีแนวทางปฏิบัติสำหรับมาตรการ Travel Bubble ของไทยซึ่งสรุปได้เบื้องต้นดังนี้
- ผู้เดินทางจะต้องมีการซื้อประกันสุขภาพ มีใบรับรองแพทย์รับรอง Fit to Fly ต้องซื้อประกันสุขภาพที่รับรอง COVID-19 เพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลหากเกิดการติดเชื้อและต้องเข้ารักษาตัวระหว่างอยู่ในประเทศไทย
- เมื่อเดินทางมาถึงแล้วจะไม่มีการกักตัว แต่จะต้องอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้สำหรับการท่องเที่ยว (Safe Zone for Tourism) เท่านั้น
- มีระบบการติดตามตัว (Track & Trace) ผ่าน Application มือถือที่จัดเตรียมไว้ ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทย
- ผู้เดินทางต้องเข้า-ออกตามระยะเวลาที่แจ้งไว้อย่างเคร่งครัด
- วางมาตรการ Safe Hospitality Services ในห่วงโซ่อุปทาน เช่น แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ต้องได้รับมาตรฐาน Safety
- เมื่อดำเนินการสักระยะหนึ่งและสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดี จึงจะพิจารณา ให้นักท่องเที่ยวทั่วไปที่เดินทางมาเป็นคณะเข้ามาโดยเป็นกลุ่มขนาดเล็ก หลังจากนั้นจึงจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ (Free Individual Traveler – FIT)
- ทั้งนี้จำเป็นต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมจากทางภาครัฐต่อไป
ที่มา
- เปิดโผ Travel Bubble ไทยจะทำร่วมกับใคร. www.wonderfulpackage.com
- กรุงเทพธุรกิจ. ‘Travel Bubble’ คืออะไร? ไทย เตรียมปลดล็อคให้ไปที่ไหนบ้าง!?. www.bangkokbiznews.com
- Bangkok Post. List of travel bubbles ‘still in the works’. www.bangkokpost.com