Kindvironment

ขยะ – วัด – พระ – ชุมชน – คนเมือง : เมื่อวิถีของธรรมะคือเรื่องเดียวกับสิ่งแวดล้อม


วัดนี้ขยะเยอะมาก! แต่ไม่ใช่ขยะที่สร้างความเสียหายหรือไร้ประโยชน์ ทว่าเป็นขยะที่คนในวัด คนในชุมชนโดยรอบ และคนต่างพื้นที่พร้อมใจกันนำมาบริจาคให้กับวัด ว่าแต่พวกเขานำขยะมาบริจาคกันที่วัดทำไม!? 

วันนี้ KiNd จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “วัดจากแดง” แห่งเมืองพระประแดง ซึ่งเรามีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์เจ้าอาวาส “พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร” พระนักพัฒนายุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง “ธรรมะ” และเรื่องของ “สิ่งแวดล้อม” ไปพร้อม ๆ กัน


“ทางวัดเป็นสำนักเรียน หลัก ๆ ของวัด คือเรื่องการศึกษาพระธรรม พระวินัย แต่เรื่อง ‘สิ่งแวดล้อม’ เนี่ย ในเมื่อการศึกษาดีแล้ว เราจะปล่อยให้สิ่งแวดล้อมมันเสียหรือ ตามวินัยก็ต้องเป็นอาบัติ ในพระวินัยพูดถึงสิ่งแวดล้อมอย่างไร และทางโลกพูดถึงอย่างไร ดังนั้นพอเรียนเสร็จก็เอาวินัยมาใช้ เพราะฉะนั้นการทำสิ่งแวดล้อมให้ดีก็คือ การเอาพระวินัย เอาทฤษฎีมาสู่การลงมือปฏิบัติ เรียนด้วยนำเอามาใช้ด้วย เช้ากวาดวัด ตกเย็นกวาดอีกรอบหนึ่ง แล้วขยะที่มีทั้งหมด คือเคลียร์วันต่อวัน วันศุกร์เช้าเป็นวิชาการ บ่ายเป็นปฏิบัติการ” พระมหาประนอม กล่าว


เมื่อสิ่งแวดล้อมกับธรรมะเวียนมาบรรจบ

“หลายคนมองว่าสิ่งแวดล้อมกับธรรมะเป็นคนละเรื่อง แต่จริง ๆ แล้วคือเรื่องเดียวกัน – พระมหาประนอม

จุดเริ่มต้นของการนำสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมะ เกิดขึ้นเพราะทางวัดประสบกับ “ปัญหาขยะ” บริเวณวัดเต็มไปด้วยขยะที่ส่งกลิ่น ทำให้ผู้คนในชุมชนต่างคนต่างโทษกันและทะเลาะกันเรื่องต้นเหตุขยะ แต่ไม่มีใครคิดจะหาทางออก ปัญหาเรื่องขยะจึงกลายเป็นแรงผลักดันให้พระมหาประนอมคิดหาทางออก โดยเริ่มลงมือทำโครงการแยกขยะ และโครงการนำขยะไปรีไซเคิลขึ้นมา


โดยเริ่มต้นจากการแยกขยะตามประเภท เช่น อาหารอินทรีย์ พลาสติก แก้ว จากนั้นจึงนำไปรีไซเคิลเพื่อให้ขยะเหล่านั้นสามารถนำกลับมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการนำขยะอาหารไปทำเป็นปุ๋ย นำขยะพลาสติกไปทำเป็นจีวร ผ้าบังสุกุล และเสื้อผ้าให้ชาวบ้าน รวมถึงการนำแก้วไปทำเป็นพระพุทธรูปและที่กรองน้ำ เป็นต้น

เมื่อบริบทด้าน “สิ่งแวดล้อม” เข้ามามีบทบาทสำคัญกับเรื่องของ “ธรรมะ” การเข้าถึงเรื่องการแยกขยะของชุมชนจึงไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป หากทุกคนร่วมใจกันเรียนรู้

เมื่อ “วัด” กับ “การแยกขยะ” กลายเป็นวิถีเดียวกันไปโดยปริยาย แสดงให้เห็นว่าวัดเป็นตัวอย่างของการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี


ปัจจุบันทางวัดฯ มีศูนย์คัดแยกขยะที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของชุมชนโดยรอบ และกลายเป็นพื้นที่ที่ให้ผู้คนทั่วประเทศสามารถนำขยะมาบริจาคได้ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดให้สามารถใช้งานได้อย่างสูงสุด ทั้งยังเป็นการลดปริมาณขยะในเมืองอีกด้วย และเมื่อ “วัด” กับ “การแยกขยะ” กลายเป็นวิถีเดียวกันไปโดยปริยาย แสดงให้เห็นว่าวัดเป็นตัวอย่างของการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี นั่นทำให้คนในชุมชนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และตระหนักถึงปัญหาขยะที่กำลังส่งผลกระทบต่อสังคม และโลก โดยพระมหาประนอม ให้สัมภาษณ์ว่า

“การแยกขยะตามพระวินัยก็คือ การทำความสะอาด ถ้าพระอยู่วัดไม่กวาดลานวัดปรับอาบัติทุกคน ถ้าเข้าห้องน้ำไม่ทำความสะอาด ถ้าไปไหว้พระไม่ทำความสะอาดก็อาบัติ การทำความสะอาดก็เพื่อไม่ต้องอาบัติ ไม่ต้องโทษตามวินัยของพระ แต่พอศึกษาดู ถ้าเราปฏิบัติล่ะ นอกจากอาบัติไม่มี วัดสมบูรณ์ ตามพระสูตรก็ได้บุญอีก เทวดารักใคร่ ได้อานิสงส์ตามพระไตรปิฏก คือเรื่องสิ่งแวดล้อมเนี่ยในพระไตรปิฎกมีเยอะเลย มีมานานแล้ว เช่น ทางธรรมปลูกต้นไม้ 1 ต้น ถือว่าได้สร้างสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ส่วนทางโลกปลูกต้นไม้ช่วยลดโลกร้อนได้ 4 องศา หรือปลูกต้นไม้ได้ปัจจัย 4”

เพราะศาสนาพุทธเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับความเชื่อของคนไทยมาอย่างยาวนาน และวัดก็ถือเป็นสถานที่พึ่งทางใจของคนทุกเพศทุกวัย รวมถึงเป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ของพระภิกษุ สามเณร และบุคคลทั่วไป การนำเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาทางธรรม และทางโลก จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปลูกฝังให้คนไทยหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากวัดจากแดงจะมีการสอนพระวินัยที่สอดคล้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับพระ และเณรแล้ว ทางวัดฯ ยังเปิดให้บุคคลทั่วไป โรงเรียน บริษัท และองค์กร สามารถเข้ามาศึกษาดูงานได้เช่นกัน


ทิ้งขยะเท่ากับฆ่าสัตว์

“ทิ้งขยะเท่ากับฆ่าสัตว์ ฆ่าตรงไหน? เราทิ้งขยะพลาสติกลงถัง ลมพัดขยะตกอยู่ข้างถัง ขยะปลิวลงแม่น้ำ จากแม่น้ำลงไปสู่ทะเล เจออีกทีในท้องปลาวาฬ ท้องพะยูน ท้องสัตว์ทะเล สัตว์ที่ลอยตายไม่ใช่อะไรเลย ทิ้งพลาสติกแล้วไปอยู่ในท้องสัตว์เหล่านั้น สิ่งแวดล้อมถ้าเราดูแล สัตว์โลกก็ยั่งยืน ปลอดภัย”

จากบทสัมภาษณ์ของพระมหาประนอมนั้น สอดคล้องกับข่าวสารที่เราเห็นกันบ่อยครั้งทางโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์คือ สัตว์ป่าและสัตว์ทะเลกำลังถูกคร่าชีวิตโดยเพชฌฆาตเงียบที่ชื่อว่า “พลาสติก” ซึ่งเกิดจากการการกระทำของมนุษย์ที่ทิ้งขยะไม่ถูกวิธี 


จากข้อมูลของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส รายงานว่า “แต่ละปีมีสัตว์ป่า ต้องปวดท้องทุรนทุรายและตายอย่างทรมาน เพราะมีพลาสติกอัดแน่นอยู่ในท้อง ขยะพลาสติกกลายเป็นอาหารใหม่ที่พวกมันไม่รู้ว่ากินแล้วตาย” ในปี พ.ศ. 2560 ขยะพลาสติกในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 ล้านตัน ขยะเหล่านี้แพร่กระจายทั้งบนบกและทะเล ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ 

หลายปีที่ผ่านมาเรามักจะเห็นภาพสัตว์กับขยะพลาสติกในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น กรณีของพะยูนมาเรียมที่พบขยะพลาสติกชิ้นเล็ก ๆ หลายชิ้นในลำไส้ของมาเรียม โดยขยะพวกนี้เข้าไปอุดตันในกระเพาะอาหาร หรือกรณีเต่าทะเลที่มักจะกินถุงพลาสติก เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นแมงกะพรุน เป็นต้น

ปัญหาเหล่านี้ อาจจะกล่าวได้ว่าต้นตอนั้นเกิดจากการที่มนุษย์ทิ้งขยะไม่ถูกวิธี ไม่มีการจัดการขยะที่ดี ทำให้ขยะพลาสติกมีจำนวนมากขึ้น ทั้งยังไม่มีการลดใช้พลาสติก รวมถึงไม่มีการนำขยะเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากเรามองในบริบทของธรรมะถือว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่ฆ่าสัตว์ทางอ้อม ถ้าเราตระหนักจะเห็นว่าสิ่งนี้ทำให้มนุษย์มีศีลไม่บริบูรณ์ ดังนั้นถ้าเราหยุดทิ้งขยะ = คืนชีวิตให้สัตว์ป่า


การแยกขยะได้อะไรมากกว่าที่คิด

“จริง ๆ แล้วแยกแล้วได้อะไร ถ้าเด็กรุ่นใหม่แยกนะได้ทุกอย่างเลย สุขภาพก็ได้ ได้เรียนรู้ เมื่อก่อนถ้าไม่แยกปุ๊บขยะคือขยะ แต่พอแยกปุ๊บก็ได้เรียนรู้เรื่อง ‘ขยะวิทยา’ ความรู้เรื่องขยะ เศษอาหารไปทำปุ๋ย ทำแก๊สได้ ถ้าไปทิ้งฝังกลบก็ทำให้เกิดก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศ ทำลายบรรยากาศ ได้เรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ได้เรียนรู้เรื่องฟิสิกส์ เรื่องสุขอนามัย ได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจจากขยะ” 

แยกขยะแล้วได้อะไร? หลายคนมองไม่เห็นถึงประโยชน์ของการแยกขยะ เพราะมองว่าขยะคือขยะ ซึ่งไม่มีคุณค่าและมูลค่าที่ต้องให้ความสำคัญ แต่แท้จริงแล้ว “การแยกขยะมีประโยชน์” หลายประการ สิ่งแรกที่เราจะได้เลยคือ เรื่องความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นความสะอาดของตัวเอง ความสะอาดของพื้นที่ที่อยู่อาศัย ขยายวงกว้างไปสู่พื้นที่ในชุมชน และสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพที่ดีอีกด้วย นอกจากนี้การแยกขยะยังให้ความรู้ในหลากหลายมิติ เช่น ความรู้ทางเกษตรกรรมคือ การนำขยะอินทรีย์มาทำปุ๋ย ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์คือ การนำขยะมารีไซเคิลเป็นสิ่งของอื่น อย่างจีวร หรือเสื้อผ้า หรือความรู้เรื่องเศรษฐกิจ เพราะขยะสามารถนำมาพัฒนาต่อยอด เพื่อสร้างรายได้ได้เช่นกัน ตามที่พระมหาประนอม กล่าวไว้ว่า

“เพราะฉะนั้นขยะไม่ใช่ขยะอีกต่อไป มันคือ ‘สมบัติ’ คือเอาเป็นเงินเป็นทองก็ได้ ถ้าทำด้วยจิตอาสา วิมานบนสวรรค์เกิดรอ มากกว่านั้นคือการได้เคลียร์ ‘ขยะสมอง’ ขี้โมโหคือโทสะ ขี้งกคือโลภะ ขี้หลงขี้ลืมคือโมหะ ขี้เหนียวคือมัจฉริยะ ขี้สงสัยคือวิจิกิจฉา ขี้อิจฉาคืออิสสา ขี้เกียจคืออารสะ ขยะที่อยู่ในสมองแยกเถอะ ขยะภายนอกเราแยกแล้ว ได้เงินได้สวรรค์ แต่ขยะสมองแยกแล้วเราได้ชีวิต เพราะงั้นถ้าอยากทันสมัยต้องแยกขยะ” 


เมื่อเรานำเรื่องขยะมาประยุกต์กับธรรมะ เราจะมองเห็นประโยชน์ และคุณค่าที่จะทำให้เรากล้าลงมือปฏิบัติ เพราะการดูแลสิ่งแวดล้อมที่เคยมองว่าเป็นหน้าที่ กลับกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อเฉกเช่นเดียวกับศาสนา และนั่นจะทำให้เราพร้อมลงมือทำได้อย่างไม่ต้องสงสัย


ที่มา

  • บทสัมภาษณ์ของพระมหาประนอม เจ้าอาวาสวัดจากแดง
  • หยุดทิ้งเถอะ! สัตว์ไม่รู้ว่าพลาสติก “กินไม่ได้”. https://news.thaipbs.or.th

เรื่องโดย

ภาพโดย