Kind Sustain

เปลี่ยนภาพจำน่าน จากภูเขาหัวโล้นเป็นพื้นที่สีเขียว ด้วยสองมือคนน้ำพาง


หากเอ่ยถึง จังหวัดน่าน นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันเงียบสงบ วัดวาอารามต่าง ๆ และความเนิบนาบอย่างวิถีสโลว์ไลฟ์แล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาคู่กับจังหวัดน่านมากว่าครึ่งศตวรรษคือการบุกรุกป่าของคนในพื้นที่


พลิกฟื้นคืนผืนป่าด้วยโครงการน้ำพางโมเดล

ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้บนภูเขาน้อยใหญ่จังหวัดน่านเคยมีให้เห็นอย่างหนาตาเมื่อ 50-60 ปีก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไปภาพเหล่านี้กลับถูกแทนที่ด้วยภูเขาหัวโล้นที่เกิดจากการบุกรุกเผาป่าเพื่อนำพื้นที่ป่ามาทำเกษตร ทั้งไร่ นา สวน ทำให้จำนวนป่าไม้ในจังหวัดน่านลดลงไปอย่างมาก ภูเขาหัวโล้นจึงกลายเป็นภาพจำจากคนภายนอกที่มองเข้าไปยังจังหวัดน่าน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต่างมีความพยายามในการเข้ามาฟื้นฟูทรัพยากรให้สมบูรณ์ขึ้น โดยจุดเริ่มต้นของ “โครงการน้ำพางโมเดล” เกิดขึ้นเมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2558 จากการรวมกลุ่มกันของคนในชุมชน ทั้งผู้นำท้องถิ่น วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร โรงเรียนบ้านน้ำพาง และองค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่ต้องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน พลิกฟื้นคืนผืนป่า โดยวางเป้าหมายเป็นระยะเวลา 5 ปี ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดไม่น้อยว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งหมด


สำหรับตำบลน้ำพาง มีพื้นที่ 271,408 ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง และมีภูเขาล้อมรอบ คาบเกี่ยวกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา 58,485 ไร่ และพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่จริม 170,215 ไร่

โดยหัวใจหลักของโครงการน้ำพางโมเดล ได้แก่ “มีกิน” คือเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร ปลูกพืชที่กินได้ ขายได้ “มีใช้” คือเพิ่มรายได้พัฒนาเศรษฐกิจให้มั่นคงในระยาว “มีสิ่งแวดล้อมที่ดี” คือเพิ่มพื้นที่สีเขียวและมีระบบนิเวศที่ดี และ “มีกฎหมายและนโยบายที่เป็นธรรม” ให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม ภูมินิเวศและรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร


5 ปีของความสำเร็จสู่ต้นแบบการจัดการป่าไม้และที่ดินอย่างยั่งยืน


เป็นเวลากว่า 5 ปี ที่โครงการน้ำพางโมเดล ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน ได้เปลี่ยนวิธีการทำเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่เป็นการทำการเกษตรที่ได้ประโยชน์ทั้งชุมชน และสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

จากผลสำรวจล่าสุดในปี พ.ศ. 2563 พบว่า พื้นที่ป่าถูกฟื้นฟูแล้วจำนวน 2,767 ไร่ ปลูกต้นไม้ 108,465 ต้น ไม้ผล 27 ชนิด และไม้ป่า 11 ชนิด โดยตั้งเป้าปี พ.ศ. 2565 จะสามารถฟื้นฟูพื้นที่รวม 4,253 ไร่ ไม้ป่าเพิ่มขึ้น 42,530 ต้น ไม้ยืนต้นเพิ่ม 106,325 ต้น รวม 148,885 ต้น

เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดินตามแนวทาง “น้ำพางโมเดล” ในวาระครบ 5 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาภูเขาหัวโล้นสู่ระบบการเกษตรเชิงนิเวศ ตำบลน้ำพาง จำนวน 10 หมู่บ้าน พื้นที่ 4,253 ไร่ โดยตั้งเป้าให้ “บ้านน้ำพาง” เป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการขับเคลื่อนทางนโยบายเพื่อการจัดการป่าไม้และที่ดินอย่างธรรม


ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านในตำบลน้ำพางแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเปลี่ยนภูเขาหัวโล้นให้เป็นระบบเกษตรเชิงนิเวศได้ โดยปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตทางการเกษตรรูปแบบน้ำพางโมเดล ที่ไม่ทำลายสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จนสามารถทำให้น้ำพางโมเดลเป็นหนึ่งในโมเดลตัวอย่างสำคัญให้กับอีกหลาย ๆ พื้นที่ได้

นอกจากนี้ ชาวบ้านในพื้นที่สามารถสะท้อนปัญหา หรือสิ่งที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลนำไปหาวิธีขจัดปัญหาเหล่านั่นได้อย่างตรงจุด ขณะที่ด้านกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศต่อยอดนโยบายรัฐบาล แก้ไขปัญหาที่ยังคงค้างคาในหลายพื้นที่ เช่น เรื่องที่ทำกิน และปัญหาปากท้องของประชาชน ให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ มีที่ดินทำกินอย่างถูกต้องเหมาะสม และไม่เกิดปัญหาการบุกรุกป่าให้ได้ผลสำเร็จโดยเร็ว

Photo Credit: สำนักข่าวไทย อสมท.


อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการพลิกผืนดินเสื่อมโทรมบนภูเขาหัวโล้นให้กลับมาเป็นแผ่นดินเขียวขจีอีกครั้ง แต่ด้วยการเปิดรับแนวคิดเพื่อความยั่งยืนและการทำงานร่วมกันระหว่างคนในชุมชนกับภาคส่วนต่าง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้ หากภูเขาหัวโล้นของจังหวัดน่านจะถูกเติมเต็มด้วยต้นไม้สีเขียวอีกครั้ง


อ้างอิง


เรื่องโดย